เพราะโรคระบาด COVID-19 ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงว่าเรากับธรรมชาติจำเป็นจะต้องพึ่งพากันมากแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโลกปัจจุบันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยวิถีชีวิตที่วุ่นวาย การบริโภคที่ล้นเกินและการผลักภาระให้กับธรรมชาติ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน  วิกฤตโรคระบาดทำให้มีความชัดเจนว่า แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จริงๆแล้วมีวิธีอื่นหรือไม่ที่เราจะพัฒนาต่อได้?

เราน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่ล้าสมัย เศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ได้รับการนำเสนอเป็นเหมือนเครื่องมือวิเศษที่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก องค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วโลกอ้างว่าแบบจำลองนี้คือทางออกของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ช่วยป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและปัญหาอื่นๆอีกเท่าที่เราจะคิดออก แล้วทำไมเราจึงเรียกว่าเครื่องมือวิเศษ?  นั่นก็เพราะว่ามันควรเพิ่มความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Greenwashing Action at National Pension Fund Headquarters in Luxembourg. © Sara Poza Alvarez / Greenpeace
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “หยุดการฟอกเขียว” (Greenwashing) ที่เมือง ลักเซมเบิร์ก © Sara Poza Alvarez / Greenpeace

แน่นอนว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าเราทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง เราไม่ต้องเป็นกังวลว่าเราจะอาศัยอยู่บนโลกนี้ต่อไปได้หรือไม่ ไม่ต้องคอยกังวลว่าครอบครัวของเราจะต้องอพยพไปดาวอังคารหรือเปล่า นอกจากนี้ฉันเองก็ยังไม่ต้องเสียเพื่อนไปเพราะแนวคิดของฉันที่ว่า “เราไม่สามารถบริโภค ซื้อสินค้า ราวกับว่าโลกมีทรัพยากรให้ใช้อย่างไม่จบสิ้น”

แต่ในความเป็นจริง น่าเสียดายที่เศรษฐกิจหมุนเวียนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องพวกเราไว้ได้

ลองคิดดี ๆ ว่าจริง ๆ แล้วเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คืออะไร?

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในระบบนี้ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรของเสีย การปล่อยมลพิษ และการรั่วไหลของพลังงานจะลดลงโดยการลดการผลิตและการบริโภค ระบบนี้เกี่ยวกับการออกแบบที่ยั่งยืน, การบำรุงรักษา, การซ่อมแซม, การนำกลับมาใช้ใหม่, การผลิตซ้ำและการประกอบใช้ใหม่ จนสุดท้ายคือการรีไซเคิล เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ตรงกันข้ามกับรูปแบบการผลิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน คือการนำ(ทรัพยากร)มาใช้ การสร้างผลิตภัณฑ์ และการกำจัดของเสีย ซึ่งฟังแล้วดูดีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามบรรษัทอุตสาหกรรมต่างๆ เลือกหยิบเอาบางส่วนในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ให้เหมาะกับตัวเอง นั่นคือเน้นไปที่วัฏจักรสุดท้ายของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการรีไซเคิล

เป็นเรื่องปกติที่บรรษัทอุตสาหกรรมต่างๆ จะผลักความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับผู้บริโภค ถ้าโลกของเราสกปรกมากขึ้นนั่นไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแต่เป็นของผู้บริโภค เพราะเรายังรีไซเคิลได้ไม่พอ บริษัทอุตสาหกรรมก็จะมีข้อเสนอแปลกๆ ว่า การแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีที่ตายตัวจะช่วยให้พวกเรารอดพ้นจากเส้นทางแห่งมลพิษที่เป็นหายนะที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ แต่บรรษัทอุตสาหกรรมจงใจลืมอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การทำให้การผลิตและการบริโภควัสดุ ทรัพยากรและพลังงานทั้งหมดช้าลงและดำเนินแนวทางการป้องกันมิให้เกิดขยะในระยะยะยาวซึ่งออกแบบให้มีของเสียเหลือศูนย์

