สำหรับอ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ติดชายแดนรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมาร์ ริมแม่น้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวทิวเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบอาชีพทำไร่ และด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นหุบเขา ทำให้ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ต่างหลบซ่อนอยู่ในทิวเขาเหล่านี้ บางหมู่บ้านมีกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ชีวิต แต่หมู่บ้านอีกหลายแห่งก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้

แผงโซลาร์เซลล์ ที่บ้านของ คุณปรีชา จอมวัชรา อบต.แม่สอง บ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยคุณวิลลี่ติตดั้งอุปกรณ์ให้กับบ้านหลังนี้ เพื่อใช้ไฟฟ้าเนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้

ทั้งนี้ ปัญหาของการไม่สามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้นั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงและห่างไกลเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสถานการบริการสาธารณสุขอีกด้วย เพราะนอกจากจะต้องเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลมารับอุปกรณ์จากโรงพยาบาลแล้ว สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้จะต้องนำวัคซีนขึ้นไปเก็บไว้สำหรับการรักษาผู้ป่วยในแต่ละหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถเก็บวัคซีนไว้ได้นานเนื่องจากสถานีอนามัยเหล่านี้ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับการแช่เย็นวัคซีน

นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ของคุณวิลลี่ หมื่นโฮ้ง พนักงานประจำโรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อเดินทางไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับสถานบริการสาธารณสุขตามชุมชนห่างไกล

คุณวิลลี่ หมื่นโฮ้ง พนักงานประจำ โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก คุณวิลลี่ศึกษาเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำความรู้ไปติดตั้งให้กับสถานบริการสาธารณสุข ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกล

สิ่งที่ทำให้สนใจพลังงานแสงอาทิตย์

เรามองเห็นปัญหาว่าชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลบนภูเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ในหมู่บ้านไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยด้วย ยกตัวอย่างเช่น รพ.สต.จะต้องเก็บรักษาวัคซีนเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่อนามัยจะต้องเดินทางมารับยาในศูนย์ที่รพ.สต.รับผิดชอบ แต่ไม่สามารถใช้ตู้แช่วัคซีนได้เลย เจ้าหน้าที่อนามัยจะต้องลงมารับวัคซีนบ่อยซึ่งด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาก็ทำให้เดินทางลำบาก ยิ่งในฤดูฝนแล้วยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

อินเวิร์ทเตอร์และชุดแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ที่บ้านของ คุณปรีชา จอมวัชรา อบต.แม่สอง บ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยคุณวิลลี่ติตดั้งอุปกรณ์ให้กับบ้านหลังนี้

เราก็เลยอยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่มีตู้แช่วัคซีนเพื่อเก็บรักษาไว้ให้ได้นาน หัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลือด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง นายแพทย์ธวัชชัย  ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.เล็งเห็นว่าจะต้องช่วยเหลือสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ มีแสงสว่างและมีอุปกรณ์สนับสนุนการรักษาต่อชีวิตผู้ป่วยได้

เราก็เลยหยิบเรื่องการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพราะเห็นว่าสามารถผลิตพลังงานได้โดยตรง และเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเริ่มศึกษาหาข้อมูล เรียนรู้พื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วยตัวเอง และหลังจากที่ทางผอ.ได้รับเงินบริจาคมาจำนวนหนึ่ง เราก็เริ่มวางแผนว่าจะต้องไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ไหนบ้าง และต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง

คุณวิลลี่อธิบายการทำงานของอินเวิร์ทเตอร์ที่ติดตั้งที่บ้านของ อบต.แม่สอง บ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับ 5 สถานที่พยาบาล

สถานที่แรกที่ไปติดตั้งคือ รพ.สต.เซนาเดลู่ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ตอนนั้นเรากับทีมงานในโรงพยาบาลขนอุปกรณ์ติดตั้งไปเองทั้งหมด โดยนั่งรถผ่านถนนลูกรังในหุบเขา ขึ้นไปติดตั้งอยู่หลายวัน การติดตั้งก็เริ่มตั้งแต่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปจนถึงการทดสอบระบบกระแสไฟฟ้า ส่วนสถานที่อีก 4 สถานที่ที่เดินทางไปก็ห่างไกลและเดินทางลำบากเหมือนกัน สถานที่ทั้งหมดที่ไปติดตั้ง​โดยรวมก็จะเป็นรพ.สต. และสาธารณสุขชุมชนในอ.ท่าสองยาง แต่ละแห่งนั้นเป็นสถานที่ที่ให้บริการด้านอนามัยหลักๆของอำเภอ 

