สำหรับคนที่รู้จักกับกรีนพีซและได้ร่วมงานอาสาสมัครกับกรีนพีซมาสักระยะหนึ่ง บอกได้ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักกับผู้หญิงคนนี้ ปุ๊ก-ผณิตา คงสุข หลายคนได้รู้จักกับเธอผ่านงานกิจกรรมแนวสันติวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรือ การปีน หรือการร่วมเดินขบวนกับกลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รู้จักกับเธอคือการเรียนรู้รูปแบบการรณรงค์แบบสันติวิธี เธอคือครูผู้ฝึก เป็นอาสาสมัครสาวแกร่งที่ถ่ายทอดความอ่อนโยนผ่านทางการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ทำให้เราอยากพูดคุยกับเธอเป็นพิเศษคือ การที่เธอเป็นอาสาสมัครที่อยู่ร่วมกับกรีนพีซมาตลอดช่วง 20 ปี ซึ่งยาวนานเท่ากับครึ่งหนึ่งของช่วงชีวิตเธอ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอยังคงทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครมายาวนานเช่นนี้

ตลอดเรื่องราวบทสนทนาที่เธอเล่า เธอบอกย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า การเป็นอาสาสมัครไม่ได้ทำให้อัตตาเราใหญ่ขึ้นหรือสำคัญขึ้นเพียงเพราะเราได้ช่วยเหลือคนอื่น ทว่ากลับทำให้ตัวเราเล็กลงมาก ในทางกลับกันหัวใจพองโตขึ้น เราอยากชวนให้ไปร่วมกันหาคำตอบว่าเพราะอะไรกิจกรรมอาสาสมัครจึงหล่อหล่อมให้เธอเป็นเช่นนั้น

ปุ๊กเปิดบ้านในสวนที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เชื้อเชิญแขกหน้าประจำอย่างพวกเราเข้าไปพูดคุย สิ่งแรกที่เตะตาเราเป็นพิเศษคือกระเป๋าผ้าสีเหลืองตัวอักษรสีดำที่รีไซเคิลจากป้ายผ้าเก่าที่เคยใช้ในงานรณรงค์ในอดีต เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกรีนพีซ เธอบอกกับเราว่า “วิธีการทำงานของกรีนพีซต่างจากที่อื่น ด้วยกิจกรรมของกรีนพีซทำให้เราได้เห็นความแตกต่าง….”

จุดเริ่มต้นการเป็นอาสาสมัครกรีนพีซของปุ๊กคือเมื่อปีค.ศ.2000 (2543) หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้วในปีที่กรีนพีซประเทศไทยเริ่มก่อตั้ง ในตอนนั้นเธอยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่สาม เธอบอกกับเราว่าตอนนั้นไทยยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าอาสาสมัคร หรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก แต่แรงบันดาลใจของเธอเป็นแค่ความคิดเล็ก ๆ ว่า “เราเริ่มเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากรอบ ๆ ตัวเรา ขยะเยอะ ทิ้งขว้างกัน เออ เราน่าจะเป็นคนนึงที่ทำอะไรได้ และน่าจะเป็นคนนึงที่ช่วย และโชคดีที่ออฟฟิศกรีนพีซอยู่ใกล้บ้าน เราขออาสาเข้าไปทำว่ามีอะไรเราพอช่วยทำได้บ้าง”

ในสายตาปุ๊ก กรีนพีซตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง? “ตอนนั้นกรีนพีซยังอยู่ในระดับเล็ก ๆ สตาฟก็ยังไม่เยอะ เรามีโอกาสได้พูดคุยเรื่องประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราไม่สามารถพูดคุยได้เชิงลึกกับคนทั่วไป ได้คุยว่าตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปถึงไหน และทั่วโลกเขาทำอะไรกันบ้าง และเราก็ได้แชร์ข้อมูลว่ากรีนพีซจะสามารถเข้ามาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรในประเทศไทยได้บ้างด้วย หลังจากนั้นก็ได้รู้จักและฝึกฝนการรณรงค์แบบสันติวิธี 

“การรณรงค์แบบสันติวิธีทำให้กรีนพีซต่างจากองค์กรสิ่งแวดล้อมอื่นอย่างไรบ้าง” เราถาม 

