นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนียต้องรับมือกับไฟป่าครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถึงเช่นนั้น ก็ยังคงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจกับประเด็นต้นตอของการเกิดไฟป่าเท่าที่ควรทั้งที่ต้นเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่าในครั้งที่ผ่านมาอาจทำให้ไฟป่าในครั้งต่อไปหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเดิม ไฟอาจลุกลามได้ไวยิ่งขึ้น และอาจเป็นภัยกับทั้งผู้คนและผืนป่าซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ บทความนี้เราจะพูดถึงเบื้องหลังของสาเหตุไฟป่าแคลิฟอร์เนีย

เหตุการณ์ไฟป่าในปีนี้ ได้ทุบสถิติไฟป่าครั้งทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และขึ้นแท่นเป็นไฟป่าครั้งที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งของรัฐ ไฟป่าทำลายพื้นที่ไปมากกว่า 2.5 ล้านเอเคอร์ (หรือประมาณ 6.3 ล้านไร่) ส่งผลให้ผู้คนหลายหมื่นต้องทิ้งบ้านตนไว้เบื้องหลังเพื่ออพยพไปพื้นที่หลบภัยในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งการเว้นระยะห่างจากผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนหน้านี้ไฟป่าครั้งที่ร้ายแรงที่สุดได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 รู้จักกันในชื่อ “แคมป์ ไฟร์เออร์” (Camp Fire) เกิดขึ้นในเขตแคลิฟอร์เนียร์เหนือ และในปีเดียวกันนั้นเอง ไฟป่า “วูลซีย์ แอนด์ ฮิลล์” (Woolsey and Hill fires) ก็ได้ทำลายป่าอีกแห่งในเขตดังของรัฐแคลิฟอร์เนียใต้อย่างมาลิบูและเวสต์ฮิลล์ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากมาย อีกหลายร้อยสาบสูญ และบ้านเรือนอีกหลายพันถูกทำลายไปในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น

การรายงานข่าวผ่านสื่อต่างพุ่งประเด็นความสำคัญไปที่ความพยายามในการดับไฟป่าที่ลุกโชน แต่กลับให้ควารมสนใจน้อยมากในประเด็นต้นเหตุที่ส่งผลให้เกิดไฟป่า หรือแม้กระทั่งว่ามีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและผืนป่าอย่างไรบ้างก็แทบไม่มีให้เห็น

ที่แย่กว่านั้นคือ นักการเมืองบางคนและกลุ่มบริษัทกลับเผยแพร่ข้อมูลและการแก้ปัญหาผิดๆ ออกไปในช่วงที่ไฟป่ากำลังลุกลามไปทั่ว เพื่อฉวยโอกาสควบคุมอำนาจในจังหวะชุลมุนฉุกเฉิน และผลักดันนโยบายที่เป็นภัยกับธรรมชาติมากยิ่งกว่าที่เคย ประธานาธิบดีทรัมป์และกระทรวงมหาดไทยได้แต่กล่าวย้ำซ้ำไปซ้ำมาว่าอุตสาหกรรมป่าไม้พยายามปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มการตัดไม้ในพื้นที่สาธารณะโดยใช้เงินอุดหนุนจากภาษี

ต้นต่อของการเกิดไฟป่าต่อไปนี้ไม่ใช่การวิเคราะห์เหตุการณ์ในครั้งนี้หรือครั้งล่าสุดที่ผ่านมา แต่เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มที่ส่งผลกับป่าไม้และไฟป่าที่เกิดขึ้นในพักหลังมานี้อย่างไรบ้าง

ไฟป่าโซเบอร์รีนส์ ในเขตอลาเมดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ปี พ.ศ. 2559 © Alameda County Fire

อุตสาหกรรมป่าไม้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่า

ถึงอุตสาหกรรมป่าไม้จะคอยพร่ำบอกเสมอว่า การตัดไม้เป็นเสมือนการช่วย “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” แต่กลับขัดแย้งกับผลวิจัยที่ออกมาอย่างชัดเจน เมื่อผลการวิจัยชี้ว่าตัวอุตสาหกรรมป่าไม้เองที่ส่งผลกับความปลอดภัยของชุมชน การตัดไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมากออกไปเท่ากับการเพิ่มไฟป่าและอัตราความเสี่ยงในการเกิดไฟ ไม้เหล่านั้นมีความทนไฟและสร้างร่มเงา การตัดไม้ที่มีอายุมาก เป็นการเปิด “หลังคา” ของป่าไม้ออก และทำให้พื้นที่ป่าร้อนและแห้งขึ้น ซึ่งก็คือสาเหตุของการเกิดไฟป่า เศษไม้และกิ่งไม้ของไม้ที่ถูกตัดไป หรือเรียกว่าการ “ถูกเฉือน” ก็คือเชื้อเพลิงไฟป่าชั้นดีที่ตกอยู่ตามพื้น รอวันที่จะถูกจุดขึ้นมา

ซ้ำแล้ว อุตสาหกรรมป่าไม้ยังมีความจำเป็นในการใช้ถนนเพื่อการขนส่งอีกด้วย มีถนนเก่าแก่มากมายหลายร้อยเส้นที่เคยถูกใช้สำหรับการขนส่งไม้ถูกทิ้งร้างเอาไว้ในเขตป่าของสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นอีกหนึ่งชนวนไฟป่าและเป็นพื้นที่รกรุงรังของวัชพืชซึ่งเพิ่มอัตราการเกิดไฟป่าจากตัวมนุษย์เองทั้งแบบไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจ นอกจากนั้นมาตรการเงินอุดหนุนจากภาษีเพื่อตัดไม้ในเขตรัฐและอุตสาหกรรมตัดไม้ในพื้นที่เอกชนที่เกิดขึ้นได้ทิ้งความเสียหายครั้งใหญ่ให้คนรุ่นต่อไปไว้เป็นมรดก

ทางแก้ปัญหา: U.S. Forest Service and Bureau of Land Management (กรมป่าไม้และสำนักงานบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐอเมริกา) ควรลดอัตราการใช้ภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป่าลง และย้ายงบมาสนับสนุนการจัดหางานและการฟื้นฟูระบบนิเวศแทน รวมถึงการป้องกันการเกิดไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

กรมป่าไม้และสำนักงานบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐอเมริกาไม่ได้พูดถูกไปเสียทั้งหมด

กลยุทธ์การ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ไม่เคยใช้ได้ผลสักครั้งในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเพิ่มเชื้อเพลิงให้ไฟป่าด้วยซ้ำ ป่าหลายแห่งในเขตตะวันตกสามารถทำให้ไม่มีไฟป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ ด้วยกลยุทธ์การดับไฟที่ใช้  ซึ่งโดยปกติไฟป่าธรรมชาตินี้จะต้องเกิดขึ้น เพราะตามหลักนิเวศวิทยาแล้ว ป่าจำเป็นจะต้องถูกเผาไหม้ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมาเพื่อรักษาสมดุลของวงจรชีวิตแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตายเอาไว้ เราควรปกป้องผู้คนและทรัพย์สินเอาไว้เพียงแค่นั้น และหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงวงจรธรรมชาตินี้ เพื่อปล่อยให้ป่าที่ต้องการเกิดใหม่ได้งอกงามและเติบโตตามที่ควรเป็น

ไฟป่าไม่ได้คร่าชีวิตของผืนป่าเพียงอย่างเดียว แต่ได้มอบหลายอย่างกลับคืนให้ผืนป่าด้วยเช่นกัน ไฟป่าช่วยดูแลให้ผืนป่าอุดมสมบูรณ์และรักษาวัฏจักรชีวิตของผืนป่าเอาไว้ให้ยั่งยืนมานานกว่าพันปีก่อนที่คนจะเข้ามา มาตรการการดับไฟป่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งตอนนี้กำลังเรียกร้องให้ตนได้รับอนุญาตให้ได้ตัดไม้เพิ่มด้วยเหตุผลน่าขันอย่างการทำไปเพื่อช่วยดูแลรักษาป่า

