กรุงเทพฯ, 24 พฤษภาคม 2568 — ก่อนการประชุมคู่ขนานของภาคประชาสังคม (ASEAN Peoples’ Forum) ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “รวมทุกกลุ่มคนและความยั่งยืน(Inclusivity and Sustainability) กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และภาคีเครือข่ายในภูมิภาค ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนเร่งผลักดัน “กรอบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน” (ASEAN Environmental Rights Framework – AER Framework) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อรับมือกับวิกฤตมลพิษข้ามพรมแดนและความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ 

กรณีตัวอย่างที่ตอกย้ำความล้มเหลวของความร่วมมือระดับภูมิภาค ได้แก่ เหมืองแรร์เอิร์ธในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างชายแดนไทยเพียง 20 กิโลเมตร และห่างแม่น้ำกกแค่ 2–3 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจ และระบบนิเวศในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ พร้อมเสี่ยงขยายวงกว้างในลุ่มน้ำโขงและเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมระยะยาว ปัญหามลพิษนี้ไม่เพียงคุกคามสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม โดยเฉพาะต่อชนพื้นเมืองชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังในภูมิภาคนี้

ในขณะเดียวกัน อีกปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานคือฝุ่นพิษข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution) ที่เกิดจากการเผาป่าเพื่อทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ข้าวโพด อ้อย และปาล์มน้ำมัน ซึ่งสร้างวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ซ้ำซากในภาคเหนือ และภาคใต้ของไทยทุกปี กระทบสุขภาพประชาชนและภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้  กรีนพีซ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมพูดในเวทีคู่ขนานของภาคประชาสังคม (ASEAN Peoples’ Forum) กล่าวว่า

“วันนี้อาเซียนไม่สามารถเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษข้ามพรมแดนได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นพิษจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน หรือน้ำปนเปื้อนสารเคมีจากเหมืองในรัฐฉานที่ไหลลงแม่น้ำกกในไทย เราเห็นชัดว่า เส้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์ไม่อาจหยุดยั้งมลพิษที่ส่งตรงถึงปอดและแหล่งน้ำของผู้คน ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องยึดหลัก ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ ในการกำหนดภาระรับผิตของการประกอบธุรกิจและผลกระทบข้ามพรมแดน เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคของเรา”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า

“ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การเสริมสร้างระบบที่โปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษและสารพิษ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงเป็น

กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายที่ยึดหลักความยุติธรรมและยั่งยืน ความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านสิ่งแวดล้อมควรคำนึงถึงผลกระทบที่แท้จริงต่อชีวิตผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่แนวหน้าในการรับความเสี่ยง”

สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายระดับภูมิภาคต่อผู้นำอาเซียน

  1. ส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนของธุรกิจในภูมิภาค
    กระชับและตรวจสอบความร่วมมือธุรกิจข้ามแดนอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมผลกระทบต่อเสถียรภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจในอาเซียน โดยคำนึงถึงสวัสดิการสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมกำหนดภาระรับผิดชอบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
  2. เสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน
    กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (TEIA) สำหรับโครงการที่ส่งผลกระทบข้ามชาติ พร้อมให้อำนาจตามกฎหมายแก่รัฐที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว
  3. เพิ่มการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสของประชาชน
    กำหนดหลักการ ASEAN Protocol on the Right to Know เพื่อคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วม และความยุติธรรม พร้อมผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) และบังคับใช้หลักการตรวจสอบความรอบคอบด้านสิทธิมนุษยชน (HRDD) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและความรับผิดชอบของอุตสาหกรรม
  4. รักษาสันติภาพและส่งเสริมความหลากหลายทางสังคมอย่างยั่งยืน
    ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง และกลุ่มผู้เปราะบาง รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในฐานะแนวหน้าผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมและรักษาความมั่นคงทางสังคมในภูมิภาค
  5. ปรับปรุงกรอบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย
    จัดตั้ง ASEAN Environmental Rights (AER) ที่เป็นกรอบกฎหมายผูกพันสมาชิก เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง สามารถบังคับใช้ได้ และแก้ไขปัญหาสารพิษข้ามพรมแดนที่เป็นอันตราย เช่น กรณีเหมืองแรร์เอิร์ธในเมียนมา พร้อมปรับ ASEAN-China Environmental Cooperation Strategy ให้มีมาตรการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น ภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ ยังเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียน รวมถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2025 ดำเนินการผลักดันกรอบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน (ASEAN Environmental Rights Framework) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อรับมือกับปัญหามลพิษข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง โดยกรอบดังกล่าวควร สร้างกลไกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ข้ามพรมแดนและตรวจสอบภาคธุรกิจอย่างเข้มงวด ส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านหลักการ ASEAN Protocol on the Right to Know ยกระดับการปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในฐานะแนวหน้าผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ นักสื่อสารงานรณรงค์ กรีนพีซ ประเทศไทย 

โทร.081 929 5747 อีเมล[email protected]