“ในช่วงปี 2000 บ้านเราก็ยังไม่ค่อยรู้จักการรณรงค์แบบสันติวิธี เราได้เห็นความต่างเวลาที่เราไปเผชิญหน้ากับปัญหา หรือกับองค์กรหรือบริษัทอะไรที่เขากำลังทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ แต่เราจะไม่ใช้ความรุนแรงทุกวิถีทาง พอเราได้ทำกับสถานการณ์จริง ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นมาก แต่พอเราได้ผ่านกิจกรรมหลาย ๆ ครั้ง ความกลัวจะค่อย ๆ หายไป เราได้เข้าใจคนที่เขาอยู่ตรงข้ามกับเรามากขึ้น เราจะยิ่งนอบน้อมกับเขา ทำให้เราทำงานรณรงค์ได้แบบเข้าใจมนุษย์เพิ่มขึ้น” 

ปุ๊กเล่าเสริมว่า ตอนนั้นเขารณรงค์เรื่องจีเอ็มโอ (GMOs) ช่วยกันทำเพททิชันเรียกร้องให้ออกกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอ เรานำเอาไปแจกจ่ายเพื่อนฝูง พูดคุยรณรงค์ให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของเรา กระบวนการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น การตัดมะละกอ หรือเอาตัวไปขวาง ทำให้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม ช่วยให้เกิดการสื่อสาร

GE Papayas Action in Bangkog. © Greenpeace / Vinai Dithajohn
Activists dump papayas outside the main gate of the Ministry of Agriculture and Cooperatives (MoAC) to remind the government of the legacy of genetic contamination. A banner reads in English and Thai ‘No to GMOs field trials’. © Greenpeace / Vinai Dithajohn

“มะละกอที่เราไปทำลาย คือแปลงมะละกอที่เขากำลังทดลองการทำจีเอ็มโอ เราอยากให้เขาหยุดเพราะเราไม่รู้เลยว่าจีเอ็มโอจะมีผลกระทบกระจายไปทั่วขนาดไหน และคนที่เสียประโยชน์เองก็คือ เกษตรกรที่นำเอาพันธุ์จีเอ็มโอไปใช้ต่อ มีประเด็นเรื่องสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นประเด็นสากลที่ทั่วโลกกังวล” 

แล้ววิธีการแบบนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม?

“พอเราได้อยู่มาในระยะ 20 ปี เราได้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในรูปแบบที่เปลี่ยนไป แล้วก็เปลี่ยนมา มันไม่ได้หายไปเลย แต่อิมแพคสำคัญที่เกิดขึ้นคือทำให้สังคมได้เรียนรู้ไปร่วมกัน ถ้าปัญหานั้นจะกลับมาอีกก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรายังมีวิธีการทำงานบริหารหรือการจัดการประเทศในรูปแบบเดิม ๆ ไม่แตกต่างอะไรไปจากเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนจริง ๆ คือตัวเรา เราจะเป็นหนึ่งคนที่จะยืนหยัดรักษาสิ่งแวดล้อมไว้”

“เราได้ฝึกฝนตนเองให้กล้าหาญ กล้าที่จะออกไปอยู่แถวหน้าเพื่อที่จะบอกเขาว่าเขาทำลายสิ่งแวดล้อมยังไง ทำไมเราต้องหยุด สิ่งที่เราทำในวันนี้อาจจะส่งผลต่อทรัพยากรในอนาคตของลูกหลานเราก็ได้”

กว่าจะมาเป็นปุ๊กในทุกวันนี้ ครึ่งชีวิตของเธอได้ร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับกรีนพีซ เธอมองย้อนไปในตัวตนในอดีตก่อนที่จะรู้จักกับกรีนพีซ และบอกกับเราว่า “สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนหลากหลายมากขึ้น แลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่รักสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เจอกับชุมชน และคนที่ทำงานในประเทศอื่น ๆ ทำให้โลกทัศน์เราเปลี่ยนไป เราไม่ได้หัวเดียวกระเทียมลีบ” ซึ่งนั่นคงเป็นใจความสำคัญของการรวมพลังกันของอาสาสมัครที่ทำให้เราเห็นถึงพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

“อาสาสมัครทำให้กิจกรรมไร้รูปแบบ มีกำลังคน มีกำลังความคิดที่หลากหลาย ไม่อยู่ในกรอบ มาช่วยสร้างสรรค์การทำงาน”