ทางแก้ปัญหา: หันมาให้ความสำคัญกับการดับไฟป่าเพื่อช่วยปกป้องชีวิตผู้คนและทรัพย์สินเมื่อเกิดไฟป่าแทนการนำชีวิตของนักดับเพลิงเข้าไปเสี่ยงและการผลาญภาษีไปกับการดับไฟป่าที่ไม่ได้เป็นภัยกับชุมชน ปล่อยให้ไฟได้มอดไหม้ต่อไปเพื่อให้เกิดวงจรชีวิตการเกิดใหม่ของป่า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับป่าไม้ตามหลักของระบบนิเวศวิทยา เช่นต้นไม้เมื่อแห้งตายแล้ว (Snag Forest) จะกลายเป็นบ้านของสัตว์ป่าหลายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น นกฮูกสีเทา นกฮูกด่างแคลิฟอร์เนีย และนกหัวขวานหลังดำ

วิวของสะพานโกลเดนเกตที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน

แต่กรมป่าไม้และสำนักงานบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐอเมริกาก็มีส่วนที่พูดถูกด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือแห้งมากเพียงไหนก็ตาม ไฟป่าไม่สามารถติดขึ้นมาเองได้โดยธรรมชาติ ชนวนไฟจำเป็นจะต้องถูกจุดขึ้นมาเสียก่อน เช่นในธรรมชาติจะมีฟ้าผ่าที่เป็นเสมือนการจุดชนวนซึ่งมักจะมาพร้อมกับสายฝน ในทางกลับกัน กิจกรรมของมนุษย์ต่าง ๆ เช่นการไปตั้งแคมป์ การทิ้งก้นบุหรี่ และประกายไฟจากโซ่ผูกรถลากเมื่อถูกลากไปตามพื้น ก็ถือว่าเป็นการจุดชนวนไฟป่าได้อย่างง่ายๆ สิ่งก่อสร้างจากเขตเมือง เช่น ระบบสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ชนวนไฟที่เกิดจากมนุษย์มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาของปีที่การจุดชนวนโดยธรรมชาติแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย (เช่นสภาวะแล้งจัดในช่วงพายุฟ้าผ่าเกิดขึ้นน้อยมาก) ด้วยความ “ชำนาญ” ของมนุษย์ในการจุดชนวนไฟป่าทำให้อัตราการเกิดไฟป่า 80% ที่ผ่านมาในเขตอเมริกาตะวันตกล้วนแล้วมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น

ทางแก้ปัญหา: ลดกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจเป็นการจุดชนวนไฟป่าโดยการปิดและนำถนนขนไม้เก่าออกไป และเริ่มให้ความรู้กับผู้คนในหัวข้อนี้ นอกจากนี้หน่วยงานก็ควรส่งสารของเขาไปให้บริษัทและรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขารับผิดชอบต่อสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่อาจจุดชนวนไฟป่าได้โดยตรง

วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปัญหาทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นมาหนักหนาขึ้นไปอีก

เราไม่สามารถพุ่งเป้าไปที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศว่าเป็นต้นเหตุอย่างเดียวของการเกิดไฟป่าได้ ถึงแม้ภาวะโลกร้อนจะมีส่วนทำให้อากาศในสหรัฐอเมริกาตะวันตกร้อนและแห้งยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ไฟป่าร้ายแรงมากขึ้นและมีฤดูไฟป่าที่ยาวนานมากกว่าเดิม มิหนำซ้ำยังเพิ่มขนาดรัศมีของไฟป่าอีกด้วย อีกทั้งยังขยายตัวไปบริเวณรอบๆ ได้ไวขึ้น บวกกับการตัดไม้ทำลายป่ามานานนับสิบปี การสร้างถนน และวิธีการดับไฟป่าที่ใช้อาจทำให้ไฟป่าในอนาคตรุนแรงจนไม่สามารถรับมือได้เลยทีเดียว

ทางแก้ปัญหา: อนุรักษ์ผืนป่าธรรมชาติเอาไว้ โดยยุติการขยายการขุดหาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นการป้องกันไม่ให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศแย่ลงไปกว่าเดิม

การพัฒนาพื้นที่ของมนุษย์

สาเหตุที่ต้นทุนในการดับไฟป่าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจากการพัฒนาพื้นที่ของมนุษย์ที่ขยายเข้าไปในเขตเสี่ยงไฟป่า เมื่อมีที่อยู่และสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ร้อน (Hot-Zone) มากขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการการดับไฟป่าที่เข้มข้นขึ้นเช่นกัน สิ่งปลูกสร้างในเขตเสี่ยงไฟป่าจำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้ป้องกันและดูแลรักษาได้หากเกิดไฟป่า ไม่ต่างจากการสร้างบ้านเรือนในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงหรือพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว

ทางแก้ปัญหา: วางแผนการพัฒนาขยายพื้นที่อย่างไตร่ตรองและเตรียมพร้อมกับการรับมือไฟป่า รวมถึงปรับเปลี่ยนให้มีกฎการใช้องค์ประกอบสร้างบ้านที่ได้มาตรฐานเพื่อการปกป้องบ้าน (หรือเรียกว่าการสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างบ้าน) นอกจากนั้น คือการหันมาให้ความสำคัญกับการ “เผาตามกำหนด” (Prescribed Burns) และการนำน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากบริเวณที่อยู่อาศัยและบริเวณโดยรอบหากมีความจำเป็น เราควรหันมาลงทุนกับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ความปลอดภัยกับทั้งชีวิตคนจนและคนรวยอย่างเท่าเทียม การป้องกันคือสิ่งที่ควรค่าแก่การลงทุนมากที่สุดเพื่อดูแลชีวิตเพื่อนมนุษย์ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าง และเป็นการใช้เงินภาษีคุ้มค่า แทนการตามดับไฟเมื่อเกิดอัคคีภัยเกิดขึ้นแล้ว

วิธีการดับไฟป่าได้เปลี่ยนไป แต่กลับเปลี่ยนไปใช้วิธีการที่มีการเผาป่ามากขึ้น

ที่ผ่านมา วิธีการดับไฟป่าถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยี และหลักการวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด หรือแม้กระทั่งแปรเปลี่ยนไปตามประเด็นการเมือง การรับมือกับไฟป่าของรัฐบาลเคยเป็นวิธีการเข้าจัดการไฟโดยตรง ซึ่งทั้งใช้งบสูงและเป็นอันตรายอีกด้วย แต่ทว่าในตอนนี้ มีนโยบายแบบไม่เป็นทางการแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ เรียกว่า “แบคออฟ แอนด์ แบคไฟเออร์” (Back Off and Backfire) เข้ามาแทนที่การดับไฟป่าแบบเก่าแล้ว

วิธีการดับไฟป่าโดยการเผากลับ (Backfire) คือการที่หน่วยดับไฟป่าจุดไฟเผาเชื้อเพลิงป่าเอาไว้เสียก่อน เมื่อไฟป่ามาถึงพื้นที่นั้น ก็จะไม่เหลือเชื้อเพลิงสำหรับการมอดไหม้อีกต่อไป โดยส่วนหนึ่งของปริมาณไฟป่าที่เกิดขึ้นก็มาจากการเผากลับเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ด้วยการดับไฟป่าโดยการเผาป่าเพิ่ม ถึงอย่างนั้นขนาดรัศมีของไฟป่าที่สื่อรายงานมักไม่ระบุว่าเพลิงบางส่วนก็มาจากวิธีการที่ใช้ในการดับไฟป่านั้นเอง

ทางแก้ปัญหา: เนื่องจากมีไฟสองประเภท รัฐบาลสหรัฐควรคอยติดตามและรายงานความแตกต่างของไฟจริงและไฟที่มาจากการเผากลับ (รู้จักกันในนามไฟเพื่อการดับไฟ หรือ Supression Fires) นอกจากนั้นรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่นควรระดมทุนในการศึกษานิเวศวิทยาในส่วนของผลกระทบจากการจัดการไฟป่าด้วยการเผากลับเพื่อการจัดการไฟป่าที่ดีขึ้นในอนาคต

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม