แทบทุกปีที่เรารับรู้ข่าวการระบาดของไข้หวัดนก และความจำเป็นต้องฆ่าไก่ที่ติดโรคหลายล้านตัวในแต่ละประเทศ การที่มนุษย์มีโอกาสติดไวรัสนี้ได้และเสี่ยงถึงชีวิต น่าจะถึงเวลาที่เราจะต้องตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ว่ายั่งยืนแค่ไหน และมีบทบาทอย่างไรสำหรับสุขภาพของโลก และสุขภาพของเรา
เนื้อหาโดยสรุป
- ไข้หวัดนกเกิดขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป็ดหรือนกป่า
- สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถื่นที่อยู่ทำให้นกป่าที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกใกล้ชิดกับสัตว์ปีกในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มไก่
- การเลี้ยงไก่เชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกกระจายกันได้ง่าย
ทุกครั้งที่มีการตรวจพบการติดไวรัสไข้หวัดนกในเล้าไก่ใด ความจำเป็นต้องจัดการปลิดชีวิตไก่ทั้งเล้าก็จะตามมา ไม่ว่าจะมีจำนวนไก่เยอะแค่ไหน ดังกรณีที่เกิดกับฟาร์มไก่อุตสาหกรรมในรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ที่จำเป็นต้องฆ่าไก่จำนวนราว 5 ล้านตัวในหนึ่งฟาร์ม เพื่อควบคุมการกระจายของโรค ท้ายที่สุดแล้วจบด้วยการฆ่าไก่จำนวน 31 ล้านตัว แค่เพียงในรัฐไอโอวา
ไข้หวัดนกเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเดิมทีหวัดนกนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็ดหรือนกป่า ซึ่งตามปกติความหลากหลายของสายพันธุ์และความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่และอาหารจะทำให้พวกมันมีภูมิต้านทาน ไม่ป่วยด้วยไวรัส แต่สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ส่งผลต่อจำนวนประชากรของนก ประกอบกับฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปได้เปลี่ยนแปลงวงจรและเส้นทางการบินอพยพ ทำให้ไวรัสที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไปหรือการเติบโตขึ้นของเมืองก็มีโอกาสที่นกป่าจะใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และมนุษย์มากขึ้น
ไม่ใช่ความผิดของนกป่าที่ทำให้ไก่ในอุตสาหกรรมติดเชื้อไวรัส แต่ปัจจัยที่ทำให้สัตว์ป่วยมีมากกว่านั้น
ในสภาวะที่ถูกปิดล้อมรอบด้านและอยู่กันอย่างแออัดในเล้าอุตสาหกรรม ไม่ได้สัมผัสสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ แม้แต่แสงแดด สภาวะเช่นนี้ทำให้สัตว์ภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยง่ายมาก และง่ายต่อการส่งต่อเชื้อโรคเช่นกัน สาเหตุที่อุตสาหกรรมต้องฆ่าสัตว์ปีกจำนวนมาก เพราะเลี้ยงไก่จำนวนมาก บ้างก็ในระดับล้านตัว ไว้ในสถานที่เดียวกัน
รูปแบบการทำอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นอาจเป็นทั้งเหยื่อที่ได้รับผลกระทบและเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ทำให้เชื้อไวรัสรุนแรงขึ้น และแพร่กระจายต่อมายังมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
การเลี้ยงระบบปิดของฟาร์มอุตสาหกรรมมักเป็นเหตุผลที่ใช้เพื่อการรักษาความสะอาดในการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากไว้ในที่เดียวกัน แต่แนวทางการปฏิบัติเช่นนี้ทำให้สัตว์ไม่ได้ขยับร่างกาย ไม่ได้รับแสงแดดและอาหารตามธรรมชาติ การเจ็บป่วยที่สร้างความเสียหายในระดับต้องฆ่ายกโรงเลี้ยงจึงเกิดขึ้น
ตามปกติแล้วมนุษย์จะไม่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนก แต่แนวโน้มที่จะติดได้นั้น คือ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง เช่น น้ำมูก ขี้ตา และมนุษย์สูดหายใจเข้าไป หรือบังเอิญเข้าตาและปาก หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักจะเกิดกับกรณีที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงไก่ผู้ที่คลุกคลีกับไก่ที่ติดเชื้อ หรืออาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับอุตสาหกรรมไก่
ภัยเสี่ยงต่อสุขภาพอันเกิดจากการทำอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่นั้นมีมาให้เห็นกันเนิ่นนานแล้ว เราอาจเคยได้ยินการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตในอดีต (ปัจจุบันมีกฎหมายห้ามใช้แล้ว ในไทยด้วยเช่นกัน) ไข้หวัดหมูก็เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอและส่งผลให้ต้องฆ่าหมูจำนวนมากเช่นกัน โรคปากเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะ และสุกร อีกทั้งยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดจุดประสงค์ที่อาจส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ก็กำลังเป็นปัญหาที่โลกกำลังวิตก
ยาปฏิชีวนะเป็นยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไม่ใช่เพื่อป้องกัน แต่การที่อาจมีการนำไปใช้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยนั้นเป็นการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถป้องกันโรคจากไวรัสหรือแบคทีเรียได้ แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดเชื้อดื้อยาที่อาจตกค้างในเนื้อสัตว์และสิ่งแวดล้อมได้
เรากำลังเห็นโรคระบาดที่ส่งต่อจากสัตว์มายังมนุษย์มากขึ้น และอาจต้องถึงเวลาตั้งคำถามถึงอาหารที่เราบริโภคนั้นเชื่อมโยงกับการก่อโรคอย่างไรหรือไม่ และเราจะช่วยเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้อย่างไร นอกจากเพียงแค่หลบเลี่ยงโรคด้วยการใส่หน้ากาก
สุขอนามัยและสุขภาพจิตที่ดีในสัตว์ที่เราบริโภค ส่งผลถึงสุขภาพของสัตว์เองและของมนุษย์ด้วย
ทางออกหนึ่งที่เราสามารถหยุดการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคร้าย และการลดการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือการที่เราหันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และกินผักผลไม้อินทรีย์มากขึ้น ซึ่งนอกจากผักผลไม้จะอุดมด้วยวิตามินที่ดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายแล้ว ยังมีคาร์บอนฟุตปรินท์ที่น้อยกว่ามาก และลดความเสี่ยงจากไวรัสและแบคทีเรียที่อาจตกค้างในเนื้อสัตว์อีกด้วย
ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์
มีส่วนร่วม