มลพิษทางอากาศไม่มีขอบเขตแดนประเทศ เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับคุณภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงเวลาหลายเดือนของปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นปีที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงหรือกลางปีจากการเผาป่าที่อินโดนีเซีย ราว 6 ประเทศของภูมิภาคต้องทนกับวิกฤตสุขภาพนี้ราวกับเป็นเรื่องปกติของปี ประชาชนหลายล้านคนต้องทนเอาสุขภาพของตัวเองเข้าเสี่ยงกับมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลแสนไกลออกไปในต่างประเทศนับร้อยนับพันกิโลเมตร ปัญหาที่ต้องการการแก้ไขระดับภูมิภาคเช่นนี้ ทำให้เราตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP)

อะไรที่ขาดหายไปในการทำงานร่วมกันของรัฐภาคีกับการป้องกันไม่ให้มลพิษข้ามพรมแดนเกิดขึ้น

Banner Action during ASEAN Summit in Bangkok. © Baramee Temboonkiat @ 2019 / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ แขวนป้ายผ้าบนบิลบอร์ดด้วยข้อความ “นักการเมืองเอาแต่พูด แต่ผู้นำลงมือแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษพลาสติก” ในวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ © Baramee Temboonkiat @ 2019 / Greenpeace

ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน เป็นข้อตกลงที่มีนัยยะทางกฎหมายต่อรัฐภาคี 10 ประเทศ และลงชื่อร่วมกันตั้งแต่ปี 2545 เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ผ่านทางการติดตามการเกิดมลพิษ และค่ามลพิษ รวมถึงการป้องกันไม่ให้มลพิษเกิดขึ้น มีเหตุผลที่ทำให้ความตกลงนี้ล้มเหลว และหนึ่งในนั้นคือการขาดระบบกลไกทางกฎหมายในระดับภูมิภาคที่เอื้อให้ภาครัฐในการเอาผิดผู้ก่อมลพิษ และมอบอำนาจให้กับประชาชนในภูมิภาคช่วยตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทดังกล่าว

ทุกต้นตอหมอกควันข้ามพรมแดนมีบริษัทอุตสาหกรรมอยู่เบื้องหลัง

บางทีประเด็นที่สำคัญกว่าคำถามที่ว่า “ต้นตอของหมอกควันพิษมาจากไหน” คือการถามว่า “ใคร” คือผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียประกาศสถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซียปี 2562 ว่าไฟได้เผาไหม้พื้นที่ป่าพรุและผืนดินกว่า 5,360,975 ไร่ (857,756 เฮกเตอร์) ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 12 เท่า ซึ่งจากการคาดการณ์เชิงสถิติดูเหมือนว่าสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2562 จะรุนแรงกว่าระดับอันตรายของปี 2558 (ซึ่งเป็นปีที่รุนแรงที่สุดที่ผ่านมา) จากการศึกษาของกรีนพีซ อินโดนีเซีย  บริษัทในมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นเจ้าของพื้นที่อุตสาหกรรมปลูกไม้เยื่อกระดาษที่ถูกเผาและถูกตัด ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน แต่ไม่มีมาตรการทางกฏหมายและการเอาผิดต่อบริษัทเหล่านี้แม้จะพบความเชื่อมโยงกับการก่อไฟป่า 

Haze in Palembang, South Sumatra. © Muhammad Tohir / Greenpeace
มลพิษทางอากาศในเมือง Palembang บริเวณเกาะสุมตราใต้ของประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงฤดูเผาป่า © Muhammad Tohir / Greenpeace

อย่างไรก็ดี ข้อมูลแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานที่ระบุในรายงานเป็นการรวบรวมจากหลายแหล่งข้อมูลสาธารณะโดยกรีนพีซ แต่ไม่ได้รับการเผยแพร่โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย 

เรื่องราวปัญหาหมอกควันพิษระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเองก็ไม่แตกต่างกัน และอาจจะยิ่งยากกว่าในการหาต้นตอเจ้าของอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เกิดไฟ

พื้นที่การเกษตรในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนนั้นถูกอุทิศให้กับการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวในระดับอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในภูมิภาคมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น การปลูกข้าวโพดเพื่ออุตสาหกรรมจึงได้รับความสนใจและถูกเชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า รวมถึงการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูก และการเผาเศษวัสดุหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการเกิดหมอกควันพิษทุกช่วงต้นปีที่ครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคและภาคเหนือตอนบนของไทย

แม้ว่าข้าวโพดเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์จะถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรใดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกเหล่านั้น และเมื่อขาดข้อมูลนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ว่าใครควรรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเผาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า

ความเข้มข้นของจุดความร้อนบริเวณภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย และรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ช่วงเดือนเมษายน 2562 จากการวิเคราะห์ดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIRS

การวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซาในปี 2562 โดยกรีนพีซประเทศไทย พบว่าการเพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,646,620 ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย และ 7,524,550 ไร่ในรัฐฉานของเมียนมา และระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 ภายในพื้นที่ปลูกข้าวโพดระดับอุตสาหกรรมนี้ ปรากฎข้อมูลจุดความร้อน 6,879 จุด ที่ภาคเหนือตอนบนของไทย และ14,828 จุด ที่รัฐฉานของเมียนมา


ความเข้มข้นของร่องรอยพื้นที่เผาไหม้บริเวณภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย และรัฐฉาน ประเทศเมียนมาช่วงเดือนเมษายน 2562 คำนวนจากดัชนีการเผาไหม้ (dNBR) ด้วยช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้และอินฟราเรดช่วงคลื่นสั้น จากภาพดาวเทียมระบบ MODIS ที่มีความละเอียดของขนาดกริดที่ 250 เมตร

จากการศึกษานี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน จากในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งมีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเป็นถึง 12,069.33 ตารางกิโลเมตรในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุดอยู่ที่ 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเดือนเมษายน 2562 โดยที่พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควัน


กราฟแสดงพื้นที่ปลูกข้าวโพด (กราฟบน) บริเวณภาคเหนือตอนบน และรัฐฉาน เมียนมา ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อมูลการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อน (กราฟล่าง) ที่เกิดในช่วงเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในฤดูต่อไป

เกษตรกรมักกลายเป็นแพะที่ถูกมองว่าเป็นผู้ผิด แต่พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่นั้นโดยมากอยู่ภายใต้เกษตรพันธสัญญาที่บริษัทอุตสาหกรรมมักได้ผลประโยชน์จากกฎหมายข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังขาดหายไปในการเอาผิดกับบริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ

เมื่อปี 2558 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้เปิดเผยในรายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันจากข้อมูลระบบ MODIS พื้นที่เผาไหม้จากข้อมลูภาพถ่ายดาวเทียม โดยได้ระบุจำนวนจุดความร้อนและพื้นที่การเผาที่เกิดขึ้นโดยการเพาะปลูกข้าวโพดและพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ใน 10 จังหวัดภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดนี้ขาดการเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงได้หลังจากปี 2558 เป็นต้นมา โดยระบุเพียงข้อมูลสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และพื้นที่เผาไหม้เท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงการเผาไหม้ของพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติดังที่เคยเผยแพร่ในปี 2558 

กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมกำลังขยายขอบเขตการดำเนินการไปครอบคลุมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และใช้โอกาสที่ความต้องการข้าวโพดเพื่อปศุสัตว์เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และจีน รวมถึงมองตลาดใหม่ ๆ อย่าง ประเทศลาว และเมียนมาในการผลิตวัตถุดิบ ขณะที่นโยบายการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น แต่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกพัฒนาตาม เกษตรกรที่อยู่ภายใต้พันธสัญญากับบริษัทไม่ควรถูกมองเป็นผู้ร้ายผู้ก่อหมอกควันพิษที่ส่งผลในวงกว้างระดับข้ามพรมแดน

 El Niño Impacts in Northern Thailand. © Vincenzo Floramo / Greenpeace
พื้นที่ป่าที่ถูกนำมาใช้ในการปลูกข้าวโพดเพื่อป้อนอุตสหากรรมอาหารสัตว์ในจังหวัดน่าน © Vincenzo Floramo / Greenpeace

ทางออกท่ามกลางหมอกควันพิษ คือ การที่รัฐภาคีในกลุ่มอาเซียน ร่วมมือกันรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานของผู้ประกอบการ และห่วงโซ่อาหารของเกษตรพันธสัญญา เพื่อปรับปรุงนโยบายความโปร่งใส และการรับผิดชอบของบริษัทต่อการก่อหมอกควันพิษ และการเปลี่ยนแปลงผืนป่า

ประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลว่าใครคือผู้ที่ก่อไฟสร้างมลพิษในอากาศที่เราหายใจ และสามารถติดตามกดดันให้ภาครัฐลงมือตามมาตรการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อที่จะดับต้นไฟและหยุดการก่อหมอกควันพิษได้อย่างแท้จริง

การทำธุรกิจดังเช่นที่เคยเป็นมาไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ต่อไป หากขาดกฎหมายเอาผิดบริษัทต่อการก่อเกิดไฟ เราก็จะถูกปิดหูปิดตาด้วยหมอกควันพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมเช่นต่อไป

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม