อนาคตที่น่าอยู่และยั่งยืนไม่อาจบรรลุได้หากไร้ซึ่งการรับรองสิทธิอันชอบธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง
ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกคือผู้ดูแล ปกป้องและคุ้มครองพื้นที่ทางธรรมชาติมากกว่า1 ใน 3 ของพื้นที่ธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลก แม้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองรวมกันจะมีประชากรน้อยกว่าร้อยละ 5 ของประชากรโลก และต้องเผชิญกับผลพวงจากการกดขี่ รุกรานและกวาดต้อนออกจากผืนแผ่นดินตลอดห้วงเวลาอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทยมีกลุ่มที่นิยามตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 40 กลุ่มชาติพันธุ์ คิดเป็นประชากรเกือบ 1 ใน 20 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ
กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระและเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมในประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่า การเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (indigenous rights) และการฟื้นฟูสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง (self-determination) คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติรวมถึงนิเวศบริการโดยรวมต่อสังคมไทย
กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่าโลกธรรมชาติคือรากฐานของวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง และสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง การจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้นมีลักษณะเฉพาะบนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและองค์ความรู้ดั้งเดิมทางภูมินิเวศวิทยาที่ลึกซึ้ง
กรีนพีซ ประเทศไทย ตระหนักว่าโครงสร้างอำนาจที่ครอบงำซึ่งนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือโครงสร้างอำนาจเดียวกันที่กดขี่ รุกรานสิทธิและลดทอนวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง
กรีนพีซ ประเทศไทยสนับสนุนปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งรวมถึงสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง การมีเสรีภาพ สันติภาพและความมั่นคงในฐานะปัจเจกบุคคล และในฐานะกลุ่มชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย และสิทธิในการได้รับความยินยอมโดยสมัครใจโดยได้ข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent – FPIC) ของการตัดสินใจใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงโครงการใด ๆ ที่จะดำเนินการในพื้นที่ของชนพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจ การพัฒนา การใช้ประโยชน์หรือการแสวงหาประโยชน์จากแหล่งแร่ ป่าไม้ ประมง ทะเลหรือทรัพยากรอื่น ๆ ชนเผ่าพื้นเมืองจะไม่ต้องถูกกวาดต้อนออกจากดินแดนหรือพื้นที่ดั้งเดิมของตน
กรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ ;
- การที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีและร่วมรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 จึงเป็นพันธกิจของรัฐบาลที่จะต้องให้การส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพรและพันธุ์พืช พื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทํามาหากินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง โดยผ่านร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- กำหนดแนวทางปฏิบัติและสนับสนุนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนสิทธิร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง (Common Property) เพื่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economics, Social and Cultural Rights : CESCR)
- ดำเนินการภายใต้หลักคิดสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้การกำหนดแนวเขตป่าไม้ ที่ดินที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศเกษตรและไร่หมุนเวียน และเขตหากินในทะเล (ในฐานะเป็นส่วนหน่ึงของภูมิทัศน์ทางนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมท่ีมีบทบาทหน้าที่หลากหลายและบูรณาการ) เป็นสิทธิอันชอบธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตกลงกันเองโดยไม่ยึดติดกับแนวเขตป่าไม้หรือเขตอนุรักษ์ทางทะเลเดิมท่ีประกาศในกฎหมายแต่เพียงด้านเดียว และปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าท่ีของรัฐจะต้องไม่เหยียดหยามต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข่มขู่ คุกคาม ใช้กำลังบังคับหรือปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
- ยุติมาตรการและแนวทางของรัฐที่เป็นการคุกคามและริดรอนสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง เช่น การจับกุมดำเนินคดีสมาชิกของชุมชนที่อยู่ อาศัยและทำกินในพื้นท่ีเดิม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของรัฐท่ีอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นท่ีอาศัยและทำกินในพื้นที่ การดำเนินโครงการหรือมาตรการใด ๆ ควรเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินจากชุมชนด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภายใต้รูปแบบการผลิตท่ีสอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยาและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและการทำกินที่มั่นคงแก่ชุมชน
- รับรองว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลล่วงหน้า และมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ (free, prior, and informed consent – FPIC) ของการตัดสินใจต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและโครงการใด ๆ ที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงการเสนอพื้นที่ให้เป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสำรวจ การพัฒนา การใช้ประโยชน์หรือการแสวงหาประโยชน์จากแหล่งแร่ ป่าไม้ ประมง ทะเลหรือทรัพยากรอื่นๆ โดยสิทธินี้ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศท่ีประเทศไทยเข้าเป็นภาคี
หมายเหตุ :“ชนเผ่าพื้นเมือง” ตามร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …(ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันโดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่และพึ่งพาผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่นั้น ๆ มิได้เป็นกลุ่มครอบงําทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม และพิจารณาตนเองว่ามีความแตกต่างไปจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนา และสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ระบบภูมิปัญญาสู่คนรุ่นอนาคต อันเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม สถาบันทางสังคม และระบบนิติธรรมของตน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่รักษาสันติภาพ วัฒนธรรมอันเป็นแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณี ยิ่งกว่านั้น ยังระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่น ๆ