หลังจากติดตั้งแล้วก็ติดตามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโซลาร์เซลล์อยู่ตลอด ถ้ามีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมก็จะไปตรวจสอบว่าระบบมีปัญหาหรือไม่ หรือถ้าเจ้าหน้าที่แจ้งเรามาว่าอุปกรณ์เสียหรือมีปัญหาก็จะเดินทางไปซ่อมแซมให้

โซลาร์เซลล์ที่กักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้ด้วยแบตเตอรี่

เพราะว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ เราจึงต้องศึกษาการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงานเพื่อใช้ในช่วงกลางคืน ก่อนหน้านี้เราก็ใช้แบตเตอรี่แบบเติมน้ำกลั่น (Deep Cycle) โดยแต่ละที่ที่ไปติดตั้งนั้นมีกำลังผลิตเท่ากันก็คือ 1,800 วัตต์ (แผงโซลาร์เซลล์ 12 แผง) แต่ละแผงก็มีอายุการใช้งานนานราว 25 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่การสภาพของพื้นที่แลการดูแลรักษาด้วย อย่างการดูแลแผงโซลาร์เซลล์ก็คือล้างเช็ดถูไม่ให้ฝุ่นจับ หรืออย่างการดูแลรักษาแบตเตอรี่ก็คือในปัจจุบันแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆก็ไม่ต้องใช้วิธีเติมน้ำกลั่นแล้ว ไม่ต้องดูแลเติมน้ำกลั่นเพิ่ม 

แผงโซลาร์เซลล์ ที่บ้านของ คุณปรีชา จอมวัชรา อบต.แม่สอง บ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยคุณวิลลี่ติตดั้งอุปกรณ์ให้กับบ้านหลังนี้ เพื่อใช้ไฟฟ้าเนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้

ที่เราตกลงเลือกติดตั้งระบบแบตเตอรี่นั้นก็เพราะว่าหากตัวอินเวิร์ทเตอร์มีปัญหา ไม่สามารถจ่ายไฟได้อย่างเต็มที่ เราก็พอจะดึงพลังงานมาเป็นไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างในโรงพยาบาลจากพลังงานที่กักเก็บในแบตเตอรี่ได้

ความท้าทายของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ในอนาคตต้องพัฒนาต่อไป

ความท้าทายอย่างแรกคือ อยากให้อุปกรณ์ต่างๆของการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง อย่างน้อยขอให้เป็นราคาที่ชุมชนจับต้องได้ เพราะเชาบ้านที่นี่ก็พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์เยอะเหมือนกัน ส่วนความท้าทายอย่างที่สองคือเรื่ององค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาอุปกรณ์ ยกตัวอย่างเช่นชุมชนที่นี่ใช้โซลาร์เซลล์กันอย่างแพร่หลาย แต่ว่าไม่ค่อยทราบถึงการดูแลรักษาให้แผงหรืออุปกรณ์อื่นๆใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเดินทางไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับ รพ.สต. หรือสาธารณสุขชุมชนแล้ว คุณวิลลี่ยังสนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ในด้านของการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาสนับสนุนยานพาหนะ คุณวิลลี่มีโปรเจ็คเล็กๆของตัวเอง โดยใช้องค์ความรู้ที่เคยเรียนมาประกอบรถจักยานไฟฟ้า เพื่อใช้ขับไปโรงพยาบาลโดยที่ไม่ต้องใช้รถแบบเติมน้ำมัน และด้วยการเดินทางไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหลายพื้นที่ของ อ.ท่าสองยาง ทำให้มีชาวบ้านหลายพื้นที่มาขอคำปรึกษาและมาขอความช่วยเหลือในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน พลังของคนธรรมดาที่สร้างแรงกระเพื่อมในด้านของพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม