ความวาดหวังของมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง บางครั้ง เรารู้สึกถึงได้ถึงความสิ้นหวัง กรีนพีซรวบรวม 10 ความสำเร็จสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นความหวังให้กับพวกเราและโลกในปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งมั่นปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงในปี 2565 ต่อไป!

1.เนเธอร์แลนด์ : ศาลตัดสินให้ ‘เชลล์’ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตุลาคม 2564 – ปฏิบัติการตรงในรอทเทอร์ดัม นักกิจกรรมกรีนพีซเนเธอร์แลนด์ปีนคลังเก็บน้ำมันของบริษัทเชลล์ในเพอร์นิส เนเธอร์แลนด์ พร้อมกับติดใบโฆษณาของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล © Bart Hoogveld / Greenpeace

คำตัดสินของศาลเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เมื่อตัดสินให้เชลล์ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  นี่เป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่ต้องมีภาระรับผิดในการมีส่วนเร่งเร้าให้เกิดวิกฤต โดยศาลสั่งให้เชลล์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบัน เชลล์เป็นหนึ่งใน 10 บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

การตัดสินในครั้งนี้มีนัยยะว่าเชลล์ต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 45% ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดคล้องกับการชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส คดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนำขึ้นสู่ศาลโดย Friends of the Earth Netherlands (Milieudefensie) ร่วมกับกรีนพีซเนเธอร์แลนด์, ActionAid, Both ENDS, Fossielvrij NL, Jongeren Milieu Actief, the Waddenvereniging และโจทย์อีก 17,379 คน

2. แคนาดา : ยกเลิกโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL

The Reject and Protect Movementเป็นผู้นำปฏิบัติการบริเวณอนุสรณ์สถานลินคอล์น คัดค้านการวางท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ในปี 2557 ยังมีพันธมิตรคาวบอยชาวพื้นเมือง (The Cowboy Indian Alliance) ที่ทำกิจกรรมบริเวณอุทยานเนชั่นแนล มอลล์ โดยนำแบบจำลองท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่มาเพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์ © Douglas Reyes-Ceron / Greenpeace

เดือนมิถุนายน 2564 ในที่สุดบริษัท ทีซี เอเนอจี (TC Energy) ที่มีสาขาในเมืองคาลการี ได้ยกเลิกโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งทำให้ชัยชนะในการปกป้องสิ่งแวดล้อมครั้งนี้เป็นของกลุ่มคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเรียกร้องให้เปิดโอกาสต่อทางเลือกอื่นๆ ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้โดยกลุ่มชนพื้นเมือง เนื่องจากพวกเขาปกป้องพื้นที่จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและไม่เคยคิดยอมแพ้ เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าพลังของประชาชนคือหนทางที่จะทำให้โลกปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล!

จากการคัดค้านอย่างหนักของกลุ่มชนพื้นเมืองทำให้มีโครงการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้อย 21 โครงการ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาถูกชะลอหรือถูกยกเลิกไป  ประมาณว่าโครงการต่างๆ นี้ปล่อยมลพิษเทียบเท่ากับมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินราว 400 โรง อ้างอิงจากการวิเคราะห์ของเครือข่าย  Indigenous Environmental Network (IEN) และองค์กร Oil Change International

3. อินโดนีเซีย : ความสำเร็จครั้งใหญ่ของการต่อกรกับมลพิษทางอากาศ

อาสาสมัครกรีนพีซถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘Clean Air Now’ หน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินสุราลายาในเมืองซิเลกอน จังหวัดบันเตน อินโดนีเซีย (กุมภาพันธ์ 2564) © Rendra Hernawan / Greenpeace

ช่วงที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP26 ที่ผ่านมาในกลาสโกลว์จะจบลง ศาลแขวงกลางในกรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย มีคำสั่งให้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด และผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา จัดการกับมลพิษทางอากาศในเมืองที่กลายเป็นความท้าทายใหญ่ ทั้งนี้ ศาลวินิจฉัยว่ารัฐบาลอินโดนีเซียละเลยที่จะปกป้องพลเมืองของตนจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศ

ชัยชนะของการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action) และของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียนี้เป็นผลจากการทำงานขับเคลื่อนด้านกฎหมายมาเป็นเวลา 2 ปี โดยมีชาวกรุงจาการ์จา 32 คน ยื่นฟ้องประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี 3 คน ผู้ว่าการกรุงจาร์กาตา และผู้นำระดับจังหวัด 2 คน

4.ฝรั่งเศส : ศาลปกครองสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้ประท้วงและผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงหากำไรถือแบนเนอร์งานรณรงค์ L’Affaire Du Siecle ซึ่งจัดโดยเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ในระหว่างกิจกรรมการประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศในกรุงปารีส ฝรั่งเศส (มีนาคม 2562) © Omar Havana / Greenpeace

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ศาลปกครองฝรั่งเศสวินิจฉัยว่า พบว่ารัฐบาลล้มเหลวและไม่สามารถต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ดีมากพอ โดยศาลสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตรการเพิ่มเติมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผลจากคดีฟ้องร้อง Urgenda ในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2563 และคำตัดสินของศาลฎีกาไอริชว่าด้วยสภาพภูมิอากาศในปี 2564 ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในสหภาพยุโรปที่ถูกตัดสินว่าล้มเหลวในการปกป้องประชาชนจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

5.สาธารณรัฐแกมเบีย : รัฐบาลหยุดการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลาป่นและโรงงานน้ำมันปลา

ชาวประมงพื้นบ้านสตรีเกือบพันคน รวมถึงผู้นำชุมชนและองค์กรที่ทำงานด้านชุมชนจากหลายประเทศ และกรีนพีซแอฟริกา เรียกร้องให้รัฐบาลหมู่เกาะเซเนกัลหยุดการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลาป่นและหยุดการออกใบอนุญาตให้ใหม่ ทดแทนด้วยการสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านสตรีและชุมชนประมง เพื่อปกป้องมหาสมุทรและความมั่นคงทางอาหารของประชากร © Omar Bayo Fall / Greenpeace

เมษายน 2564 รัฐบาลแกมเบียถอนใบอนุญาตของบริษัทผลิตปลาป่นสัญชาติจีนที่ชื่อว่า Golden Lead ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกุนจูร์ เมืองท่าเล็กๆทางตะวันตกเฉียงเหนือของแกมเบีย

เป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในสาธารณรัฐแกมเบียและสำหรับระบบนิเวศในมหาสมุทร เพราะอุตสาหกรรมปลาป่นนั้นนอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปลาก็กำลังพรากทรัพยากรไปจากท้องทะเลของแอฟริกา รวมทั้งละเมิดสิทธิ์ของชุมชนชาวประมงแอฟริกันรวมทั้งริดรอนวิถีชีวิตของพวกเขา

ในเดือนตุลาคม 2564 จากการสอบสวนของกรีนพีซแอฟริกาเปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าล่าสุดของอุตสาหกรรมปลาป่นและน้ำมันปลาพุ่งสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

6.เอาเตอารัว (นิวซีแลนด์) : ศาลฎีกาสั่งยุติการทำเหมืองใต้ทะเลลึก

นักกิจกรรมกรีนพีซสากลทาสีเป็นคำว่า ‘RISK!’ บนกราบขวาของเรือนอร์แมนด์ เอเนอจี้ (Normand Energy) ซึ่งเป็นเรือเช่าของอุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึก ชื่อว่าบริษัท  Belgian company Global Sea Mineral Resources (GSR) © Marten van Dijl / Greenpeace

การพิจารณาคดีดังกล่าวถือเป็นชัยชนะของมหาสมุทรและพลังของมวลชน!

ในเดือนกันยายน 2564 ศาลฎีกาของนิวซีแลนด์ตัดสินปฏิเสธการขุดเหมืองใต้ทะเลลึกและเพิกถอนการอนุมัติการทำเหมืองใต้ทะเลลึกขนาดใหญ่ที่เคยให้ไว้กับบริษัทผู้ดำเนินการในปี 2560 โดยจะดำเนินการที่อ่าว South Taranaki Bight ซึ่งเป็นอ่าวขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของนิวซีแลนด์

อ่าว South Taranaki Bight นั้นเป็นบ้านของวาฬปิ๊กมี่สายพันธุ์นิวซีแลนด์ โลมาเมาอิ (māui dolphins) และนกเพนกวินสีน้ำเงิน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสายพันธุ์ปะการังและระบบนิเวศที่หลากหลาย คำตัดสินของศาลในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเอาเตอารัวหรือในแม้แต่ในภูมิภาคแปซิฟิคนั้นไม่ต้องการการเข้ามาของบริษัทเหมืองอื่นๆอีกแล้ว

7.จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ : อีกก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเพื่อยุติยุคฟอสซิล

เมืองหยูหลิน (Yulin) ตั้งอยู่ในเขตเหมืองถ่านหิน Shenfu กินบริเวณไปถึงเมือง Ordos และเมืองชัวโจวในมณฑลส่านซี ที่นี่ถูกขนานนามว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำแห่งถ่านหิน’ (Golden Triangle of Coal) ในจีน © Nian Shan / Greenpeace

กันยายน 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าจีนจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่นอกประเทศอีกแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคำมั่นสัญญาคล้ายๆกันจากผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลด้านการเงินระดับต้นๆอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นออกมาด้วย

ปัจจุบัน จีนที่เป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะดำเนินการในระดับประเทศเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าตั้งแต่ปี 2557 จีนได้ให้ทุนไปกับการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 12,622 เมกะวัตต์ ตามยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับสูงมาก แต่จีนยังคงลงทุนไปกับถ่านหิน 67.9 กิกะวัตต์ (มากกว่า 6 เท่า) การลงทุนส่วนมากมุ่งไปที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การยุติการใช้พลังงานถ่านหินเป็นสิ่งที่ทั่วโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของประชาชน รายงานจากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประชากรทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในทุกๆปี

8.รัสเซีย : บริษัทเหมืองนอริลสก์ นิกเกิล (Norilsk Nickel) ต้องชดใช้เงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอาร์กติก

กรณีนี้เรียกได้ว่าเป็นค่าตอบแทนต่อการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซีย

วันที่ 29 พฤษภาคม น้ำมันดีเซลมากกว่า 20,000 ตันรั่วไหลลงสู่ลำธารและดินจากแทงก์เก็บน้ำซึ่งเป็นของบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล ใกล้กับเมืองนอริลสก์ ทำให้น้ำในแม่น้ำ แอมบานายา (Ambarnaya River) กลายเป็นสีแดง จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ การรั่วไหลของน้ำมันในนอริลสก์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในอาร์กติก

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลอนุญาโตตุลาการครัสโนยาสค์สั่งให้บริษัทนอริลสก์ นิกเกิล ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 146 พันล้านรูเบิล (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) ต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วในคาบสมุทไทเมียร์ (Taimyr) นี้ ทั้งนี้อุบัติเหตุน้ำมันรั่วหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำมันรั่วนั้นเกิดขึ้นในรัสเซียบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเฉพาะอย่างอาร์กติก

9.เม็กซิโก : การแบนไกลโฟเซตและข้าวโพดจีเอ็มโอ

กิจกรรมคัดค้าน GE Maize ในเม็กซิโก (ตุลาคม 2554) นักกิจกรรมกรีนพีซเข้ายึดทุ่งข้าวโพดเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุ่งดังกล่าวเป็นตัวอย่างของ 1 ใน 300 ของพันธุ์ข้าวโพดท้องถิ่นที่เสี่ยงต่อการถูกปนเปื้อนจากจีเอ็มโอ © Greenpeace / Tomas Bravo Garcia

รู้หรือไม่ว่าเม็กซิโกนั้นเป็นศูนย์กลางการเพาะปลูกและกระจายพันธุ์ข้าวโพดกว่า 59 ชนิด?

ในเดือนมกราคม 2564 กฤษฎีกาของเม็กซิโกได้กำหนดแบนข้าวโพดจีเอ็มโอรวมถึงประกาศเลิกใช้ไกลโฟเซตภายในปี 2567

ผลกระทบจากการปนเปื้อนของไกลโฟเซตหรือการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอยังคงทำให้เกษตรกรรมและความหลากหลายของระบบนิเวศในเม็กซิโกยังอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศนี้จะทำให้เม็กซิโกไม่สามารถเข้าถึงอธิปไตยด้านอาหารและการเกษตรที่พึ่งตนเอง ทั้งนี้ ตลอดเวลากว่า 21 ปี กรีนพีซเม็กซิโกรณรงค์เพื่อต่อสู้เพื่อยุติพืชจีเอ็มโอเพื่อความปลอดภัยต่ออธิปไตยด้านอาหารมานับครั้งไม่ถ้วน โดยต่อสู้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่น ผู้บริโภค สถาบันวิจัย นักวิจัย ศิลปินและนักวิชาการ

ในปี 2564 การแบนข้าวโพดจีเอ็มโอและไกลโฟเซตเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของกรีนพีซเม็กซิโก นั่นคือการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมและอาหารจากฐานรากและผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและรับรองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค

10.สหราชอาณาจักร : เชลล์ถอนต้วจากแผนการขุดเจาะฟอสซิลที่แหล่ง Cambo

นักกิจกรรมกรีนพีซ สหราชอาณาจักรเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน หยุดการออกใบอนุญาตการขุดเจาะน้ำมันในแคมโบ ทางตะวันตกของเชลท์แลนด์ โดยตั้งอนุเสารีย์รูปนายกรัฐมนตรีขนาด 12 ฟุตที่ถนนดาวน์นิ่ง © Suzanne Plunkett / Greenpeace

ล่าสุด ความหวังที่จะได้แหล่งน้ำมันและก๊าซแหล่งใหม่ในสหราชอาณาจักรเช่น แหล่งน้ำมันแคมโบ (Cambo) ต้องริบรี่ลง เนื่องจากเชลล์ หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักถอนตัวออกจากโครงการสำรวจทำให้เหลือแค่รัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ยังคงสนับสนุนให้มีการสำรวจแหล่งแคมโบ

เราหวังว่านี่จะเป็นสัญญาณการยุติการสำรวจแหล่งน้ำมันใหม่ เพราะโครงการจะยังดำเนินต่อไปได้เว้นแต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันจะเลิกสนับสนุนโครงการดังกล่าว เราควรจะต้องลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนและการสร้างอาชีพใหม่และชุมชนที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน และยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล

ส่วนเสี้ยวเล็กๆ แต่ละส่วนต่างมีความหมายระบบนิเวศทั้งหลายที่สนับสนุนค้ำจุนวิถีชีวิตของผู้คนและสรรพชีวิตต่างก็มีความหมาย  ในปี 2565 นี้ มาร่วมกันยืนหยัดต่อสู้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ผู้ก่อมลพิษ การฟอกเขียว การแก้ปัญหาที่ผิด และรัฐบาลที่เห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่าชีวิตของประชาชนและโลกด้วยกัน