18 พฤศจิกายน 2567 

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะในการต่อกรกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

จากที่กรมอาเซียน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศของเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) (พ.ศ. 2567 – 2573)  โดยเป็นความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา เปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้ป่า (fire risk map) การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพต่อประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้งสามประเทศ แม้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนได้จากต้นเหตุที่เป็นรูปธรรมที่สุดนั้นต้องมีกลไกในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตและภาระรับผิดของอุตสาหกรรม

กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่า รัฐบาลไทยที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม ตรงจุด และกล้าหาญ ตราบใดที่ต้องไม่ระบุถึงบทบาทและภาระรับผิดของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

การที่ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นและในแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนของจุดความร้อนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูก​ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ของกลุ่มบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมนั้นมีความโปร่งใสตรวจสอบได้และเปิดให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูลมากน้อยเพียงใด ข้อมูลจากผลการวิเคราะห์ภาพดาวเทียมปี 2564-2566 ของกรีนพีซ ประเทศไทย [1] มีข้อค้นพบหลักดังนี้

  • ระหว่างปี 2558-2566 ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11.8 ล้านไร่ (ตอนบนของ สปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 5.7 ล้านไร่ ตามมาด้วยรัฐฉาน(เมียนมา) 3.1 ล้านไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย 2.9 ล้านไร่)
  • ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41% หรือเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2558-2563 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 31%
  • พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี 2558 มีพื้นที่รวมกัน 13,015,940 ไร่  และในปี 2566 เพิ่มเป็น 18,095,317 ไร่

ปัจจุบันการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ของบริษัทจากไทยเพื่อสามารถลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ จากยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMEC) เมื่อปี 2546 และสามารถนำเข้ากลับมายังประเทศไทยด้วยภาษี 0% เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยภาคปศุสัตว์รายงานว่าไทยคว้าอันดับ 3 ของโลกส่งออกเนื้อไก่ในปี 2566 [2] ดังนั้นกลไกสำคัญในการต่อกรกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุจึงต้องมีมาตรการส่งเสริมและบังคับใช้การเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูลของบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจข้ามแดน นโยบายบังคับใช้การตรวจสอบย้อนกลับนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ไม่ละเลยภาระรับผิดต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ในการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใสอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กรีนพีซ ประเทศไทยมีข้อเสนอเชิงนโยบายดังต่อไปนี้

1.   กำหนดให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานในประเทศและข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ โดยที่สาธารณะและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งระบบนี้จะต้องสอดคล้องกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากฝุ่นควันข้ามแดนปี 2545 ที่รับรองถึงความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดให้มีกรอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมโดยรัฐบาลแต่ละประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เชื่อมโยงกับกฎหมายระดับภูมิภาคเพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการก่อมลพิษทางอากาศข้ามแดนโครงสร้างทางกฎหมายนี้จะเป็นกรอบให้บริษัทอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงยังส่งเสริมการร่วมมือที่เคร่งครัดขึ้นระหว่างสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ครอบคลุมทั้งในประเทศและพันธกรณีนอกอาณาเขตที่ส่งผลกระทบข้ามแดน รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูก​ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม

2.   กำหนดให้มีการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหากในห่วงโซ่อุปทานของตนเชื่อมโยงกับการก่อมลพิษทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและรวมถึงธุรกิจข้ามแดนที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและส่งผลกลับมายังประเทศไทย ซึ่งมาตรการเอาผิดผู้ก่อมลพิษนั้นไม่ควรจำกัดที่เกษตรกร หรือชุมชนผู้พึ่งพิงป่าผู้ใช้ไฟ แต่ควรเป็นการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต้นทางวัตถุดิบในพื้นที่แปลงเกษตรระดับอุตสาหกรรม เช่น บริษัทปลายทางผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษและการเผาเศษวัตถุดิบทางเกษตร ว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษตั้งแต่ต้นทาง

3.    กำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางวิถีชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิตจากฝุ่นพิษที่มีที่มาจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและธุรกิจข้ามแดน โดยบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษจำเป็นจะต้องเป็นผู้ชดใช้และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4. ลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นวงกว้าง  โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่

5. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ

ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อประชาชน คือ กลไกสำคัญที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือที่ต้นเหตุ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ดีในการแสดงความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ หรือปกป้องสิทธิของตนเองและคนในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างการสื่อสารที่ดีของบริษัทผ่านทางผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงความมั่นใจต่อการมีภาระรับผิดต่อกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสและนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นแล้วการระบุหาผู้ผิดภายใต้ฝุ่นพิษของรัฐบาลจะหนีไม่พ้นวังวนของการเอาผิดประชาชนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเกษตร ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ และผู้คนทั่วไปที่ทำเกษตรและอาศัยพึ่งพิงอยู่กับป่าว่าเป็นผู้ก่อฝุ่นพิษระดับภูมิภาค ขณะที่ละเลยอุตสาหกรรมผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง

ความกล้าหาญของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนที่เกี่ยวโยงกับบริษัทอุตสาหกรรมของไทย คือหัวใจสำคัญที่ยังขาดหายไปจากแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใส และนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นจากการแก้ไขปัญหาฝุ่นข้ามแดนที่คุกคามลมหายใจของเราอย่างเป็นรูปธรรม

หมายเหตุ :

 [1] การศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านรีโมทเซนซิงด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/AQUA ระบบ MODIS ข้อมูล vegetation indices(MOD13Q1) ความละเอียดเชิงพื้นที่ 250 เมตร ดาวน์โหลดรายงาน “ผลวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2564-2566 : ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ได้ที่นี่

[2] ไทยคว้าอันดับ 3 ส่งออกไก่ปี 66 แตะ 1 แสนล้าน จี้รัฐลดอุปสรรคหนุนการแข่งขัน. (10 กพ. 2024). กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1112493