ในฐานะที่กรีนพีซ ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่า ไม่มี “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” หากไร้ซึ่ง “ความเป็นธรรมทางสังคม” เรายึดถือในหลักการประชาธิปไตยที่ดี (Healthy Democracy) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิทางการเมืองของประชาชนเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา อาหาร ความเป็นธรรม หรือการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ (Healthy Environment) 

เราเห็นว่า ประชาธิปไตยที่ดีนั้นเป็นทั้งหลักการและเป้าหมายสำคัญ ซึ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกจากวิกฤตนานับประการ และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สังคมไทยเผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่น การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ที่ส่งผลให้ชุมชนคัดค้านโครงการขยะ รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะหลายแห่งทั่วประเทศ/โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม พรบ.โรงงานฉบับใหม่ที่เอื้อทุนซ้ำเติมวิกฤตฝุ่น PM2.5 ทำให้โรงงาน 6 หมื่นแห่งไม่ถูกจัดเป็นโรงงาน พรบ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งภาคประชาชนชี้ให้เห็นว่าผังเมืองอีอีซีนั้นเอื้อประโยชน์กับกลุ่มคน 1% เบียดขับประชาชนออกจากที่ดิน ทำลายระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของภาคตะวันออกและทั้งประเทศ ทำลายวิถีชีวิต/เศรษฐกิจของชุมชนและสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ตลอดจนกระบวนการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ จะนะ สงขลา ที่ไม่ชอบธรรม เป็นต้น โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สวนทางกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยสิ้นเชิง

กรีนพีซ ประเทศไทยมีจุดยืนต่อสถานการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในสังคมไทยที่เป็นธรรม ยั่งยืนและเป็นประชาธิปไตย ดังนี้

  • ยุติการคุกคาม เฝ้าติดตาม สอดแนม และการฟ้องคดีเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาชนและนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมโดยทันที  
  • บรรทัดฐานของการจัดการความขัดแย้งในเรื่องใดก็ตาม ต้องยึดมั่นในหลักสันติวิธี เพื่อลดทอนอคติและไม่สร้างความเกลียดชังให้คนที่เห็นต่างกลายเป็นคนอื่น ทั้งต้องเคารพความหลากหลายทางความคิดเห็นและความแตกต่างของผู้คนในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมและยั่งยืน อันเป็นพื้นฐานภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งรองรับสิทธิพลเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน สิทธิในการเลือกวิถีชีวิตของตนเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมรวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการรวมกลุ่มและสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสรี
  • ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมโดยตรงอย่างแท้จริงของประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องทบทวนและยกเลิกกรอบกฎหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่รวมศูนย์และย้อนแย้ง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น ซึ่งเป็นมรดกสมัย คสช. ที่ไม่ตอบโจทย์อนาคต แต่กลับผูกมัดสังคมไทยไว้กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น

กรีนพีซเคารพความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คนทั้งภายในและภายนอกองค์กร  เราเคารพความแตกต่างทางความคิด และสนับสนุนให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่ปลอดภัย เปิดเผย ตรงไปตรงมา รวมถึงการเปิดกว้างในการรับฟังความคิดที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของสังคมไทยให้มีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่อยู่บนรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของประชาชน

คืนอากาศดีให้คนไทย

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย

มีส่วนร่วม