เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์, 8 สิงหาคม 2562 — การปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า รวมถึงปรับเปลี่ยนระบบอาหารของโลกอย่างเร่งด่วนผ่านการบริโภค คือทางออกของการคืนความสมบูรณ์ของผืนดินและหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตามข้อมูลรายงานของสหประชาชาติ

รายงานจากคณะกรรมการ ระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC เผยว่า ตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในภาคพื้นดินได้เพิ่มสูงขึ้น 1.53 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่วัดจากทั้งผืนดิน อากาศและมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น 0.87 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ผืนดินกลายเป็นทะเลทราย และความอุดมสมบูรณ์ของดินถดถอย

ก่อนหน้าวันเปิดตัวรายงานนี้ นักกิจกรรมกรีนพีซ สวิตเซอร์แลนด์ได้ออกมารณรงค์ด้านหน้าสถานที่จัดประชุมของสหประชาชาติ พร้อมกับถือป้ายผ้าระบุว่า  ‘Less Meat = Less Heat. Climate Action NOW!’ หรือ ‘เนื้อสัตว์น้อยลง = ร้อนน้อยลง เร่งลงมือกู้สภาพภูมิอากาศ’

“การปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า ประกอบกับการปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่การบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงนั้น คือการช่วยกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ยังคงมีหวัง เพื่อทั้งสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ผืนดินและความหลากหลายทางชีวภาพกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันอันใหญ่หลวง ดังเช่นที่เราเห็นจากไฟป่าที่รุนแรงของไซบีเรีย เราจำเป็นต้องเลือกลงมือในทางเลือกที่แม้จะยาก เพราะเราไม่อาจใช้ผืนดินต่อไปหากสิ้นความสมบูรณ์ไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังใช้ผืนดินจนเกินขีดจำกัด” ดร. คริสตอฟ ติเอส ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้และสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเยอรมนี กล่าว

“ในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงโลก เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มมาตรการเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ตามคำแนะนำของรายงาน IPCC”

รายงานพิเศษของ IPCC ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผืนดินนี้ ได้เตือนว่า กว่า 1 ใน 4 ของผืนดินนั้น “เสื่อมสภาพเนื่องจากการกระทำของมนุษย์” แต่ยังมีวิธีการแก้ไขหลายทางเลือกเพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพ ซึ่งยังเป็นวิธีที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นอกจากนี้ รายงาน IPCC ยังเผยว่า พลังงานชีวภาพ (bioenergy) หรือ การผลิตพลังงานชีวภาพควบคู่กับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน (BECCS) คือปัจจัยที่คุกคามความมั่นคงทางอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทางออกที่ดีที่สุดเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือ การปกป้องฟื้นฟูผืนป่าและระบบนิเวศตามธรรมชาติ รวมถึงลดการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์

“ประเด็นหลักของผลกระทบที่อาจยังไม่เป็นที่รู้มาก่อนที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนดินนั้นเกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของเกษตรเชิงอุตสาหกรรม และการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม สังคมเราได้บริโภคเกินขนาดมาหลายสิบปี ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนวิถึไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เน้นการเพาะปลูกพืชผัก วิกฤตนี้เป็นความท้าทางอันใหญ่หลวง แต่ก็มีทางออกมากมาย การเปลี่ยนวิถึการผลิตอาหารและการกินของเราจะช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและเสริมความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถคืนพื้นที่ปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์อุตสาหกรรมไปเพื่อปลูกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรรมเชิงนิเวศนั้นยังช่วยกักเก็บคาร์บอนในผืนดิน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ” ดร.เรเยส ติราโด นักวิทยาศาสตร์อาวุโส หน่วยวิจัยของกรีนพีซ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ 

“การลดการบริโภคและการผลิตเนื้อสัตว์และนมให้น้อยลง คือทางเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบจากระบบอาหารต่อสุขภาพของเรา และสุขภาพของโลก”

นอกจากนี้ รายงาน IPCC ยังพบว่า

  • ร้อยละ 23 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ เกิดจากการทำลายป่า การเผาไหม้ และเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม แต่ผืนดินนั้นสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การใช้งานผืนดินที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ และการผ่อนผันการยุติการใช้พลังงานฟอสซิลและผลักภาระให้กับผืนดินนั้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับการเกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ทั้งจากการผลิตและการบริโภค มีปริมาณมากถีงร้อยละ 37 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด
  • อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ทวีเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 60 ปีที่แล้ว ขณะที่ผืนดินก็ได้ถูกแปรสภาพให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น ในปริมาณที่สูงสุดในประวัติศาตร์มนุษย์
  • มีประชากรราย 2 พันล้านคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือภาวะโรคอ้วน ขณะที่มีประชากรจำนวน 821 ล้านคนที่กำลังขาดสารอาหาร ตัวเลขนี้บ่งชึ้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิวิติระบบอาหารของโลก

อ่านรายงานของ IPCC ฉบับเต็มได้ที่นี่

ร่วมเป็นพลังเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม