อัมสเตอร์ดัม/โคเปนเฮเกน, 9 ตุลาคม 2567 – รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ นอร์ดิกวิเคราะห์การปล่อยก๊าซมีเทนจากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 29 แห่ง เทียบเคียงได้กับการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมฟอสซิล 100 อันดับแรกของโลก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตอาหารและการบริโภคในประเทศที่มีรายได้สูง และรายได้ปานกลางอาจทำให้ลดอุณหภูมิของโลกได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2593 ซึ่งสามารถเห็นผลบางส่วนได้ตั้งแต่ปี 2573 ในทางกลับกันหากไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทน คาดว่าเพียงก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเพียงภาคการผลิตเดียวจะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 0.32 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593[1] การคาดการณ์นี้อ้างอิงตามฉากทัศน์เส้นทางธุรกิจตามปกติในด้านอาหารและเกษตรกรรมไปจนถึงปี 2593[2]ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO)
รายงาน “ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม” แสดงให้เห็นว่าเราสามารถชะลอภาวะโลกเดือดได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงอายุขัยของเราด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดยลดการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม และเพิ่มการผลิตอาหารจากพืชให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการรับประทานอาหารของ EAT-Lancet Planetary Health ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและส่งเสริมสุขภาพทั้งของมนุษย์และโลก[3]
รายงานของกรีนพีซ นอร์ดิก คาดการณ์ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปริมาณกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม อุณหภูมิโลกสามารถลดลงได้ 0.12 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 การลดการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมลงจะช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงได้ร้อยละ 37 แต่หากยังคงปริมาณการผลิตดังเดิม คาดการณ์ว่าแค่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมแค่ภาคส่วนเดียว จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.32 องศา การวิเคราะห์นี้อิงจากการผลิตและการบริโภคตามปกติ แม้เพียงการลดอุณหภูมิลงเล็กน้อยก็สามารถช่วยลดผลกระทบที่เป็นอันตรายได้อย่างมาก เช่น การป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทุก ๆ 0.3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ อาจช่วยให้ประชาชนประมาณ 410 ล้านคนไม่ต้องเผชิญกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นได้[4]
เชฟาลี ชาร์มา นักรณรงค์ด้านเกษตรกรรม อาวุโสของกรีนพีซ นอร์ดิก กล่าวว่า
“นี่คือผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีหวัง ที่ผ่านมาเราเลี่ยงการลดการผลิตของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมมาตลอด แต่เราได้เห็นแล้วว่าบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ราวกับว่าพวกเขาได้รับการยกเว้นจากการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นซึ่งทุกคนบนโลกต้องการ ทำไมเกษตรกรและผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้ที่ปรับเปลี่ยนเสมอ ในขณะที่บริษัทอุตสาหกรรมเหล่านี้กลับเป็นผู้กำหนดว่าเกษตรกรต้องปลูกอะไร ค่าจ้างเท่าไหร่และเราจะบริโภคอะไรกันบ้าง รายงานนี้ย้ำชัดว่าถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยน”
ก่อนการประชุม COP29 นักเคลื่อนไหวทั่วโลกได้ประท้วงต่อต้านอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม โดยมุ่งเป้าไปที่บริษัทอุตสาหกรรมระดับโลก เช่น Fonterra, Arla, Müller และ Danish Crown เพื่อเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ผลิตภัณฑ์นม และอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านี้เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทน[5] ซึ่งมักจะปกปิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ฟอกเขียวแผนต่อกรโลกเดือด และให้คำมั่นสัญญาที่ไม่จริงจัง ในขณะที่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าว ว่า
“ก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในผลกระทบที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ไม่อยากบอกให้เรารู้ ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราอย่างมหาศาลอันเป็นผลพวงจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เช่น การสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และความรุนแรงขึ้นของอุทกภัยอันเป็นผลมาจากป่าไม้ที่ลดลงและวิกฤตโลกร้อนที่สาหัสขึ้น ปัจจุบันนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับสามของโลก ในขณะที่ถูกจัดให้มี “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ” สูงเป็นอันดับ 9 เช่นกัน และปีนี้เราเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนจากวิกฤตโลกเดือด รัฐบาลจำเป็นจะต้องทบทวนนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อร่วมมือกับนานาประเทศในการลดวิกฤตโลกเดือดตั้งแต่ต้นทาง”
“รัฐบาลต้องผลักดัน สนับสนุนการลงทุน และมาตรการที่นำเราไปสู่เส้นทางการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ เส้นทางที่จะช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร โดยการลดการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเกินจำเป็น รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรและแรงงานในการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม และมอบโอกาสให้เราทุกคนสามารถจำกัดภาวะโลกเดือด ซึ่งสามารถทำให้เราช่วยชีวิตและการดำรงชีพของผู้คนได้หลายล้านคน” เชฟาลี ชาร์มา กล่าวเสริม
นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันว่าก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ให้พลังงานความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 80 เท่าในระยะเวลา 20 ปี เราจำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะระบุว่าการทำปศุสัตว์เป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซมีเทนที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่ข้อปฏิญญาว่าด้วยการลดปล่อยก๊าซมีเทนระดับโลก (the Global Methane Pledge (GMP)) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกจากการประชุม COP 26 ในปี 2564 กลับมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม[6][7]
หมายเหตุ
[1] รายงาน “ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม”, บทสรุปรายงาน,เอกสารสรุปสำหรับสื่อมวลชน, และตารางแสดงการปล่อยก๊าซของบริษัท
[2] ตามรายงานการวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 5 อันดับแรกที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด ได้แก่ JBS, Marfrig, Minerva, Cargill และ Dairy Farmers of America ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ ExxonMobil, Shell, Total Energies, Chevron และ BP รวมกัน (รูปภาพที่ 6)
ในรายงานพบว่า JBS ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อยู่ในอันดับที่ 5 หากจัดลำดับผู้ปล่อยก๊าซมีเทนรายใหญ่ร่วมกับแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล 100 อันดับแรก (ตารางที่ 1) และเป็นผู้ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ExxonMobil และ Shell รวมกัน
รายงานนี้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทผู้ปล่อยก๊าซมีเทนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 100 อันดับแรกจากฐานข้อมูล Carbon Majors ของ Influence Map (ปี 2567) หมายเหตุ: ข้อมูลการปล่อยมลพิษที่รายงานในฐานข้อมูล Carbon Majors ของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเกินกว่าที่บริษัทเหล่านั้นรายงานในเอกสารเผยแพร่ของตนเองมาก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากบริษัทน้ำมันไม่ได้รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขต 3 ไว้ในการรายงานตนเอง
[3] FAO (2561). อนาคตของอาหารและเกษตรกรรม – ทางเลือกอื่นจนถึงปี 2593. ฉบับสรุป. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ, โรม. 60 หน้า
[4] Willett W et al. (2562) อาหารในยุคแอนโธโปซีน: คณะกรรมาธิการ EAT–Lancet ว่าด้วยอาหารเพื่อสุขภาพจากระบบอาหารที่ยั่งยืน The Lancet ปี2562 ในอาหารเพื่อสุขภาพของโลก ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก ถั่ว และพืชตระกูลถั่วประกอบเป็นสัดส่วนที่มากกว่าของอาหารที่บริโภค เนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนสำคัญของอาหาร แต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่าธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก ถั่ว และพืชตระกูลถั่ว
[5] Lenton et al (2566). การวัดปริมาณต้นทุนของมนุษย์จากภาวะโลกร้อน Nature Sustainability 6, 1237–1247.
[6] ภาพถ่ายงานรณรงค์
[7] UNEP IMEO (2565). การจับตามองมีเทน: สังเกตการปล่อยก๊าซมีเทนระหว่างประเทศ ปี 2565. โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ไนโรบี รูปที่ 1 หน้า 8
[8] รัฐบาล 158 แห่งได้ลงนามในคำมั่นสัญญามีเทนระดับโลกเพื่อมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณมีเทนร่วมกันร้อยละ 30 ในทศวรรษนี้ ในขณะที่องค์การสหประชาชาติแนะนำว่าการปล่อยก๊าซมีเทนจากทุกภาคส่วนจะต้องลดลงร้อยละ 45 ภายในปี 2573
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร.081 929 5747 อีเมล [email protected]