ชีวิตของเราเต็มไปด้วยพลาสติก! รายงานฉบับล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผักผลไม้ที่เราบริโภคในทุกวันนั้นปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติก ถึงเวลาแล้วที่เราเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและสนับสนุนการวิจัยที่ว่ามลพิษพลาสติกส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ ยิ่งเราปล่อยเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่เราก็ยิ่งได้รับพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมากเท่านั้น
1. ผักและผลไม้
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาทาเนียร์ ประเทศอิตาลี พบอนุภาคพลาสติกเล็ก ๆ ในผักและผลไม้เช่นแครอท ผักกาดหอม แอปเปิล และลูกแพร์
โดยพบอนุภาคพลาสติกสูงสุดในแอปเปิลเฉลี่ย 195,500 อนุภาคต่อกรัม ในขณะที่ลูกแพร์มีอนุภาคพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 189,500 อนุภาคต่อกรัม บรอกโคลีและแครอทเป็นผักที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดโดยเฉลี่ยมากกว่า 100,000 อนุภาคพลาสติกต่อกรัม
งานวิจัยสองชิ้นที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้พบว่า ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปในรากของผักกาดหอมและต้นข้าวสาลี ในขณะที่พลาสติกนาโนถูกดูดซับโดยรากพืช ผักและผลไม้สามารถสะสมไมโครพลาสติกได้ผ่านการดูดซึมจากน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก
ซีออน ชาน ผู้ประสานงานรณรงค์ จากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกกล่าวว่า “ทันทีที่เรากัดแอปเปิล ร่างกายจะรับไมโครพลาสติกไปพร้อมกัน เพื่อลดมลพิษพลาสติก บริษัทต่าง ๆ ควรลดการใช้พลาสติกและลดสร้างขยะในห่วงโซ่การผลิตของตน ซูเปอร์มาร์เก็ตก็เช่นเดียวกัน ยิ่งเราลดการใช้พลาสติกได้เร็วเท่าไหร่ พวกเราก็ยิ่งบริโภคไมโครพลาสติกน้อยลงเท่านั้น”
2. เกลือ
สภาผู้บริโภคของฮ่องกงพบไมโครพลาสติกถึง 20% ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์เกลือที่ทดสอบในเดือนเมษายนปี 2563 พบไมโครพลาสติกตั้งแต่ 114-17,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเกลือที่ทดสอบ ตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบบางตัวอย่างยังแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกมาจากบรรจุภัณฑ์โพลีโพรพีลีน (PP) แบบใช้แล้วทิ้ง
การศึกษาในปี 2561 โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอนเกาหลีใต้และกรีนพีซ เอเชียตะวันออก พบว่า กว่าร้อยละ 90 ของตัวอย่างเกลือ 39 แบรนด์ที่มาจาก 21 ประเทศมีไมโครพลาสติก เกลือที่มีไมโครพลาสติกยังคงมีจำหน่ายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ หรือร้านค้าออนไลน์ จากการวิจัยระหว่างประเทศพบว่ามีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์อาจบริโภคอนุภาคไมโครพลาสติกประมาณ 20,000 อนุภาคต่อปีโดยมีการบริโภคเกลือเฉลี่ย 10 กรัมต่อวัน
3. ปลากระบอกสีเทา
จากการตรวจสอบโดยมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งฮ่องกงในปี 2561 พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกกว่า 60% จากจำนวนปลากระบอกสีเทาที่นำมาตรวจสอบทั้งหมดปลาแต่ละตัวมีเศษพลาสติกเฉลี่ย 4.3 ชิ้นบางตัวพบเศษพลาสติกถึง 80 ชิ้น นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกในปลาน้ำเค็มและปลากระบอกสีเทาที่ซื้อจากตลาดปลาหลากหลายแห่ง
พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร
ไมโครพลาสติกเป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรซึ่งส่วนใหญ่มาจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น บรรจุภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต ถุงใส่ผลไม้หรือขนมปัง ฯลฯ ในแต่ละปี ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 112 ตันหลุดรอดออกสู่ทะเลฮ่องกง บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหามลพิษจากพลาสติก
มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่เต็มมหาสมุทรเนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไปจนหลุดรอดจากการกรองระหว่างการบำบัดน้ำเสีย ขยะพลาสติกไม่สามารถละลายในน้ำได้ แต่แตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็ก จนถึงเล็กมาก ๆ ส่วนมากจะเป็นอาหารของแพลงก์ตอนและหอย และนี่คือสาเหตุว่าทำไมไมโครพลาสติกถึงเข้าไปในอาหารและร่างกายของมนุษย์ได้
ผลกระทบที่เป็นอันตรายของมลพิษไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์
ไมโครพลาสติกทำลายสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในน้ำเช่น ความผิดปกติของลำไส้ในปลา ไมโครพลาสติกอาจมีสารเติมแต่งที่เป็นพิษและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สามารถยึดติดกับสารมลพิษอินทรีย์ (POPs) ที่คงอยู่เช่น สารกำจัดศัตรูพืช พลาสติไซเซอร์ (หรือ สารเติมแต่งที่ใส่ลงในกระบวนการผลิตพลาสติกเพื่อทำให้มีคุณสมบัติเปลี่ยนไป) หรือ PEและ PP หากเรากินอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติกหรือไมโครพลาสติกเข้าไป สุขภาพของเราก็จะได้รับความเสี่ยงตามไปด้วย
ทางออกของวิกฤติมลพิษพลาสติก
ทางออกคือ เราจะต้องลดใช้พลาสติก ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เกินความจำเป็น และปฏิเสธพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวันของเรา ร้านค้าต่าง ๆ สามารถนำรูปแบบการยืม-คืนขวดพลาสติกมาใช้ หรือใช้ระบบรีฟิล ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือบรรจุภัณฑ์มาเติมผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้เอง โดยการเพิ่มจุดการเติม (Refill Station) ตามบริเวณของศูนย์การค้า หรือในร้าน
เราต้องการการมีส่วนร่วมของคุณในการลดหรือเลิกใช้พลาสติกในขณะที่ซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเราเอง และร่วมกันผลักดันให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบกับบรรจุภัณฑ์ของตนเองด้วยเช่นกัน