14 มิถุนายน 2566 – โครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเกษตรอย่างน้อย 32 แห่งถูกน้ำท่วม จากการที่รัสเซียทำลายเขื่อนคาคอฟกา (Kakhovka) ในยูเครน

การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้เขื่อนคาคอฟกาพังทลายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 อาจเป็นเหตุให้มีการรั่วไหลของสารเคมี ก๊าซ น้ำมัน และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในบ้านเรือน ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคพาณิชยกรรมในเขตพื้นที่น้ำท่วม การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมโดยกรีนพีซแสดงให้เห็นว่ามีน้ำท่วมขังในโรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโกดังหลายแห่ง และยังไม่นับรวมกับการรั่วไหลของน้ำมันเครื่องยนต์อย่างน้อย 150 ตันที่มีรายงานในช่วงวันแรก ๆ ของภัยพิบัติเขื่อนพัง

แม้จะมีสารเคมีดังกล่าวเพียงปริมาณเล็กน้อย ก็เพียงพอที่จะปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ ประชาชนจำนวนมากต้องอยู่โดยปราศจากน้ำสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีน้ำท่วมในพื้นที่อุตสาหกรรมก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่สารพิษจะถูกพัดพาไปกับสายน้ำ และปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดมลพิษในทะเลดำและพื้นที่ชายฝั่ง

สิ่งมีชีวิตในเขื่อนคาคอฟกา และแม่น้ำนีเปอร์ (Dnipro River) จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากมลพิษพื้นที่ชายฝั่งและบนบก รวมถึงเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์ทั่วไป 

“เมื่อปริมาณน้ำลดระดับลง คาดว่าจะมีการปนเปื้อนของสารไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมัน (mineral oil hydrocarcon) และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbons) ในปริมาณมาก ซึ่งต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ประชาชนควรหยุดใช้ดินและแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร หากยังไม่ได้มีการตรวจสอบการปนเปื้อน และหากจำเป็นต้องใช้ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี” Manfred Santen นักเคมีจากกรีนพีซ เยอรมนีกล่าว

ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ถึงคำเตือนของกรีนพีซยุโรปกลางและตะวันออก ในเรื่องความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่จากการทำลายเขื่อนคาคอฟกาของยูเครน ที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย กรีนพีซยังติดตามสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย (Zaporizhzhia) เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลงอาจนำไปสู่การพังทลายของอ่างกักเก็บน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์


ระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากในอ่างเก็บน้ำเขื่อนคาคอฟกาคือความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย

9 มิถุนายน 2566 ฮัมบูร์ก/เคียฟ – การพังทลายของเขื่อนคาคอฟกาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย (Zaporizhzhia) อย่างมีนัยสำคัญ การลดลงอย่างมากของระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนคาคอฟกา อาจนำไปสู่การพังทลายของอ่างเก็บน้ำที่ใช้เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และกากกัมมันตรังสีระดับสูง 

การยึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยกองกำลังรัสเซียส่งผลต่อความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และการรับมือเหตุฉุกเฉิน หากเกิดวิกฤตขึ้นหลังจากอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งอุบัติเหตุ เนื่องจากแรงดันน้ำที่เพิ่มขึ้น หรือการก่อวินาศกรรมของกองทัพรัสเซีย การยึดครองของรัสเซียจำเป็นต้องยุติลง และการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยยูเครนทันที

ข้อกังวลหลักของกรีนพีซ ยุโรปกลางและตะวันออก คือ

อ่างเก็บน้ำหล่อเย็นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลและอาจพังทลาย หากระดับน้ำในเขื่อนคาคอฟกาลดลงอย่างมาก ทางการยูเครนระบุว่าพวกเขาคาดว่าระดับน้ำจะลดลงจาก 17.4 เมตรก่อนที่เขื่อนคาคอฟกาถูกทำลาย เหลือเพียง 3 เมตรภายในสัปดาห์นี้ ระดับน้ำที่ลดลงนี้จะเพิ่มแรงดันน้ำบนผนังคันกั้นน้ำของอ่างเก็บน้ำหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ด้านนิวเคลียร์ของยูเครนและ Energoatom เจ้าของโรงไฟฟ้า วางแผนการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง แต่แผนการดังกล่าวอาจเป็นไปไม่ได้ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย การพังทลายของคันกันอ่างเก็บน้ำหล่อเย็นจะทำให้การจัดหาน้ำหล่อเย็นที่จำเป็นสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 6 เครื่องและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว  แม้ว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์  5 เครื่องจะถูกปิดด้วยระบบความเย็น แต่อีกหนึ่งเครื่องถูกปิดลงในขณะที่ยังมีความร้อน ความร้อนที่เหลืออยู่ของเชื้อเพลิงที่มีระดับรังสีสูงนั้นต้องมีการระบายความร้อนอย่างต่อเนื่อง

การยึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซียของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กองกำลังทหารและ Rosatom ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย เข้าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านนิวเคลียร์ของยูเครนซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัยได้ในสถานการณ์ดังกล่าว 

“ก่อนหน้านี้ ความคิดที่ว่าเขื่อนคาคอฟกาจะถูกทำลายและน้ำจะท่วมเมืองเคอร์ซอน (Kherson) ทางตอนใต้ของยูเครน และไหลลงสู่ทะเลดำนั้นจะเป็นเพียงความกังวล  แต่การกระทำโดยเจตนาของรัสเซียในตอนนี้ กลายเป็นความจริงที่น่าเศร้าสำหรับชาวยูเครน ความเป็นไปได้ที่กองกำลังรัสเซียจะดำเนินการอย่างสุดโต่งต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย มีความพยายามส่งข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลรัสเซียรวมถึงองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ  (IAEA)เพื่อมิให้มีการทำลายอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในระบบหล่อเย็นและระบายความร้อนหรือส่วนอื่นใดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การกระทำของของทัพรัสเซียและโรซาตอมถือเป็นภัยคุกคาม พวกเขาจะต้องถอยห่างออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทันที” Jan Vande Putte ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของกรีนพีซ กล่าว

บทวิเคราะห์ของกรีนพีซเยอรมนีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 เตือนถึงภัยคุกคามทางทหารของรัสเซียต่อความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซาโปริเซียซึ่งรวมถึงระบบหล่อเย็นและความเสี่ยงจากน้ำท่วมและความเสียหายต่อเขื่อนคาคอฟกา [1] กองทัพรัสเซียและโรซาตอมได้เข้ายึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 

หมายเหตุ

[1] “ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในช่วงความขัดแย้งทางทหาร บทเรียนจากฟุกุชิมะ ไดอิจิ กรณีศึกษา ซาโปริเซีย, ยูเครน”, 2 มีนาคม 2565,