ในกระแสดรามาฝุ่นพิษ PM2.5 เรามีการถกเถียงกันตั้งแต่เรื่องว่าฝุ่นมาจากไหน บ้างก็โทษควันปิ้งย่าง ฝุ่นจากการก่อสร้าง หรือโยนความผิดไปให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงแหล่งกำเนิด PM2.5 ทุกแหล่งโดยไม่เลือกปฏิบัติและวางมาตรการระยะสั้นระยะยาวและกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันและจัดการมลพิษทางอากาศอย่างชาญฉลาดให้สมกับยุค Thailand 4.0
ในขณะที่หน่วยงานรัฐยังตั้งตัวไม่ติดและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาถูกหยิบยกขึ้นมาหลังจากวิกฤตฝุ่นผ่านไปหลายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
แต่คำถามที่อาจผุดขึ้นมาในใจของใครบางคน อาจจะเป็นแบบนี้
“ตั้งแต่ปีใหม่มา คนกรุงเทพฯ อยู่ใต้เงามลพิษฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานของไทยมาแล้วกี่วัน? แล้วถ้าเป็นข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(WHO)ล่ะ?”
เราสามารถหาคำตอบได้จากข้อมูลย้อนหลังจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 10 จุดของกรมควบคุมมลพิษซึ่งตรวจวัดค่าความเข้มข้นของ PM2.5 อย่างต่อเนื่องดังนี้
กราฟแสดงความเข้มข้นรายชั่วโมงของ PM2.5 ระหว่างวันที่ 1-27 มกราคม 2562
จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 10 จุดในเขตกรุงเทพมหานคร
(ที่มา : http://air4thai.pcd.go.th/webV2/history/)
เมื่อนำข้อมูลมาแสดงในตาราง เราต้องอึ้งกับผลที่ได้ ยิ่งถ้าเราใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกแล้วยิ่งจี๊ด
ตำแหน่งสถานีตรวจวัด |
จำนวนวันระหว่างวันที่ 1-29 มกราคม 2562 ที่ความเข้มข้นของ PM2.5 เกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) |
จำนวนวันระหว่างวันที่ 1-29 มกราคม 2562 ที่ความเข้มข้นของ PM2.5 เกินมาตรฐาน 24 ชั่วโมงตามคำแนะนำของ WHO (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) |
ริมถนนดินแดง เขตดินแดง | 17 วัน | 29 วัน |
ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี |
15 วัน |
28 วัน |
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง* |
18 วัน |
25 วัน |
ริมถนนพระรามสี่ เขตปทุมวัน | 15 วัน | 28 วัน |
แขวงพญาไท เขตพญาไท | 9 วัน | 26 วัน |
ริมถนนกาญจนาภิเษก บางขุนเทียน | 21 วัน | 29 วัน |
ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง | 17 วัน | 29 วัน |
แขวงบางนา เขตบางนา | 12 วัน | 24 วัน |
แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ | 11 วัน | 28 วัน |
แขวงดินแดง เขตดินแดง |
13 วัน |
27 วัน |
หมายเหตุ : * ไม่มีข้อมูล 3 วัน
ที่มาข้อมูล : http://aqmthai.com/public_report.php
โดยสรุป ระหว่างวันที่ 1-29 มกราคม 2562 คนกรุงเทพฯ อยู่ใต้เงามลพิษฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานของไทยตั้งแต่ 9-21 วัน และเกินมาตรฐาน 24 ชั่วโมงตามคำแนะนำของ WHO ตั้งแต่ 24-29 วัน
แต่ชีวิตคนไม่ได้เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในทางระบาดวิทยา ทุกลมหายใจที่เราสูดเอาอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด จะส่งผลเสียหายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว องค์การอนามัยโลกระบุว่า จริงๆ แล้ว เรายังไม่สามารถระบุถึงขีดจำกัดของความเข้มข้น(ของมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก)ที่โยงกับผลกระทบด้านสุขภาพของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.2548 จึงตั้งเป้าหมายให้ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้มากที่สุด (1)
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างนอกเหนือจากการป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษ หนทางหนึ่งก็คือ การผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลในทันทีโดยแยกออกจากดัชนีคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ
กรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศสามารถทำได้เลย เพราะมีการริเริ่มเรื่องนี้ที่เชียงใหม่ไปแล้ว
ที่มา : http://www.cmaqhi.org
หากกรุงเทพฯมีการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อคนกรุงเทพฯ ก็จะทำให้กรุงเทพฯเรามีระบบการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่ช่วยปกป้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (เด็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงอย่างน้อยร้อยละ 15-20
ร่วมทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ในอากาศสะอาด ขออากาศดีคืนมา ได้ที่ greenpeace.or.th/right-to-clean-air
หมายเหตุ
1. www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ambient-(outdoor)-air-quality-and-health

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่
มีส่วนร่วม