นี่คือห้วงแห่งประวัติศาสตร์ – วิกฤตที่ต้องการรัฐบาลทั้งหลายทำงานร่วมกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อ อนาคตของสรรพชีวิตบนโลก เป็นสิ่งที่ทำได้หากเราเลือกที่จะทำ แต่สิ่งที่เราเห็นกลับเต็มไปด้วยการขอไปที การฟอกเขียว และการปล่อยปละละเลย ในข้อถกเถียงว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ การแหกตาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่คำๆ เดียวคือ “สุทธิ(net)”

นักกิจกรรมกรีนพีซลักซัมเบอร์กใช้ป้ายสีเหลืองขนาดเท่าตัวคนเตือนให้ระวังพื้นลื่นและไม้ถูพื้นเพื่อประท้วงการลงทุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังดำเนินต่อไปในลักซัมเบอร์ก © Sara Poza Alvarez / Greenpeace

ประเด็นเรื่อง “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ”

การนับจำนวนสิ่งต่างๆ แบบสุทธิมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็อาจจะพาไปผิดทิศผิดทางโดยสิ้นเชิงด้วย เช่น เมื่อคิดคำนวณการลดลงของป่าไม้เป็นการสูญเสียป่าแบบสุทธิ(net forest loss)

รัฐบาลต่างๆ และบรรษัทอุตสาหกรรมก็ใช้แนวทางแหกตาแบบเดียวกันนี้เพื่อตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในนาม “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ” หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในขณะที่แผนการดังกล่าวมีความมุ่งมั่นแตกต่างกันไป แต่แผนการทั้งหลายเหล่านี้ก็มีข้อบกพร่องใหญ่ร่วมกัน นั่นคือ การทึกทักว่าคาร์บอนที่กักเก็บในแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีค่าเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ในสิ่งมีชีวิต ในหน้าดินและในมหาสมุทร

จริงๆ แล้ว มันไม่เท่ากัน

แล้วการกักเก็บคาร์บอนทำอย่างไร

คาร์บอนที่สะสมอยู่ในเชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะอยู่อย่างนั้นและจะส่งผลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศก็ต่อเมื่อมนุษย์ขุดเจาะขึ้นมาและนำไปเผาอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อคาร์บอนหลุดออกจากแหล่งกักเก็บ ก็จะเข้าสู่วัฐจักรคาร์บอน ระหว่างดิน น้ำ อากาศและสิ่งมีชีวิต วัฐจักรคาร์บอนนี้กำลังเสียสมดุล เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศก็จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น ดังนั้นอันดับแรก เราต้องหยุดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องดึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศไปยังที่อื่นๆ เช่น ต้นไม้และดิน หากเราต้องการทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส(เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม)

มากพอๆ กับการที่เราลงทุนในการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราไม่ควรทึกทักว่าคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้จะถูกกักเก็บอย่างถาวร ในสภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเจอกับการสูญเสียระบบนิเวศป่าไม้มากขึ้นจากความแห้งแล้ง ศัตรูพืช ไฟ ขณะที่ผืนดินเสื่อมสภาพมากขึ้นซึ่งเปลี่ยนจากแหล่งกักเก็บเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอน ผืนป่าใหม่เติบโตช้าเกินไปที่จะช่วยดึงคาร์บอนที่ปลดปล่อยออกไป

การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน(Carbon Capture Storage) ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้าง และยังมีต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น โครงการวิศวกรรมสภาพภูมิอากาศ(climate engineering) และวิศวกรรมธรณีทางทะเล(marine geoengineering) ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก แผนการที่ต้องพึ่งพาการดักจับและกักเก็บคาร์บอนทำให้ปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศจริงๆ ต้องล่าช้าออกไปและไม่ได้รับประกันความสำเร็จ ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะรับมือกับสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศมากไปกว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างขนานใหญ่ในทันที

ในระยะยาว เราต้องการให้กระบวนการทางธรรมชาติช่วยดึงคาร์บอนจากอากาศ ณ ปัจจุบัน ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกได้กระตุ้นกระบวนที่จะไปสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับได้ที่เรียกว่า “จุดพลิกผัน” เช่น การละลายของดินชั้นเยือกแข็ง(permafrost) การที่ระบบนิเวศผืนป่าแอมะซอนจะล่มสลาย หรือการแยกตัวของพืดน้ำแข็งขนาดใหญ่ในแถบอาร์กติก

เกิดอะไรขึ้นกับ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ”

การตั้งเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิเกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวัน แผนการนี้ทึกทักว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ถ่านหินจะชดเชยด้วยการดูแลป่าหรือปลูกป่าในเวลาจริง โดยละเลยความจริงที่ว่าต้นไม้ใช้เวลาเติบโต ในขณะที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานฟอสซิลนั้นเห็นผลในทันที

การตั้งเป้าหมายนี้ยังทึกทักอีกว่า ไม่มีข้อจำกัดที่จะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่ที่หนึ่งด้วยการลดการปล่อยหรือเพิ่มการดึงก๊าซเรือนกระจกกลับ ณ ที่ใดก็ได้ 

การตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิทั้งหมดนี้ มุ่งแข่งกันในแนวทางที่จำกัดโดยพื้นฐานที่ว่าจะมีแหล่งดูดซับคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ดินสำหรับการฟื้นฟูป่า ตัวอย่างคือ หากรัสเซียซึ่งมีโอกาสมหาศาลในการปลูกป่า ตัดสินใจที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์โดยสุทธิ ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่างเดียว โดยไม่ลดการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังไม่พอที่จะต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พื้นที่หลายแห่งนั้นต้องไปให้พ้นจากแนวคิด Net Zero เนื่องจากที่ดินมีจำกัดในการช่วยเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก

แนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิได้รับความนิยมด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ถูกกว่า เราสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากการลงทุนดูแลป่าไม้หรือฟื้นฟูป่าไม้ในราคา 10 เหรียญต่อคาร์บอน 1 ตัน (ราว 300 บาท) เมื่อโรงไฟฟ้าของประเทศในยุโรปไม่สามารถทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เจ้าของโรงไฟฟ้าสามารถจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตในราคามากกว่า 5 เท่าของราคาตลาด ยิ่งกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมแล้วละก็ ราคาคาร์บอนเครดิตถือว่าเล็กน้อยมากเพื่อแลกกับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ดำเนินไปตามปกติของตน โดยที่ยังสร้างภาพว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยอดเยี่ยมในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่เรื่องแย่สำหรับระบบสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม และทำให้กลุ่มชุมชนชายขอบซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องแบกรับภาระอย่างหนัก

สิ่งที่จะต้องมีเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ผู้เล่นที่เกี่ยวข้องต้องทำให้แผนการต่างๆ ไม่ซับซ้อนและโปร่งใส โดยการแยกแยะเป้าหมายดังต่อไปนี้

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมทางอุตสาหกรรมต่างๆ ลงอย่างรวดเร็ว
  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลกระทบของการใช้ที่ดิน หลักๆ คือ การทำลายป่าไม้ และการลดการผลิตปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม
  • สร้างการมีส่วนร่วมที่รับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศในธรรมชาติ

ทุกส่วนของสังคม รัฐบาล ธุรกิจ ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง ต้องทำงานร่วมกันในวิถีทางที่เท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อต่อกรกับวิกฤตนี้ เราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราปกป้องธรรมชาติ ธรรมชาติจะปกป้องเรา


Maik Marahrens เป็นนักยุทธศาสตร์งานรณรงค์ด้านป่าไม้ของกรีนพีซสากล