ข้อมูลโดยสรุป
นับแต่ปี พ.ศ.2493 ประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะที่พื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชากรกลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 นอกจากนั้นยังเกิดแรงกดดันมหาศาลจากผู้มีอิทธิพลทำให้ผลิตพืชพรรณอาหารราคาถูกบนผืนดินที่เริ่มเสื่อมสภาพลงทุกวันเพราะสารอาหารในดินถูกใช้ไปและมีการสนับสนุนแนวความคิดในการเติมสารภายนอกเข้าไป อาทิเช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ที่ให้ผลผลิตเร็วขึ้นจนกลายมาเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นของระบบการเกษตรแบบเข้มข้นเชิงการค้าขนาดใหญ่
ยาฆ่าแมลงสังเคราะห์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการเกษตรระดับอุตสาหกรรมทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 50 เป็นต้นมา นับแต่ช่วงเวลานั้นสารเคมีหลายชนิดแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงมาก เป็นผลมาจากการใช้สารเคมีซ้ำ ๆ และในบางกรณีมีการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารเคมีบางชนิดใช้เวลายาวนานมากในการย่อยสลาย เห็นได้จากการพบสารเคมีที่ถูกห้ามใช้เมื่อหลายสิบปีก่อน รวมถึงดีดีทีและอนุพันธ์ลำดับที่สองของดีดีทีในสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ
เนื่องจากผลของการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ทำให้เกิดงานวิจัยผลกระทบยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคุณในเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา (Kohler and Triebskorn 2013) ผลการวิจัยเหล่านี้ปรากฎออกมาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการตกค้างของสารเคมีเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของยาฆ่าแมลงต่อสุขภาพของมนุษย์และกลไกการทำงานของสารเคมีดังกล่าวก็ขยายเป็นวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาที่ได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างการสัมผัสยาฆ่าแมลงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อความบกพร่องทางพัฒนาการ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาทและภูมิคุ้มกันและมะเร็งบางชนิด
อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ลงไปอย่างเฉพาะเจาะจงว่าการสัมผัสโดยเฉพาะยาฆ่าแมลงเป็นเหตุให้เกิดโรคหรือสภาวะผิดปกติในมนุษย์เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะไม่มีมนุษย์กลุ่มใดเลยที่ไม่เคยสัมผัสสารเคมีโดยสิ้นเชิง ซ้ำโรคภัยส่วนใหญ่ก็ล้วนเกิดจากหลายสาเหตุอันทำให้เกิดความซับซ้อนในการประเมินสุขภาพสาธารณะ (Meyer-Baron et al.2015) นอกจากนี้แล้วคนส่วนใหญ่ยังสัมผัสกับสารเคมีที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงส่วนผสมอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ยาฆ่าแมลงเท่านั้น แต่ได้รับจากวิถีชีวิตประจำวันจากหลายๆทางการสัมผัสอีกด้วย และยาฆ่าแมลงเหล่านั้นก็ทำให้เกิดการสะสมสารพิษมากขึ้น
สรุป
มาตรการลดการใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิดนั้นไม่สามารถช่วยป้องกันสุขภาพของมนุษย์ได้เลย เพราะมียาฆ่าแมลงหลากหลายชนิดที่ส่งผลไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพและระบบนิเวศโดยทั่วไป
การเลิกใช้ยาฆ่าแมลงสังเคราะห์โดยสิ้นเชิง โดยการงดใช้ยาฆ่าแมลงในการเกษตรระดับอุตสาหรรมและแก้ปัญหาโดยการทำเกษตรเชิงนิเวศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะลดความเสี่ยงต่อสุขภาพดังกล่าว
จะต้องมีการปกป้องพืชด้วยวิธีการเพาะปลูกให้มีหลายระดับเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางภูมิประเทศเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับแมลงผสมเกสรและสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เพิ่มจำนวนได้โดยการจัดการพืชพรรณเชิงรุก ความหลากหลายทางชนิดพืชและพันธ์ การหมุนเวียนการเพาะปลูก การพักดิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินรวมถึงเพิ่มความต้านทานต่อแมลงศัตรูพืชด้วย มีการใช้สารควบคุมทางชีวภาพตามธรรมชาติ ตัวอย่าง เช่น แบคทีเรียมีประโยชน์ ไวรัส แมลงและไส้เดือนฝอยในการปรับปรุงการป้องกันพืชอาหารได้ประสบผลสำเร็จ
(Forster et al.2013)
มาตรการระดับชาติและระดับโลกเพื่อควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงควรประกอบด้วย:
- งดใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ในการเกษตร (เน้นความสำคัญไปที่การห้ามใช้ยาฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็ง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้กลายพันธ์หรือเป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ (CMRs category I and II) และรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ (EDCs) รวมถึงสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อระบบประสาทด้วย
- จัดให้มีการบังคับใช้คำสั่งการใช้งานอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม (โดยให้สมาชิกของรัฐบรรจุมาตรการรัฐอย่างเป็นรูปธรรมและเป้าหมายที่มุ่งไปสู่การลดการใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีในการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม)
- ปรับปรุงกระบวนการประเมินความเสี่ยงเรื่องยาฆ่าแมลงของสหภาพยุโรป (เพื่อให้แน่ใจว่ามีการควบคุมความปลอดภัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งระยะกลางและระยะยาวที่มีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับส่วมผสมของสารเคมี)
- เปลี่ยนถ่ายงานวิจัยสาธารณะที่มีการใช้การเกษตรเชิงนิเวศมาเป็นการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเกษตรกร (เปลี่ยนจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในปัจจุบันเป็นการใช้เครื่องมือทางชีวภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชและส่งเสริมความสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศ)
อ่านหรือดาวน์โหลดรายงานที่นี่
แปลและเรียบเรียงโดย กานต์วลี ปรินรัมย์ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก