หลายวันมานี้เป็นวันที่กรุงเทพฯ มีท้องฟ้าสีหม่นดูราวกับหมอก แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นท้องฟ้าที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศ และมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่กรมควบคุมมลพิษนั้นไม่มีการประกาศเตือน อีกทั้งยังคงรายงานดัชนีคุณภาพอากาศโดยคำนวณเพียงแค่ PM10 เท่านั้น ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจเข้าไปได้อย่างถูกต้อง

ถึงเวลาหรือยังที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องลงมือควบคุมมลพิษ และปกป้องสุภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

ก่อนอื่น ต้องเริ่มต้นจากการใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานคุณภาพอากาศในประเทศไทย แทนการใช้เพียง PM10 ในปัจจุบัน และปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้สอดคล้อง และใกล้เคียงอย่าง ที่สุดกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลกเพื่อคุ้มครอง สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ในขณะที่ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.)

แต่รู้หรือไม่ว่า มาตรฐานที่ทางกรมควบคุมมลพิษกล่าวถึงนั้น คือมาตรฐานของประเทศไทยที่ยังต่างจากมาตรฐานสากลตามข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก(WHO Guideline) โดยคำแนะนำค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงของ WHO กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 25 มคก/ ลบม. เท่านั้น

มลพิษทางอากาศ คือ ภัยคุกคามที่เร่งด่วนต่อสุขภาพของคนไทย และปรากฎการณ์หมอกควันพิษเหนือกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มากขึ้น รวมถึงเพิ่มการระวังผลกระทบปกป้องสุขภาพของตนเองด้วยการตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ผ่านทาง aqicn.org โดยดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ ที่รายงานทางเว็บไซต์ aqicn.org เป็นค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงซึ่งมีอัพเดตเรียลไทม์ โดยใช้ข้อมูลจากค่า PM2.5 จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ แต่ที่แตกต่างออกไปคือมีการนำมาคำนวณเป็นค่า AQI  ซึ่งทางประเทศไทยยังไม่ได้นำมาคำนวณ รวมถึงมีความแม่นยำและเหมาะสมสำหรับเตือนภัยต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ในขณะปัจจุบันนั้น มากกว่าการรายงานผลค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศที่ปรากฎออกมานั้น บ่งบอกถึงระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และถึงเวลาแล้วที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องมีมาตรการในการจัดการปัญหามลพิษอย่างเร่งด่วน

อากาศเมืองไทย แย่แค่ไหน?

จากการศึกษาของธนาคารโลก ชี้ว่ามลพิษอากาศในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี และประชากรไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

พื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือที่ สระบุรี (36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ ธนบุรี ในกรุงเทพมหานคร (31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว ส่วนพื้นที่อื่นๆที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง 25-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งหมด 14 พื้นที่ที่มีการตรวจวัดค่ามลพิษนั้นต่างมีระดับมลพิษสูงกว่าค่าจำกัดสูงสุดของ WHO ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น 9 จาก 14 พื้นที่ยังมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีที่ประเทศไทยกำหนดไว้อีกด้วย

PM2.5 – วิกฤตมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง

การสูดหายใจมลพิษ PM2.5 ทั้งการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหืดหอบ ในปี พ.ศ. 2553 มีการคาดการณ์ว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าสามล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ในปี 2556 หน่วยงานวิจัยสากลด้านโรคมะเร็ง ได้จัดให้มลพิษอนุภาคเล็กเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ และถือเป็นเหตุการเสียชีวิตของโรคมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น

PM2.5 ถูกปล่อยโดยตรงออกจากทั้งการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้า รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง และแหล่งอื่น ๆ อย่างเช่น เขม่าและฝุ่น รวมทั้งก่อตัวในชั้นบรรยากาศจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และก๊าซมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมี ซึ่งมลพิษทางอากาศนี้ยังคงถูกเพิกเฉย อีกทั้ง PM2.5 ยังประกอบด้วยสารโลหะหนักจำนวนมาก อาทิ ปรอท สารหนู แดคเมียม โครเมียม และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

ต้องขอย้อนถามกรมควบคุมมลพิษอีกครั้งว่า ต้องให้ประชาชนเสี่ยงต่อภัยสุขภาพจากมลพิษทางอากาศมากเท่าใด จึงจะนำค่าเฉลี่ย PM2.5 มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) แทนการใช้เพียง PM10 ในปัจจุบัน นี่คือสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาดที่ภาครัฐต้องลงมืออย่างเร่งด่วน

———–
เราอยากให้คุณเห็นมลพิษทางอากาศให้ชัดขึ้นกว่าที่ตาเห็นที่ งานนิทรรศการ “Right to Clean Air – The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา” จัดขึ้นวันที่ 16 ถึง 28 มกราคม 2561 นี้ ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกเหนือจากการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีการพูดคุยกันของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมลพิษในอากาศและทางแก้ไขปัญหา และกิจกรรมอื่นๆเช่นนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมลพิษในอากาศ

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย ที่นี่