ผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิหลังจาก 5 ปีผ่านไป
รายงานฉบับนี้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เป็นอิสระในเขตที่ได้รับผลกระทบที่ฟุกุชิมะ รวมถึงการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตภาพรังสีของกรีนพีซในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายงานเปิดเผยถึงสมมุติฐานที่ผิดพลาดของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และรัฐบาลของนายอาเบะในประเด็นการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ในสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ รายงานยังได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของหายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 เพื่อเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ของญี่ปุ่น

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิจะยังคงอยู่ไปอีกหลายสิบปี หรืออาจนับร้อยปี เนื่องจากสารประกอบของกัมมันตภาพรังสีนั้นถูกดูดซึมอยู่ในเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และมีการแพร่กระจายปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยพายุไต้ฝุ่น การละลายของน้ำแข็ง และการเกิดน้ำท่วม

กรีนพีซได้สำรวจระดับการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ฟุกุชิมะ 25 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 โดยในปี 2558 เน้นไปที่พื้นที่ป่าไม้บนภูเขา ในเขตอิตาเตะ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ โดยทั้งกรีนพีซและทีมวิจัยอิสระได้ตรวจพบการเคลื่อนย้ายแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีที่สันปันน้ำของภูเขา ซึ่งหลังจากนั้นอาจเข้าสู่ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ประมาณว่า แม่น้ำอาบุกุมะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ไหลผ่านพื้นที่ฟุกุชิมะ มีระดับการปนเปื้อนซีเซียม 137 ที่ 111 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)  และที่ 44 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq) ภายใน 100 ปี หลังจากหายนะภัย
เป็นที่ชัดเจนว่า ขณะนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงแรกกำลังปรากฎ อาทิ การปนเปื้อนในเนื้อเยื่อของพืชป่าและต้นไม้ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของธาตุซีเซียมในเปลือกไม้ เนื้อไม้ และแก่นไม้ โดยมีความเข้มข้นสูงในใบไม้ใหม่ สำหรับกรณีของต้นซีดาร์จะพบมากที่เกสร ปริมาณระดับรังสีจะมีมากขึ้นในต้นสน  นอกจากนี้ยังพบในประชากร ผีเสื้อพันธุ์ Pale Grass Blue หนอนที่ดีเอ็นเอได้รับความเสียหายพบในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสูง พบธาตุซีเซียมปนเปื้อนในปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ นกนางแอ่นบ้านมีความแข็งแรงน้อยลง รวมถึงพบการปนเปื้อนในระบบนิเวศที่สำคัญอย่างพื้นที่ชายฝั่งปากแม่น้ำ

กรีนพีซทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อิสระเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมของฟุกุชิมะจากหายนะภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น และด้วยการศึกษาวิจัยนี้เองจะช่วยให้ชาวญี่ปุ่นเข้าใจระดับของผลกระทบสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ได้ อีกทั้งชาวฟุกุชิมะผู้สูญเสียอย่างมากมายไปกับหายนะภัยนิวเคลียร์ของบริษัท TEPCO ควรจะได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ รายงานนี้จึงเป็นการอุทิศให้คนเหล่านี้ ขณะที่พวกเขาเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากหายนะภัยนิวเคลียร์ด้วยความจำเป็นในการปรับตัว ความหวัง และความกล้าหาญ

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

Radiation Reloaded ผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