สุดท้ายบรรษัทอุตสาหกรรมทั้งหลายก็เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ไปเพราะได้บอกผู้บริโภคว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด เราสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและเมินเฉยต่อการจัดการกับต้นเหตุของปัญหามลพิษนั่นคือ วิถีบริโภคนิยมและการบริโภคที่ล้นเกิน

ซึ่งคุณอาจคิดว่า “ก็ดีที่ยังมี ดีกว่าไม่มีอะไรเลย”

ก็ถูกนะ แต่รู้หรือไม่ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนก็สร้างปัญหาได้

การรีไซเคิลให้ได้ 100% ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล และทรัพยากรต่างๆ เช่น พลังงานไม่สามารถรีไซเคิลได้ การพึ่งพาการรีไซเคิลอย่างเดียวก่อให้เกิดความย้อนแย้งว่าด้วยประสิทธิภาพ มันนำไปสู่การเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์  ดังนั้น ก็มีการผลิตสิ่งของเพิ่มขึ้นและขุดเจาะทรัพยากรเพื่อเอามาทำสิ่งของต่างๆ มากขึ้น หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่ง การรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวทำให้เราออกห่างจากทางออกที่แท้จริง : นั่นคือการป้องกันมลพิษที่แหล่งกำเนิด 

แม้ว่าทรัพยากรและวัสดุทั้งหมดจะถูกนำมารีไซเคิลและการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพ 100% ปริมาณของทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้ที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นจะน้อยกว่าสิ่งของที่จำเป็นการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยความต่างดังกล่าวนี้ เราจบลงด้วยการที่จะต้องขุดเจาะหาทรัพยากร นำไปเผาและทำลายธรรมชาติที่ขวางทางเรา

แล้วเราจะเริ่มจากตรงไหนก่อนดีล่ะ?

เริ่มต้นด้วยการใส่คำว่า ทำให้ช้าลง” เข้าไปในคำว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เพราะภาษามีความหมาย

เพื่อให้เศรษฐกิจของเราสามารถฟื้นฟูได้และมีผลิตภาพ มิใช่เพียงการรีไซเคิลให้ได้มากขึ้นและเร็วขึ้น สิ่งที่เราต้องการคือทำให้การไหลเวียน(ของทรัพยากรและวัสดุ)ช้าลง และปิดวงจรของการไหลเวียนโดยการลดการผลิตหรือลดการบริโภค นั่นหมายถึงว่า เราจะต้องเรียงลำดับแนวทางการจัดการของเสีย และจัดวางยุทธศาสตร์ “การไม่ทำให้เกิดของเสีย” และการลดของเสียให้อยู่ในลำดับต้น ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้เราต่อกรกับวิถีบริโภคนิยม การบริโภคที่ล้นเกิน และการผลิตที่ล้นเกิน และตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน

ภาพจาก Stig’s Illustration and Design

…ใช่แล้ว นี่หมายถึงการบริโภคให้น้อยลงและดำเนินการออกแบบเชิงนิเวศ ที่มีความรับผิดชอบและเอื้อต่อระบบนิเวศที่ยั่งยืนเพื่อเราทุกคน

การออกแบบควรมีลักษณะดังต่อไปนี้:

  • ง่าย – ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ควรสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือที่ง่ายต่อการเข้าใจและซ่อมแซมได้ง่าย
  • คำนึงถึงทรัพยากรที่นำมาใช้ – การผลิตต้องเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรทั้งหมดและทำอย่างไรที่จะสงวนรักษาและใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและลดการเกิดของเสีย
  • มุ่งถึงเป้าหมาย – ผลิตภัณฑ์ต้องถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน และขยายอายุการใช้งานเพื่อลดการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีความทนทาน สามารถซ่อมแซมได้ ใช้ซ้ำได้ สามารถประกอบใหม่ได้ และสามารถนำมารีไซเคิลได้ ขั้นตอนการออกแบบและการผสมวัสดุยังต้องคำนึงถึงการที่ผลิตภัณฑ์หมดอายุการใช้งานและการกำจัดขั้นสุดท้าย
  • ใช้งานได้หลากหลาย – วิศวกรรมย้อนกลับและโมดูลาร์เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สามารถซ่อมแซมและใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้
  • ออกแบบให้มีความสากล ผลิตในระดับท้องถิ่น – เป็นการนำเอาองค์ความรู้การผลิตแบ่งปันไปทั่วโลก โดยกำหนดให้กระบวนการผลิตกระจายอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความต้องการใช้

เน้นความยั่งยืนที่แท้จริงเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อปกป้องโลกของเรา และ

  • ป้องกันและลดผลกระทบของชิ้นส่วนและวัสดุให้น้อยที่สุด
  • จัดหาชิ้นส่วนและวัสดุในท้องถิ่นของคุณ
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงาน
  • กำจัดสารพิษและมลพิษทั้งหมด
  • หลีกเลี่ยงการสร้างขยะและการผลิตที่ล้นเกิน

เปิดรับข้อมูลหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานให้สามารถซ่อมแซมและส่งเสริมนวัตกรรมซึ่งก็คือ

  • ไม่เสียค่าใช้จ่าย – มีข้อมูลให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างทั่วถึง
  • แก้ไขได้ – ทุกคนสามารถแก้ไขข้อมูลบางอย่างได้เพื่อเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
  • ใคร ๆ ก็ใช้ได้ – เป็นนวัตกรรมที่เปิดใช้งานร่วมกันโดยถูกต้องตามกฎหมายและสามารถแก้ไขหรือเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้

การทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนช้าลงเกิดขึ้นจริงแล้ว! เพราะมีขั้นตอนที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและทัศนคติทางวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมนั่นคือ แรงจูงใจทางภาษีเพื่อการซ่อมแซม, การจำกัดของการใช้คำโฆษณา, การรับผลิตภัณฑ์คืน หรือ กฏหมายว่าด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต การลดใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย การลดการใช้ทรัพยากร เช่น  พลังงาน น้ำ หรือวัตถุดิบต่างๆ และดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดีขึ้น (ค่าจ้าง, เวลาทำงาน, ระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น) สำหรับโรงงานผลิต การเกษตรและการทำเหมือง เพื่อการปรับปรุงการผลิต ผู้คนควรชะลอตัวลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แบบจำลองธุรกิจที่เป็นทางเลือกแบบใหม่ (เช่น การแบ่งปัน การให้เช่า สหกรณ์ ที่ไม่เป็นลำดับขั้น) เป็นคุณลักษณะทั่วไปของธุรกิจและองค์กร และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนช้าลง

Wood Stove Construction Training in Kinshasa. © Greenpeace / Crispin Assimbo Bosenge
การฝึกอบรมการก่อสร้างเตาไม้ในเมืองกินชาซา สาธารณรัฐคองโก © Greenpeace / Crispin Assimbo Bosenge

เศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริงนั้นต้องการสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด รวมถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีภาระรับผิด มีความร่วมมือและกระบวนการการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในที่สุด ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการเป็นเจ้าของร่วมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างมูลค่าให้กับทุกคนโดยส่งมอบผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม อักทั้งยังรักษาทรัพยากรและระบบนิเวศไว้เพื่อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ช้าลงจริงๆนั้นต้องสะท้อนให้เห็นว่าระบบสังคมของเราเกิดวัฒนธรรมหมุนเวียนอีกด้วย เช่นในการบริการทางการเงิน ในโครงสร้างธุรกิจของเรา รวมทั้งในการวางนโยบายของรัฐและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม ภาคส่วนเหล่านี้จะเป็นวิธีที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริง แทนแนวคิดการหมุนเวียนสิ่งของที่เพิ่มพูนกำไร ขยับขยายธุรกิจให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องสร้างคุณค่าจากการหมุนเวียนซึ่งจะส่งผลบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่เราต้องการ

การที่ไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตและกิจวัตรประจำวันของพวกเราไป ดังนั้นเรามาจินตนาการกันใหม่ใหม่ดีกว่าว่าจะทำให้เราจะวางแบบแผนการบริโภคให้ช้าลงและปรับเปลี่ยนการผลิตของเราอย่างไร วิกฤตครั้งนี้ให้โอกาสเราได้ทบทวน พร้อมกับพลิกโฉมอนาคตและระบบเศรษฐกิจของเรา จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส