การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศจนจมเมืองชายฝั่งทะเลเป็นเรื่องที่พูดกันมาพักใหญ่แล้วๆ แต่หลายคนยังสงสัยว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจริงไหม? 

คำตอบคือ “จริง” และไม่เพียงแค่นั้น การวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือวัดบนดาวเทียมทั่วโลกที่เก็บรวบรวมต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปียังชี้ว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยคิดเสียอีก

แต่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพิ่มขึ้นแล้วทำไม และเราทำอะไรได้บ้าง? เดี๋ยวเราเล่าให้ฟัง  

Floods in South Korea. © Sungwoo Lee / Greenpeace
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักทำให้เมืองหลายๆเมืองในเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูง © Sungwoo Lee / Greenpeace

ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้อย่างไรและเพิ่มขึ้นเร็วแค่ไหน

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเกิดจากสองสาเหตุหลักๆ และทั้งสองสาเหตุมีต้นตอจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ปกติแล้ว เมื่อน้ำร้อนขึ้น ปริมาตรจะขยายตัว เช่นเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร มหาสมุทรช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและเก็บความร้อนจนอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือการขยายตัวของน้ำ ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้น อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นยังทำให้ธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วและไหลไปรวมกับน้ำในมหาสมุทร ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

แล้วระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วแค่ไหน ?

นับตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88 มิลลิเมตรต่อปี รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2562 ระบุว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2558 ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 3.3 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและนักสมุทรศาสตร์หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่น้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วขนาดนี้มาจากพืดน้ำแข็งที่ละลายในกรีนแลนด์ (Greenland)

ปัจจุบันไม่มีสัญญาณว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็วจะชะลอลงเลย โดยเฉพาะในวันที่โลกยังคงเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกโดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นถึง 84 เซนติเมตรในระหว่างปี พ.ศ.2562-2643

รถเมล์และรถกระบะขับฝ่าน้ำท่วมในบางแค กรุงเทพฯ กรีนพีซเตือนว่า ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วบวกกับการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เกิดการแบกรับต้นทุนด้านเศรษฐกิจมากขึ้น อาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรรมและทำให้แหล่งน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปนเปื้อน

ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแล้วยังไง?

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเมตรอาจฟังดูไม่น่ากลัวอะไร แต่เพียงหนึ่งเมตรนี่ก็สร้างความพินาศให้ชีวิตมนุษย์ทั่วโลกตั้งเท่าไหร่แล้ว

ในปี พ.ศ.2553 กว่า 11% ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลและอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางไม่ถึง 10 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำจะเสี่ยงจมน้ำ ซ้ำยังอาจต้องเผชิญกับพลังทำลายของพายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่ง แหล่งน้ำจืดในธรรมชาติก็จะถูกรุกด้วยน้ำเค็ม มีการคาดการณ์ว่าภายในศตวรรษนี้ พายุหมุนเขตร้อนจะมีพลังทำลายล้างมากกว่าเดิม ผู้คนจะสูญเสียที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตที่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งชีวิต 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ว่าก่อนปี พ.ศ.2593 กว่า 600 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยในที่ราบลุ่มอาจต้องเผชิญกับน้ำท่วมชายฝั่งซึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากชีวิตมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นๆและระบบนิเวศก็หนีไม่พ้น น้ำท่วมและพายุหมุนเขตร้อนจะคร่าชีวิตทั้งหลายไปจากโลก ก่อให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน

ชายคนหนึ่งก้มลงมองรถของเขาที่ถูกน้ำท่วมจากบนชั้นสองของบ้านในจาการ์ตา อินโดนีเซีย 

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

ก่อนอื่นเลยผู้คนต้องตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีงานเชิงวิทยาศาสตร์และข้อมูลหลายชิ้นที่ยืนยันถึงวิกฤตที่ว่านี้ เมื่อรู้แบบนี้แล้วรัฐบาลเองก็ควรที่จะวางแผนรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ 

รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เผยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี พ.ศ.2573 

ตัวรายงานวิเคราะห์ถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและประชากรในเมืองอย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตา และมะนิลา หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง โดยพิจารณาจากแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงโดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส ซึ่งนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่าในปี 2573 อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี(ten-year flood) ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล คาดว่าผู้คนกว่า 15 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ มีความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 7.2 แสนล้านดอลลาร์ในเจ็ดเมืองใหญ่ที่ทำการศึกษา

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้กำหนดกรอบที่ประเทศต่างๆต้องทำเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้สูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันการดำเนินการยังล่าช้าและไม่จริงจังมากพอ  

และนี่คือข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

  • เดินหน้าตามเป้าหมายที่มุ่งมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง
  • ยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น และเน้นพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด
  • ตัดงบการเงินการลงทุนโพ้นทะเลในอุตสาหกรรมฟอสซิล
  • ยุติการทำลายผืนป่าและการเปลี่ยนพื้นที่ป่าพรุเพื่อเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
  • ทำให้เมืองและชุมชนมีความเข้มแข็งและมีแผนสำรองในภาวะวิกฤต ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน
  • ให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ ตั้งระบบเตือนภัย กระจายศูนย์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤต และเตรียมการเพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติในระดับชุมชน

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอาจดูน่ากลัว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่สิ้นหวัง เหมือนกับที่เรากำลังต่อกรกับโรคระบาดครั้งใหญ่ตอนนี้ เวลาเพียงหนึ่งปี ผู้นำทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรับมือกับโรคระบาด วิกฤตสภาพภูมิอากาศก็ต้องการความแข็งขันแบบนี้เช่นกัน 

กรีนพีซและนักกิจกรรมรุ่นใหม่จากทั่วโลกกำลังเรียกร้องเพื่อให้โลกเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด สถาบันการเงินหลายแห่งก็กำลังเข้าร่วมกับเราและร่วมวางแผนในการแก้ปัญหา

การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นแล้ว และจะดำเนินต่อไป คุณเป็นส่วนหนึ่งได้ ใช้เสียงของคุณเป็นพลังในการขับเคลื่อนเรียกร้องอนาคตของโลกเรา  

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม