หลังจากได้เห็นคุณพ่อผู้เป็นเกษตรกรเปลี่ยนผ่านจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเป็นหลัก มาเป็นการผลิตในระบบแบบระบบวนเกษตรเป็นแนวทางหลัก คุณปุ้ย มัทนา อภัยมูล จึงได้สานต่อการทำเกษตรต่อจากครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอด และได้รวมกลุ่มกับคนรุ่นใหม่ในชุมชนแม่ทา จัดตั้งกลุ่มชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค มีหลากหลายกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของกลุ่ม โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน คือเป็นผู้นำคนรุ่นใหม่ในการพึ่งตนเองบนวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน และหนึ่งในกิจกรรมที่ทำร่วมกันซึ่งเป็นในแนวทางใหม่ๆ กลายเป็นร้านอาหารที่ชื่อว่า Mae Tha Organic (แม่ทา ออแกนิค) ที่มีความตั้งใจอยากให้ร้านนี้เป็นเหมือนจุดนัดพบ แลกเปลี่ยน เป็นศูนย์รวมให้คนในกลุ่มมีกิจกรรมร่วมกันรวมถึงคนภายนอกที่เข้ามาสัมพันธ์ด้วย ภายในร้านใช้เมล็ดกาแฟอินทรีย์จากเครือข่ายที่แม่วางชื่อ Lapato Organic Coffee และใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลมาประยุกต์ในเมนูอาหาร วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาใน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เพราะหวังว่ากิจกรรมและอาหารบางเมนูที่ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลนี้จะช่วยสื่อสารให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงเรื่องของเกษตรกรรยั่งยืน รวมทั้งต่อยอดอาชีพของเธอด้วยการอนุรักษ์และผลิต คัดเลือกเมล็ดพันธุ์แบบวิถีชุมชน เพื่ออนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้านและอนุรักษ์อาชีพการผลิตเมล็ดพันธุ์เอาไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

ปุ้ย มัทนา อภัยมูล ผู้อนุรักษ์และผลิต คัดเลือกเมล็ดพันธุ์แบบวิถีชุมชน

“การรณรงค์ให้คนเข้าใจถึงการกินอย่างยั่งยืนก็ยังไม่ได้ลงลึกมาถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งผู้บริโภคปลายทางก็อาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด คนที่ไม่ได้คลุกคลีกับการเกษตรก็จะถูกตัดขาดออกจากวงจรการปลูกการเก็บเกี่ยวผลิตผลไปเลย” – มัทนา อภัยมูล

ในขณะที่ในปีนี้เรารู้จักกับประเด็น CPTPP ที่จะเอื้อสิทธิ์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่และเกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างจนในปีนี้รัฐบาลยังไม่ส่งรายชื่อประเทศไทยเข้าไปพิจารณาเป็นสมาชิกในภาคีความตกลง แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เรามาทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวผู้ผลิตและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ รู้จักกับคุณปุ้ยถึงแรงบันดาลใจและความสำคัญของอาชีพการผลิตเมล็ดพันธุ์

จากรั้วมหาวิทยาลัย สู่การสานต่ออาชีพจากคุณพ่อ

ความตั้งใจของเราคือพอเราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยปุ๊บเราจะมาช่วยงานที่บ้านและชุมชนต่อเพราะความชอบและคิดว่าถ้าเราไม่กลับมาทำอาชีพสานต่อจากครอบครัวมันก็จะไม่เกิดความยั่งยืน เราเก็บข้อมูลอยู่ตลอด ไปสำรวจเวลาแม่เอาผักที่ปลูกไปขายในตลาดในแต่ละฤดูกาล เราจะจดบันทึกว่าแต่ละฤดูกาลได้รายได้เท่าไหร่ หรือบ้านเราปลูกอะไรบ้าง และเก็บเกี่ยวมันอย่างไรในแต่ละปี รวมทั้งพ่อแม่เรายังทำงานพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องด้วย วิถีชีวิตและการต่อสู้ของเขาทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความโชคดีที่ตอนเราใกล้จบจากมหาวิทยาลัย ทาง Greennet ชวนเราไปทำงานด้วยกัน องค์กร Greennet เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เราก็เลยตกลงไปช่วยเขาทำงานและหาประสบการณ์เพิ่มเติม หลังจากนั้นองค์กรสอบถามมาว่าเราอยากไปช่วยเกษตรกรในจังหวัดอื่น ๆ ไหม เพราะGreennet ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ เราก็ได้กลับมาที่บ้านที่ ต.แม่ทา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันเราก็ทำงานตรงนี้มาตลอด

เราสนใจในประเด็นงานเมล็ดพันธุ์และได้รับโอกาสและการสนับสนุนจาก Greennet และมูลนิธิสายใยแผ่นดินให้เคลื่อนงานนี้และเริ่มก่อตั้งศูนย์เกษตรอินทรีย์ Greennet Organic Center ที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เราได้ทำงานด้านการค้าที่เป็นธรรม งานส่งเสริมมีนโยบายเราหนุนเสริมให้เกษตรกรให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองและสร้างความหลากหลายในแปลงด้วย เพราะเกษตรกรเขาปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสำหรับครัวเรือนอยู่แล้ว

เกษตรวิถีของคุณพ่อ

คุณพ่อจะมีผังการปลูกพืชผัก พืชยืนต้น พืชป่า เป็นผังแบบ “วนเกษตร” (วนเกษตร คือ หลักการทำเกษตรในพื้นที่ป่า คือการนำพืชไปปลูกแซมกับป่า การนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงและเก็บผลผลิตที่ได้จากป่ามาใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันระบบวนเกษตรนี้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศธรรมชาติซึ่งทำให้ป่าฟื้นฟูตัวเองได้อย่างยั่งยืน)ในช่วงที่พ่อเปลี่ยนจากการเกษตรแบบเคมีทั่วไปเป็นเกษตรอินทรีย์ในปี 2529 ช่วงนั้นเราอายุแค่ 6 ขวบแต่ว่าก็ได้ร่วมเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เราเห็นต้นไม้ในผังนี้เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน คุณพ่อจะเน้นความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลัก เช่น ไม้ผล ไม้ป่า ผักพื้นบ้านและผักเชิงเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือผักพื้นบ้านและผักตามฤดูกาล คุณพ่อสอนว่าเราต้องกินผักตามฤดูกาล ฝึกกินผักเหล่านั้นให้ได้และเราต้องเข้าใจวิถีที่เราเป็นอยู่ รวมทั้งต้องเข้าใจป่าเพราะป่ากับชุมชนต้องพึ่งพาอาศัยกัน นอกจากนี้ยังต้องหมั่นสังเกตและประยุกต์ตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติในป่าเพื่อมาปรับใช้ในสวนของบ้านอีกด้วย 

ชุมชนใน ต.แม่ทาเองก็ต้องอนุรักษ์ป่าชุมชนเอาไว้ด้วย เราใช้น้ำทางการเกษตรดังนั้นเรากับป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน ชุมชนแม่ทาเราโดดเด่นในเรื่องการจัดการป่าชุมชนและเกษตรกรรมยั่งยืน

เพราะอะไรทำไมคุณปุ้ยถึงเลือกทำอาชีพคัดเลือกเมล็ดพันธุ์

หลังจากที่เราทำงานมาใน Greennet ได้ 9 ปีเต็ม เราเองสนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์อยู่แล้วบวกกับพ่อย้ำเสมอกับเรื่องความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ต่อภาคการเกษตรและอยากทำต่อ และเราพอมีพื้นฐานจากที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยแม่โจ้มา เราเก็บตามวิถีชาวบ้านที่เขาทำต่อๆกันมา เริ่มต้นจากการใช้พื้นที่เล็กๆหลังบ้านที่เราอยู่ ตั้งแต่นั้นมาเราก็เน้นทำงานด้านเมล็ดพันธุ์มาตลอด

 

เมล็ดพันธุ์ ถั่วชมพูม่วงที่คุณปุ้ยเพาะเอง

ที่เราทำก็เพราะว่าเราอยากอนุรักษ์และรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจเอาไว้ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตทั้งหมดเป็นพันธุ์เปิดผู้ปลูกสามารถเก็บพันธุ์ต่อได้เพราะเรามองถึงเรื่องความยั่งยืน และเราอยากให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ อย่างเกษตรกรบ้านเราที่แม่ทาเขาชำนาญด้านการผลิตผักสด เราก็เลยอยากขยายให้เขามีรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราค่อยๆขยายไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ทำงานประเด็นนี้มาได้ 7 ปีแล้ว เราพยายามขยายความรู้และวิธีการให้คนรุ่นใหม่ซึ่งก็พอมีอยู่บ้างแต่ว่ายังไม่ได้มีจำนวนมาก ปัจจุบันนี้เราเปิดรับใครที่อยากมาเรียนรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายองค์ความรู้ไปให้ไกลขึ้น เราเปิดโอกาสให้ทั้งคนในชุมชนเองและคนนอกชุมชนรวมถึงชาวต่างประเทศด้วยที่บางทีเขามาศึกษาดูงาน เราเองอยากผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีมากที่สุด

การอนุรักษ์อาชีพนี้ไว้จะทำให้เรายังมีความหลากหลายทางอาหาร ยกตัวอย่างง่ายๆคือเราเองเคยตามหาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ที่เราเคยกินตอนเด็กๆแล้วรู้สึกว่าอร่อยมาก เราไปหาแม่อุ๊ย (ยาย) ที่เขามีเมล็ดพันธุ์เก็บไว้อยู่ เป็นเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่มีลักษณะคล้ายลูกฟักทองเล็ก ๆ มีเนื้อหนา เป็นมะเขือเทศที่คนภาคเหนือจะเอาลูกดิบ ๆ ไปทำเป็นแกงส้มใส่ปลา และสามารถกินได้เลยเมื่อเป็นลูกสุก เอาไปทำน้ำพริกอ่องก็ได้นะ นอกจากนี้เราได้เมล็ดพันธุ์แตงร้านที่เป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เป็นแตงร้านที่หอม กรอบ อร่อยมาก และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หายากมากเช่นกัน เราก็เอาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านทั้งสองนี้ที่ใกล้จะหายไปแล้วมาอนุรักษ์และเพาะต่อเพื่อเป็นพรรณพืชให้เกษตรกรไปขยายปลูกต่อๆกันไปเรื่อย ๆ นี่คือส่วนหนึ่งของหน้าที่นักคัดเลือกเมล็ดพันธุ์

มะเขือเทศที่ว่านี้เป็นพันธุ์ที่มีผิวเปลือกบางจึงไม่เหมาะกับการขนส่งทางไกล ในกรณีแบบนี้บริษัทเมล็ดพันธุ์จึงปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาให้มะเขือเทศมีเปลือกหนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ๆที่ต้องขนส่งพืชทางไกลนั่งเอง เพราะฉะนั้นมะเขือเทศตามห้างที่เราเห็นก็จะมีเปลือกหนา แต่รสชาติของมะเขือเทศจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

งานคัดเลือกเมล็ดพันธุ์

ช่วงสองปีแรกเป็นช่วงที่เรายังลองผิดลองถูกอยู่นะ เราเริ่มต้นจากลองหาพืชพรรณที่มีในชุมชน ค้นหาว่ายังมีพืชสายพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนเหลืออยู่มั้ยแล้วเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเราไม่ได้เอาพืชมาผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวแล้วจบ แต่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรารวมทั้งเกษตรกรใน ต.แม่ทาที่เราเคยทำงานด้วย

เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว

เมื่อเรามีกลุ่มเกษตรกรแล้วและได้ทำงานเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยกัน เราเลยมองเห็นโอกาสว่าอยากรวมกลุ่มเกษตรกรไปศึกษาการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มเติมกับ ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเริ่มตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เราพยายามสะสมความรู้ ประสบการณ์จากการผลิตเมล็ดพันธุ์ จนกระทั่งในปีที่ 3 ของการทำศูนย์เรียนรู้ ปีนั้นเป็นปีที่เราเริ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ในตอนนั้นเราผลิตจำนวนได้ไม่เยอะ เราปลูกพืชผักชนิดละไม่กี่แปลงดังนั้นเมล็ดที่ได้ก็จะมีไม่กี่กรัมต่อชนิด ตอนนี้เราได้องค์ความรู้เพิ่มเติมว่าเราจะเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างไรให้ได้คุณภาพที่ดีมากขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้นหากเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึง “การเก็บเมล็ดพันธุ์”

เราคิดว่าเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านบางชนิดเขามีความสำคัญ บางชนิดมีความแข็งแรงและสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่เจริญเติบโตได้ ถึงแม้ว่าจะได้สามารถผลิตผลผลิตให้ได้จำนวนมากเท่าเมล็ดที่ปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว แต่เขาก็อยู่กับชุมชน ต้านทานโรคแมลงได้ สร้างความหลากหลายให้กับชุมชนอีกด้วย และเราคิดว่าพืชพื้นบ้านเหล่านี้จะมีจุดเด่นคือสรรพคุณที่เป็นสมุนไพรอยู่ในตัว ยิ่งบ้านเรา(ภาคเหนือ) ผักสมุนไพรเยอะ ทำแกงแคหม้อหนึ่งได้กินสมุนไพรเยอะมาก ๆ ซึ่งทำให้เราได้รับสารอาหารที่หลากหลายไปในตัว

แต่ถ้าเราไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกต่อได้แล้ว เราต้องซื้อจากบริษัทใหญ่ๆมาเท่านั้น (ซึ่งมันก็เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วนะ แค่ที่ผ่านมาในไทยยังไม่วิกฤตเท่าประเทศอื่น) เราคิดว่าอย่างแรก คืออาชีพเกษตรกรรายย่อยหรือบริษัทขนาดเล็กแบบชาวบ้านรวมตัวกันทำเองโดยทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ก็คงไม่มีแล้ว ข้อสองคือ เราจะสูญเสียเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะจะถูกจำกัดให้ปลูกแค่พืชเศรษฐกิจที่เขากำหนดมาเท่านั้น ข้อที่สามคือ เรื่องของความมั่นคงทางอาหารก็จะลดลงตามเนื่องจากเกษตรกรถูกจำกัดสิทธิ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรยังจะเพิ่มขึ้นด้วยนะเพราะจากที่เขาสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เองได้แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องซื้อเท่านั้น

คุณพ่อพูดกับเราอยู่ตลอดถึงเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและความสำคัญของเมล็ดพันธุ์กับเกษตรกร การเกิดศูนย์เรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์นี้เราคิดว่าก็น่าจะดีต่อเกษตรกรและสังคมของเรา สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันอาจดูเล็กน้อย เราไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มาก อย่างเมล็ดพันธุ์บางชนิดที่ไทยเราผลิตไม่ได้ไทยเราก็ยังต้องนำเข้ามา เรื่องการรณรงค์ให้คนเข้าใจถึงการกินอย่างยั่งยืนก็ยังไม่ได้ลงลึกมาถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งผู้บริโภคปลายทางก็อาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด คนที่ไม่ได้คลุกคลีกับการเกษตรก็จะถูกตัดขาดออกจากวงจรการปลูกการเก็บเกี่ยวผลิตผลไปเลย

เกษตรกรรมที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่การปลูกแล้วเอาไปขาย แต่คือการทำให้วิถีเกษตรกรรมและเกษตรกรยังมีอยู่

การที่เราจะทำให้เกษตรกรรมและวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยยังคงอยู่นั้นมีปัจจัยหลายๆอย่างรวมกัน ไม่ใช่แค่การปลูกเพื่อเอาไปขายแล้วจบ ที่ต.แม่ทาเราขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรกันทั้งตำบล งานของเราถูกเชื่อมโยงกันโดยอัตโนมัติ แม่ทาเองโชคดีด้วยที่มี อบต.ที่สนับสนุนการพัฒนาชุมชน 15 ปีที่ผ่านมา อบต.ที่นี่สนับสนุนการขับเคลื่อนของชุมชนได้ดีมาก ทำให้ไม่ว่าเกษตรกรจะทำอินทรีย์หรือปลูกพืชผักแบบทั่วไป เราก็ยังขับเคลื่อนงานไปด้วยกันได้โดยที่ใครอยากเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์เราก็ยินดีต้อนรับเสมอ เรียกได้ว่าไม่มีข้อขัดแย้งกันในชุมชน ตอนนี้เรามีทั้งงานส่วนตัวคือการผลิต คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เราทำวนเกษตรและเราร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนเกษตรกรในแม่ทา ทั้งสามส่วนมีความสำคัญเท่ากันหมดและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราอยากพูดถึงเรื่องที่ดิน เราเป็นห่วงว่าหากที่ดินที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมถูกขายให้กับอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ทั้งหมด อำนาจในการผลิตก็จะตกไปอยู่กับอุตสาหกรรมใหญ่ ถึงตอนนั้นวิถีการเกษตรแบบชุมชนก็คงล่มสลาย อาหารจะไปอยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ เราทำได้แค่ทำงานหนักเพื่อเอาเงินไปซื้ออาหารซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เราเองมองเห็นเรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่สำคัญ ชุมชนของเราพยายามปลูกฝังให้คนรักที่ดินของตัวเอง ชุมชนเราทำกองทุนเพื่อซื้อที่ดินของคนที่ไม่มีลูกหลานทำเกษตรกรรมต่อ หรือมีที่ดินแล้วอยากขาย ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ที่ดินก็อาจจะหลุดไปอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ หรือคนที่ไม่ได้เข้าใจชุมชน ที่สำคัญชุมชนเรามีพื้นที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติเราจะมีกฎระเบียบภายในชุมชนคุมอีกทีเพื่อป้องกันการขายให้คนนอกชุมชนและป้องกันการขยายพื้นที่เพิ่มของคนในชุมชนเอง

“คำว่าเกษตรยั่งยืนในความคิดของเราเรามองว่ามันคือวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางด้านอาหาร ความสัมพันธ์นี้จะเอื้อต่อวัฒนธรรม การกินอยู่และการดำรงชีวิตของคนเรา เกษตรยังยืนทำให้สังคม สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้พร้อม ๆ กัน” 

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม