เนื้อหาโดยสรุป
- คำประกาศว่าด้วยภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration) คือเสียงเตือนที่ต้องรับฟัง คำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศนี้เปรียบดังสัญญาณชีพ (vital signs)ที่เอื้อให้ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสาธารณะชนเข้าใจถึงขนาดของวิกฤต ติดตามความคืบหน้าและจัดเรียงลำดับความสำคัญในการลดผลกระทบจากหายนะทางนิเวศวิทยา
- ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นและรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
- ทันทีที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ขั้นต่อไปคือการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ และสร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง(Resilience)ของชุมชนและสังคมโดยรวมต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ไม่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ที่พิจารณาแนวโน้มอนาคตในระยะยาวและนโยบายแบบทางการ แต่รวมถึง “การลงมือทำเดี๋ยวนี้” ที่ผู้คนทั้งสังคมต้องเผชิญและหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการล่มสลายของระบบสภาพภูมิอากาศ
คำประกาศว่าด้วยภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration) เป็นกลยุทธเชิงนโยบายที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกและชุมชนวิทยาศาสตร์นำมาใช้เพื่อรับรู้ร่วมกันว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คำประกาศแรกมีขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 รัฐบาลท้องถิ่นมากกว่า 1,400 แห่งใน 28 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศขึ้น
คำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bio Science และลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์ 11,258 คน จาก 153 ประเทศ คือเสียงเตือนที่ต้องรับฟัง แนวร่วมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกประกาศพร้อมที่จะทำงานข้างเคียงกับผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition)ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเคารพความแตกต่างหลากหลาย คำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศนี้เปรียบดังสัญญาณชีพ (vital signs)ที่เอื้อให้ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสาธารณะชนเข้าใจถึงขนาดของวิกฤต ติดตามความคืบหน้าและจัดเรียงลำดับความสำคัญในการลดผลกระทบจากหายนะทางนิเวศวิทยา
ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศและประเทศไทย
(1)ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศต้องเผชิญภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate diasters) ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งยาวนาน อุณหภูมิผกผัน น้ำท่วมและพายุรุนแรง ที่สร้างความเสียหายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหลายหลายต่อหลายครั้ง (ดูรายละเอียดในตาราง) เฉพาะอุทกภัยนั้นเกิดขึ้น 67 ครั้งในระหว่าง พ.ศ.2532-2561
สถิติของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2532-2561
ที่มา : https://www.emdat.be
(2)อนาคตยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น แต่การรับมือยังเป็นคำถามใหญ่
การคาดการณ์อนาคตโดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศพบว่า เจตจํานงลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อรวมกันแล้ว ก็ยังคงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส(เมื่อเทียบกับระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม) เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายของความตกลงปารีส (จำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) คาดว่าประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้งยาวนาน คลื่นความร้อนรุนแรง และอุทกภัยเพิ่มมากขึ้น
เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 3 แต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 13
ตารางแสดงการคาดการณ์ของตัวแปรด้านสภาพอากาศของประเทศไทยจากการรวมผล(ensemble)ของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ CMIP5 เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 1.5 และ 3 องศาเซลเซียสจากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม
(3)ชายฝั่งทะเลไทยล่อแหลมต่อการเพิ่มของระดับน้ำทะเล
ในระยะยาวของประเทศไทย(ปลายศตวรรษที่ 22) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 2.39 เมตร เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 4.3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับการเพิ่มของระดับน้ำทะเล 1.36 เมตร ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.6 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงที่มาจากพายุหมุนเขตร้อนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกอยู่ที่ 2.4 องศาเซลเซียส จำนวนพายุหมุนเขตร้อนระดับ 4 และ 5 จะเพิ่มขึ้นราว 130% ความรุนแรงของภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อนยิ่งมากขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกหนักและการเพิ่มของระดับน้ำทะเล
ตารางแสดงการคาดการณ์การเพิ่มของระดับน้ำทะเล(หน่วย:เซนติเมตร)เปรียบเทียบกับระดับของน้ำทะเลประเทศไทยในปัจจุบัน อ้างอิงจาก Robert Kopp et al.(2014) ภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Representative Concentration Pathways:RCP)มาจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่พัฒนาภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่ที่เรียกว่า Representative Concentration Pathways (RCP) ซึ่งใช้ในรายงานการประเมินครั้งที่ 5 โดยถือเอาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเป็นจุดเริ่มต้นแล้วประเมินว่าที่ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกระดับต่างๆ กัน จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างไร
ทำไมประเทศไทยต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ
อาจมีคำถามว่าทำไมประเทศไทยต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ในเมื่อ (1) รัฐบาลไทยประสบความสำเร็จของผลการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ(Nationally Appropriate Mitigation Action:NAMA)เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 7-20 เมื่อเทียบกับกรณีปกติภายในปี พ.ศ.2563 และเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด(Nationally Determined Contribution:NDC)ที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติจากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) (2) มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ แผนแม่บทการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. 2564–2573 อยู่แล้ว และ (3) แผนการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่าภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (พ.ร.บ.โลกร้อน)รวมถึงการมีอนุบัญญัติต่างๆ
คำตอบแรกคือช่องว่างของความสำเร็จ
ภายใต้แนวทางที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส(Paris Agreement Consistent Parthway)แสดงให้เห็นว่า ภายในปี พ.ศ.2573 สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากระบบพลังงานหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ( decarbinised electricity)ในภูมิภาคอาเซียนจะมีร้อยละ 50 และสามารถไปถึงระบบพลังงานหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำเต็มร้อยภายในปี พ.ศ.2593
ภาพฉายระดับภูมิภาค(Regional Scenario)อื่นๆ แสดงให้เห็นอีกว่า ภายในปี พ.ศ.2573 สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากระบบพลังงานหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ(decarbinised electricity) ของประเทศไทยสามารถทำได้ถึงร้อยละ 60 รวมถึงบทบาทของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทาง ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายใต้ NDC ควรมีเป้าหมายสูงส่งมากกว่านี้
กราฟแสดงให้เห็นว่า หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดตามแผนที่มีอยู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยจะสูงสุดระหว่างปี พ.ศ.2564 และ พ.ศ. 2575 และค่อยๆ ลดลงภายในปี พ.ศ.2612 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในระดับภูมิภาคอาเซียน (ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส) ที่จะต้องลด ละ เลิกถ่านหินภายในปี พ.ศ.2583
ที่สำคัญ แผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเพิ่มขึ้น ผลคือเป้าหมายการลดการปล่อยที่ตั้งไว้จะล่าช้าออกไปมากกว่า 10 ปี หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดตามแผนที่มีอยู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยจะสูงสุดระหว่างปี พ.ศ.2564 และ พ.ศ. 2575 และค่อยๆ ลดลงภายในปี พ.ศ.2612 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในระดับภูมิภาคอาเซียน (ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส) ที่จะต้องลด ละ เลิกถ่านหินภายในปี พ.ศ.2583
คำตอบที่สองคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สร้างความไม่เป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(2561-2580) ของประเทศไทยระบุว่าจะมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าละเลยประเด็นความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ในขณะที่การใช้ถ่านหินนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมยังเพิ่มปริมาณมากขึ้น สวนทางกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการ “ลด ละ เลิกถ่านหิน” ตามเจตนารมย์ของความตกลงปารีส โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา การถมทะเลขยายท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ข้อเสนอถมทะเลของเอ็กซอนโมบิล ไปจนถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่คุกคามความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นต้น นั้นย้อนแย้งกับคำว่า “เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ” อย่างถึงที่สุด
ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศคือเสียงเตือนให้ลงมือทำ
ทันทีที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ขั้นต่อไปคือการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ และสร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง(Resilience)ของชุมชนและสังคมโดยรวมต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยที่นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างๆ ต้องมีความทนทาน (Robustness) ต่อพลวัตรทางสังคมและแรงกระแทกกระทั้นจากความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศในอนาคต ที่สำคัญต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
“ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ไม่ใช่การสร้างความแตกตื่น หากนำไปสู่ “ความตื่นรู้” ถึง “วิกฤตทางนิเวศวิทยา” ที่ผู้คนทั้งสังคมต้องเผชิญและหาทางออกร่วมกัน “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ไม่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ที่พิจารณาแนวโน้มอนาคตในระยะยาวและนโยบายแบบทางการ แต่รวมถึง “การลงมือทำเดี๋ยวนี้” ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการล่มสลายของระบบสภาพภูมิอากาศ
ประกาศอย่างไร
การประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ทำได้ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติ โดยในระดับท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างในรายละเอียดตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ
สำหรับกรีนพีซ เราเชื่อว่า รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจทางนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ควบคุม ดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีและให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญของประเทศนั้น มีสถานะที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ของประเทศไทย
ในกรณีที่มีการยุบสภา พรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงเลือกตั้งจำเป็นต้องนำเอาวาระ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ผนวกเข้าไปในนโยบายหาเสียงของตน อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของการเมืองมีลักษณะปฏิกิริยาเฉพาะกิจ ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทิศทางบ่อยและรวดเร็วเสมอมา การที่นักการเมืองเกือบทุกคนและพรรคการเมืองส่วนใหญ่มัวแต่หมกมุ่นกับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้น ส่วนนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ใส่ใจผลประโยชน์ส่วนรวมระยะยาวอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจยาวนาน อีกท้ังการเปลี่ยนแปลงนโยบายมักถูกรัฐบาลชุดต่อมาหรือศาลล้มคว่ำพลิกกลับอยู่ร่ำไป จึงมีความจำเป็นต้องสร้างชุมชนนโยบายด้านว่าด้วย “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ควบคู่กันไป
ชุมชนนโยบายว่าด้วย “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” สามารถรวบรวมข้าราชการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมือง สมาชิกรัฐสภา ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน สถาบันคลังสมอง สถาบันมหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหากำไรที่คอยเฝ้าระวังและนักกิจกรรมชุมชน มาร่วมถกเถียง ระดมสมอง อบรมเชิงปฏิบัติการและลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ สร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง(Resilience)ของชุมชนและสังคมบนรากฐานของความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)
มีส่วนร่วม