ตลอดระยะเวลาที่ “วาระด้านสิ่งแวดล้อม” กลายเป็นกระแสหลัก  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมักจะถูกมองว่า เป็นเรื่องแยกขาดจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง เสมือนว่าการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่นอกเหนือบริบทความขัดแย้ง และอาจมีสภานะภาพ ‘พิเศษ’ กว่าวาระอื่นๆ ในสังคม

ส่วนหนึ่งของการอธิบายข้างต้นมาจากแนวความคิด “สิ่งแวดล้อมแบบตื้นเขิน (shallow environmentalism)” อีกส่วนหนึ่งมาจากปฏิบัติการนิเวศวิทยาแนวลึกที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว บนฐานคิดที่ว่า หากทุกคนมีจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แรงกล้า และช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรอคอยการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือโครงสร้างใดๆ

NO CPTPP Demonstration in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมอ่านแถลงการณ์และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงจุดยืนคัดค้านขอให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร. © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้จบลงที่การแก้ไขในระดับปัจเจกเพียงอย่างเดียว แนวคิดดังกล่าวข้างต้นนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาอันฝังลึกอยู่ในโครงสร้างสังคมที่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมนั้นมีความหมายมากกว่าป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ สัตว์ป่าที่อยู่อย่างปลอดภัย อากาศที่ดี น้ำสะอาด ทะเลปลอดขยะ แต่ยังเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คน และการบริหารจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศ

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ภาพกิจกรรม Climate Strike ที่สวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ด้วยเหตุนี้ การเมืองจึงเป็นมิติหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้  ภาคการเมืองจะต้องเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะในเมื่อทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่าไม้ และสินแร่ทั้งหลายเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนในชาติ รวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมากที่ภาครัฐผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบทางตรงโดยรัฐเอง หรือออกเป็นสัมปทานให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการ เหล่านี้คือประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งแทรกอยู่ในนโยบายของภาคการเมืองที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้

การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงไม่ใช่เพียงปฏิบัติการระดับบุคคล (ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ลดละการเบียดเบียนทำลายธรรมชาติ)เพียงอย่างเดียว หากเป็นการผลักดันสร้างกลไกการต่อรองและนำเสนอทิศทางเชิงนโยบายในทุกระดับ  ภายใต้กรอบกติกาในระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศจนไม่สามารถสร้างคืนมาได้อีกแล้ว 

สำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องมาพร้อมสำนึกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

ในช่วงที่ผ่านมาบทสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter คือการตั้งคำถามว่า #ถ้าการเมืองดี จะส่งผลอย่างไรกับชีวิตของประชาชนบ้าง ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมก็ได้รับการพูดถึงเช่นกัน หลายความคิดเห็นสะท้อนว่า ระบอบการเมืองที่ดีที่ตรวจสอบได้และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนรวมคือพื้นฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่น PM 2.5 ขยะพลาสติก นโยบายผังเมือง หรือโครงการก่อสร้างพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ

"Right to Clean Air" Activity in Bangkok. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายที่มีข้อความ “ขออากาศดัคืนมา Right to Clean Air” บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายปัญหาอาจดูกระจัดกระจาย แยกหน่วยไม่เชื่อมต่อกัน เพียงเพราะเราเรียกชื่อปัญหาเหล่านั้นแตกต่างกันออกไป แต่หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายแล้ว เราอาจพบว่าการเรียกร้องเพื่อรักษาสิทธิ เช่น การเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินให้แผ่นดินบ้านเกิดของชาวบ้านที่อำเภอจะนะ การคัดค้านโครงการเหมืองตะกั่ว ถ่านหิน แร่ทองคำของชาวบ้านในหลายจังหวัด กับการรณรงค์หยุดเรียนทุกวันศุกร์ (Climate Strike) ของเยาวชนทั่วโลกรวมทั้งในไทยเอง เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นั้นคือเรื่องเดียวกัน ที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่บุคคลทุกคนพึงมีและได้รับ โดยสิทธินี้แบ่งแยกไม่ได้และติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้สวยงาม เรียบร้อย และบริสุทธิ์สะอาดตามแบบที่หลายคนมีภาพอุดมคติไว้ รวมถึงต้องใช้เวลา ไม่ทันใจเท่าการใช้อำนาจสั่งการอย่างเด็ดขาดเพียงคนๆ เดียว แต่ถึงอย่างนั้น การเมืองแบบประชาธิปไตยก็เป็นหลักประกันถึงสิทธิที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพแบบไหนจะมีโอกาสได้พูด ได้คัดค้าน ได้แสดงออก ได้ชุมนุมอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อชีวิต ครอบครัว และคนที่รัก นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของภาคส่วนๆ ไม่ต้องผูกขาดที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว

 ไม่มี “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” หากไร้ซึ่ง “ความเป็นธรรมทางสังคม”

'Heart for Sea' Solidarity Activity in Teluk Patani, Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ตัวแทนจาก ชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมย์คัดค้านโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือลักษณ์ของกรีนพีซ  © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

แม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ของประเทศไทยจะระบุถึงแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนแผนการจัดการขยะแบบเบ็ดเสร็จที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ 

ASEAN: No Space For Waste Activity in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับนักกิจกรรม อาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซรวมตัวกันพร้อมป้ายข้อความ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศในอาเซียน10 ประเทศ ประกาศยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ © Wason Wanichakorn / Greenpeace

ทว่าในทางปฏิบัติ เราก็ยังได้เห็นข่าวและข้อมูลที่สวนทางกับเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้ เช่น แผนการเปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในภาคเหนือ สวนทางกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแผนการขุดลอกถมทะเลถึง 1,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อทำท่าเทียบเรือและคลังสินค้าโดยไม่ต้องทำตามกฎหมายเกี่ยวกับการถมทะเล ผังเมือง หรือ EIA ตามขั้นตอนกฎหมายปกติ รวมถึงปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หรือการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม 

สภาวะความย้อนแย้ง (paradox) ดังกล่าว ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เพราะโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุลกันนี้มีผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางสังคมตามมา โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะรอง (subaltern) ซึ่งหมายรวมถึง ‘คนจน’ ‘คนชายขอบ’ และ ‘คนด้อยโอกาส’ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงวิธีการปกป้องตัวเอง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยและคนไร้บ้านไม่สามารถหลีกหนีได้ ทั้งยังไม่มีความรู้ว่าสภาพอากาศที่ขมุกขมัวที่ตนหายใจเข้าไปอยู่นั้นปนเปื้อนไปด้วยฝุ่นพิษขนาดจิ๋วจำนวนมาก ไม่ต้องคิดถึงว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีเงินซื้อหน้ากาก เพื่อปกป้องตัวเองหรือไม่เลยด้วยซ้ำ ความนิ่งเฉยและล่าช้าในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องมีให้กับประชาชนคือคำตอบที่ดังที่สุดถึงความจริงใจที่มีต่อประชาชน

การประท้วงเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมเดินรณรงค์ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” รวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน © Wason Wanichakorn / Greenpeace

เรายึดมั่นในจุดยืนที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในสังคมไทยที่เป็นธรรม (just transition) ยั่งยืน และเป็นประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น และมีกลไกการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นแนวปฎิบัติของคนส่วนใหญ่ (social norm)ในสังคม การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกระดับปัจเจกถือเป็นพื้นฐานและคุณภาพที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อม หากปราศจากมิติทางการเมืองเสียแล้ว การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังใดๆ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม