19 พฤศจิกายน 2567 เกาหลีใต้ – รายงานวิจัยฉบับใหม่โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออก เปิดโปงบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่กำลังเป็นตัวการก่อมลพิษพลาสติกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรวมศักยภาพในการผลิตพลาสติกพอลิเมอร์ขั้นต้นจากทั้งสามตลาดได้ในปริมาณสูงถึง 41.99 ล้านตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e) ถึง 99.93 เมกะตัน [1]
เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ครั้งที่ 5 (INC-5) จัดขึ้นในเมืองปูซาน แต่ยังคงมีกำลังการผลิตพลาสติกพอลิเมอร์อยู่ที่ 19.92 ล้านตัน ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่มีกำลังการผลิตพลาสติกพอลิเมอร์ที่ 13.04 ล้านตัน ส่วนไต้หวันก็มีกำลังการผลิต 9.02 ล้านตัน รวมกันประมาณ 11% ของกำลังการผลิตปิโตรเคมีต่อปีทั่วโลก จากการวิเคราะห์กำลังการผลิตพลาสติกพอลิเมอร์ ปรากฎว่าการผลิตพลาสติกในเกาหลีใต้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าของญี่ปุ่นและไต้หวันรวมกัน ทำให้เห็นถึงการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากประเทศเหล่านี้
แดเนียล รีด นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน กรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า “ข้อค้นพบสำคัญเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการผลิตพลาสติกใน เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงมาก หากยังไม่มีการดำเนินการเพื่อควบคุมการผลิตที่ล้นเกินในทันที เราจะเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตมลพิษพลาสติกในระดับโลกที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม”
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่ากำลังการผลิตพลาสติกใน ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ยังนำไปสู่ปัญหาการผลิตที่ล้นเกินกับตลาดปิโตรเคมีระดับโลก โดยบริษัท 10 อันดับที่มีกำลังการผลิตพลาสติกที่มากที่สุดจากตลาดทั้งสามแห่ง มีบริษัท 7 แห่งที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีเครือ Lotte Group และเครือ Formosa Plastics Group ของไต้หวัน ยังติดอันดับเป็นผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุด โดยประเมินว่าแต่ละแห่งผลิตพลาสติกประมาณ 10% ของปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมด
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบมากกว่า 99% ซึ่งทำให้การบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเรื่องท้าทาย และเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) การลดกำลังการผลิตและการปล่อยมลพิษในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานะของอุตสาหกรรมนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราไม่อาจบังคับการลดกำลังการผลิตลงได้หากไม่มีกรอบและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากพอ ในการเจรจาที่ปูซานมีตัวแทนจากรัฐบาลแต่ละประเทศมาร่วมกันเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลก กรีนพีซเรียกร้องให้การประชุมครั้งนี้เกิดข้อตกลงที่มุ่งมั่นและเข้มแข็งมากพอที่โลกจะลดการผลิตพลาสติกลงอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 และต้องยุติการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นารา คิม นักรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ เกาหลีใต้ กล่าวว่า “การพูดคุยเกี่ยวกับการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะเกิดขึ้นในปูซานจะเป็นการประชุมที่ทั่วโลกจับตามอง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก ทางออกคือการลดการผลิตพลาสติก และผู้นำโลกจะต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นและทำให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนทั่วโลก ชุมชนท้องถิ่น และระบบนิเวศโลก”
หมายเหตุ
[1] คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ( Carbon dioxide equivalent : CO₂e) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกก๊าซเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ ในหน่วยเดียวกัน โดยก๊าซเรือนกระจกแต่ละประเภทนั้น สัญลักษณ์ CO2e คือสัญลักษณ์ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
ดาวน์โหลดข้อค้นพบสำคัญในรายงาน East Asia Plastics and Petrochemical Production Database
สำหรับสื่อมวลชน ติดต่อ
Emma Kim, Communications Officer, Greenpeace South Korea
[email protected] | +82-10-8967-1909
Angelica Carballo Pago, Global Plastics Media Lead, Greenpeace USA [email protected], +63 917 112 4492