20 ปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้ทำงานรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมมาแล้วนับไม่ถ้วน และแทบจะทุกครั้งที่มีกิจกรรม ผู้ที่ขับเคลื่อนสำคัญที่สุดคืออาสาสมัคร แต่สำหรับคนที่ผ่านงานมาเยอะจนยากที่จะจำได้อย่างปุ๊กนั้น เมื่อเราถามว่าเธอประทับใจกับกิจกรรมใจมากที่สุด เธอจึงใช้เวลาสักพักในการเลือกตอบ 

“จริง ๆ แล้วก็มีหลายกิจกรรม แต่ที่ทำให้เราจดจำและใจฟูมาก คือ กิจกรรมรณรงค์เรื่องจีเอ็มโอ เราไปดักเรือขนถั่วเหลืองจีเอ็มโอเข้ามาเพื่อทำอาหารแปรรูป โดยมีบริษัทใหญ่นำเข้า เราไปเขียนข้างเรือว่า ‘No GMO’ เราแค่ทำให้คนเห็นว่าจีเอ็มโอถูกนำเข้ามามหาศาล เอามาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราไม่รู้ เพราะประเทศเราไม่ได้มีการออกกฎหมายติดฉลากให้เราเห็นว่าอันนี้ผสมจีเอ็มโอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอาหารของเด็ก เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อแม่ป้อนอะไรให้เขากิน” 

วิธีการทำงานของเราคือสิ่งที่ปุ๊กประทับใจ “เราเอาเรือยางลำเล็ก ๆ ไปขวางเรือลำใหญ่ เราเหมือนจะต้องกลัวเรือลำใหญ่ ๆ ที่จะพุ่งเข้ามา แต่เรากลับรู้สึกว่า เข้ามาเหอะ และเราก็ไปเขียนข้างเรือ เราทำสิ่งเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประสบการณ์ชีวิตเรา เรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร” และกิจกรรมนี้ปุ๊กบอกว่า เป็นสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เราทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อคนอื่นมากขึ้น 

กลัวไหมที่จะถูกจับและถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกฎหมาย?

เธอตอบอย่างไม่คิดว่า “ถ้าเป็นประเด็นส่วนตัวเราก็อาจจะกลัว แต่ถ้าเป็นประเด็นสาธารณะเราไม่กลัว เพราะเรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร และเรามีข้อมูลบอกอยู่แล้วว่า ถ้าถูกจับเราจะต้องทำยังไงบ้าง กฎหมายไม่ใช่ว่าจะคาดโทษเอาผิดกับเราได้อย่างเดียว เรามีวิธีที่จะสู้และป้องกันตัวเองได้ และเราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว”

ถ้าเช่นนั้นอยู่เฉย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องเสี่ยงอะไร

“การทำกิจกรรมอาสาสมัครทำไปเพื่อที่เราจะได้ไม่เห็นแก่ตัวกับโลกนี้มากขึ้น เราใช้ทรัพยากรทุกวัน เราก็ควรที่จะให้อะไรกลับไปบ้าง นี่เป็นวิธีคิดแรก ๆ ที่เรามีตอนที่เราเริ่มทำงานอาสามัครกับกรีนพีซ

เราอยากจะแสดงพลังที่ไม่ได้คิดว่าเป็นการท้าทายกฎหมายหรืออะไร แต่เป็นพลังที่อยากให้คนเห็นว่าจะมีแต่เรื่องทำลายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีวิธีดูแลป้องกัน เพราะทรัพยากรไม่ใช่ของเราแค่คนเดียว เป็นของทุกคน รวมไปถึงคนยุคต่อไปด้วย”

ตอนนี้ยังกล้าเสี่ยงที่จะออกไปไหม

“ตอนนี้เรี่ยวแรงน้อยลง แต่ถ้าจะให้เข้าไปมีบทบาท เช่น จะไปปีน เราไปเป็น Rope Guard (คอยดูแลเชือก) ให้ได้ ถ้าศักยภาพในตัวเรายังพอทำได้ ใจเราไม่ได้ถอยลงเลย แค่เปลี่ยนวิถี”

เรายังได้พูดคุยกับปุ๊กถึงประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครในประเทศอื่นนอกเหนือจากในไทย ด้วยความที่กรีนพีซเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ทำงานประเด็นสากล เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้มีพรมแดนแต่อย่างไร สำหรับปุ๊กเธอมองอย่างไร กับการที่เธอเป็นคนไทยแต่ไปช่วยในประเด็นสิ่งแวดล้อมของประเทศอื่น 

“ตอนนั้นปี 2006 กรีนพีซชวนอาสาสมัครจากทั่วโลก ไปรณรงค์เรื่องการทำลายป่าของอุตสาหกรรมป่าไม้ เราไปทำ Forest Rescue Station-สถานีเฝ้าระวังป่า อยู่ลึกมาก ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปประเทศนี้ต้องไปยังไง แต่ข้อมูลเดียวที่หาเจอคือ ประเทศนี้เป็นประเทศที่กินคน ก็รู้สึกว่า ตายละ เราต้องเดินทางไปประเทศนี้ แต่การที่เราลบความกลัวว่า เราจะไปเจอนั่น ไปเจอนี่ ไปเจอมนุษย์กินคนฉันจะทำอย่างไร ออกไปไม่ได้ .. เราก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็ไม่ค่อยกลัว แต่กลับเป็นว่าได้เปิดหูเปิดตา ได้เรียนรู้ได้เห็นจริง การได้ไปปาปัวก็เป็นเหตุผลที่ว่าเราอยากมาอยู่บ้านที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น”

ปุ๊กเล่าเพิ่มเติมว่า ชนเผ่าที่อยู่ที่นั่นเป็นชนเผ่าที่เชิญกรีนพีซให้เข้าไปช่วย เพราะบ้านเขากำลังถูกทำลายจากการทำลายป่า ได้ไปอยู่ร่วมกับชุมชน เรียนรู้เรื่องการจัดการป่าไม้ และนำเอาริบบิ้นไปผูกต้นไม้ว่า ไม่ให้ตัดต้นไม้เหล่านี้ นี่เป็นเขตแดนของเผ่านี้ เธอได้ไปอยู่เป็นเดือน มีโอกาสฝึกฝนการเดินป่าฝนที่จำเป็นต้องแบกอุปกรณ์อย่างเสื่อหนึ่งผืน มุ้งหนึ่งหลัง และเดินป่าทุกอาทิตย์เพื่อตั้งแคมป์กลางป่าเพื่อนอนชั่วคราว บริโภคอาหารป่า และได้ไปทำกิจกรรมบนถนนเพื่อขัดขวางบริษัทที่ลากซุงจากการทำลายป่าออกไปยังถนน กิจกรรมครั้งนั้นทำให้เธอได้รับฉายาที่รู้จักกันในคนกรีนพีซว่า “ปุ๊ก ปาปัว” แต่เรื่องที่ประทับใจไม่ใช่แค่นั้น

เธอขำเล็กน้อยแก้เขินและตอบเราว่า “ทุกวันนี้ทุกคนก็ยังเล่าลือกันว่า ได้รับจดหมายรักจากหัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง เขียนว่า Pookpook, I love you. ถ้ามีโอกาสอยากให้กลับมาอีก ซึ่งตอนนั้นเราช็อค เราอ่านจดหมายไม่รู้เรื่อง เหมือนคนกำลังอกหักหนัก ๆ เขียนมา หัวหน้าเผ่าเขาพายเรือมาส่งที่สนามบินแล้วยื่นจดหมายให้ ซึ่งตอนที่เราทำงานนั้นเขาก็มาเยี่ยมเราที่แคมป์ และ Camp Manager ก็บอกกับเราว่า ‘ปุ๊ก นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติ เขาไม่เขียนจดหมายหาผู้หญิงนะ’ และเขาก็เอากล้วยไม้ที่ขุดมาหนึ่งช่อมาให้เรา ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่เราทักไปตอนที่เดินป่าว่ามันสวยจัง เราจึงเอาไปปลูกไว้ที่แคมป์ ตอนนี้แคมป์ก็คงจะปิดไปแล้ว แต่เราเชื่อว่ากล้วยไม้นั้นก็คงยังอยู่ ทุกวันนี้เราก็ยังคงประทับใจมิตรภาพนี้ และจะอยู่กับเราตลอดไป”

