กระบี่, 13 มิถุนายน 2561- กระบี่สามารถเป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและบรรลุเป้าหมายระบบพลังงาน หมุนเวียน 100% ได้ภายในปี 2569 รายงานที่ทำขึ้นโดยเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าวิสัยทัศน์นี้ทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยระบบพลังงานแบบผสมผสานจากชีวมวล แก๊สชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม และพลังงานน้ำขนาดเล็กที่จัดการโดยระบบสายส่งอัจฉริยะ (smart grid) นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งในพื้นที่และระดับประเทศทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง

รายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย แสดงผลการศึกษาการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2561-2580) พบว่าจังหวัดกระบี่มีศักยภาพกำลังผลิตติดตั้งได้สูงสุดรวม 1,676 เมกะวัตต์ และปี พ.ศ. 2564 จะเป็นปีแรกที่ในบางช่วงเวลา (อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน) ที่จังหวัดกระบี่สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน 100% จะสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2569 หากมีการสนับสนุนในเชิงนโยบายและกฏหมายพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนาสายส่งและระบบโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

“ศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ของกระบี่จะไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อชุมชนและจังหวัดเท่านั้น แต่จะส่งผลดีในระดับประเทศด้วย นอกจากนี้กระบี่ยังสามารถเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย” นายสมนึก กรดเสือ ตัวแทนจากกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย จังหวัดกระบี่กล่าว “การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และปกป้องอนาคตให้รุ่นลูกหลาน”“ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ที่กระบี่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ลดภาระการนำเข้า และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต มีการจ้างงานมากขึ้น รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังต้องการนโยบายสาธารณะที่เข้มแข็งที่จะสามารถ

1. กำหนดให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจ่ายเข้าระบบสายส่งได้ก่อนไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่

2. กลไกการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทที่ชัดเจนและเป็นระบบ ซึ่งเป็นราคาที่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ ในการสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

3. ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าคำนึงถึงหลักการระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

4. บริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งในมิติของความมั่นคง และมิติประสิทธิภาพ

“รายงาน Krabi Goes Green เป็นแผนงานที่มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอความเป็นธรรมด้านพลังงาน สนับสนุนการจัดการด้านพลังงานที่ดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน และบอกให้รู้ถึงการลด ละ เลิกพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “พลังงานหมุนเวียนช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน การก้าวข้ามยุคถ่านหินจะเกิดขึ้นเร็วขึ้นถ้าหลาย ๆ จังหวัดริเริ่มวางแผนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งการวางแผนด้านการลงทุน และการทำพลังงานหมุนเวียนในชุมชน”
รายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานเกินร้อย ถูกเผยแพร่ในวันนี้ ที่งานเสวนาบนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเดินทางมารณรงค์ในประเทศไทยภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงสร้างความรู้และทักษะให้แก่ชุมชน

หมายเหตุ

  1. รายงาน Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบพลังงานหมุนเวียนเกินร้อย
  2. รายงานถูกจัดทำขึ้นโดยรศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์, อกณิฐ กวางแก้ว สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, อธิราษฎร์ ดำดี คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ, สมนึก กรดเสือ กลุ่มพิทักษ์ปกาศัย จังหวัดกระบี่, กิตติชัย เอ่งฉ้วน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่, ขวัญกนก กษิรวัฒน์ เครือข่าย Krabi Goes Green, อมฤต ศิริพรจุฑากุล สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่, ฐิติเวทยา ใหญ่กระโทก มูลนิธินโยบายสุขภาวะ