ประสบการณ์เหล่านี้คนน้อยคนในโลกนักที่จะมีโอกาสได้เห็น ทั้งป่าในปาปัวและสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชนเผ่า ปุ๊กบอกกับเราว่า เรื่องเหล่านี้ทำให้เธอมีมุมมองใหม่ว่า “ตัวเราเล็กลงมาก แต่หัวใจเราพองโตขึ้น มันเติบโตไปกับเราเรื่อย ๆ  เรายิ่งตัวเล็ก เรายิ่งเคารพนบนอบต่อธรรมชาติและผู้คน สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่เรารู้จัก ดูแลรักษา และอยู่ร่วมกันได้ ตลอด 20 ปีที่เราทำงานเป็นอาสาเราได้เรียนรู้ทุกวันและทุกครั้ง ความกล้าหาญที่เกิดขึ้นทุกวันมันไม่ได้หายไปไหน สิ่งนี้แหละที่เราพยายามจะส่งต่อให้รุ่นน้องทุกวันที่มาทำงานกับเรา”

การทำงานอาสากับกรีนพีซแตกต่างจากที่อื่นไหม?

“แอคชั่นของกรีนพีซทำให้เราแตกต่างจากการทำงานอาสาสมัครกับที่อื่น ก็คือเป็นการปฏิบัติการเผชิญหน้าแบบสันติวิธี”

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ปุ๊กบอกกับเราว่า การเป็นอาสาสมัครเป็นที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเฉพาะกับองค์กรใด เธอบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือ เราเปลี่ยนตัวเราเองที่บ้านด้วย อยู่บ้านก็เป็นอาสาได้ ช่วยแม่ล้างจานได้ “เรารู้สึกว่าเราพร้อมที่จะสละอะไรได้หลาย ๆ อย่างที่สะดวกสบาย และต้องมีพลังกลับมาช่วยเหลือคนในบ้านด้วย พอตัวเราเปลี่ยนก็จะเป็นพลังให้คนรอบข้างอยากจะเปลี่ยนตาม”

“การที่เราไปช่วยเหลือ ไปเป็นอาสาให้กับคนโน้นคนนั้นคนนี้ สิ่งที่เราได้คือข้างในเราจะเติบโตขึ้น” 

การทำงานอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมอาจจะต่างจากงานอื่นสักหน่อยตรงที่ไม่ใช่การมาร่วมกิจกรรมครั้งเดียวจบ ซึ่งในจุดนี้ มุมมองของปุ๊กเองก็เห็นว่า เป็นเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมบางครั้งมีความเร่งด่วนที่ต้องการอาสา และไม่สามารถแก้ปัญหาได้แค่ในหนึ่งกิจกรรม เธอกล่าวว่า ทุกวันนี้เธอก็ยังมีเพื่อนที่เป็นอาสาสมัครเก่าแก่มานานคบหากันอยู่ ไปมาหาสู่ “ถ้ากรีนพีซไทยอายุ 20 ปี ก็เท่ากับว่าเราคบเพื่ออาสาเหล่านี้มา 20 ปี ซึ่งก็คือครึ่งชีวิตของเรา” 

ในฐานะที่ปุ๊กเป็นคนที่รู้จักกรีนพีซไทยมานานที่สุดคนหนึ่ง คำถามสุดท้ายที่เราอยากถามเธอคือ คิดว่าอีก 20 ข้างหน้า กรีนพีซจะเป็นอย่างไร ปุ๊กตอบเราด้วยแววตาครุ่นคิดเป็นประกายว่า “อีก 20 ปี ตอนนั้นเราก็คงอายุ 60 ตอนนั้นเราคงลุกขึ้นมาทำตาแบ๊ว ๆ บอกกับทุกคนว่า จงลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูกหลานของเรา” เธอเสริมว่า “ถ้าเรายังอยู่นะ” แล้วหัวเราะอย่างสดใส

“ถ้าเรายังอาบน้ำ แปรงฟันฟอกสบู่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยเหมือนเมื่อก่อนที่เราพูดเรื่องโลกร้อนก็ไม่มีใครรู้จัก เว่อร์ คิดไปทำไม จนทุกวันนี้ทุกคนได้เห็นแล้ว แค่ 20 ปีเอง เพราะว่าเราได้ใช้สิ่งแวดล้อม เราจึงต้องชดเชยกลับไปบ้าง ด้วยวิถีทางของเรา”

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม