สำหรับเกษตรกรแล้ว คำว่าเมล็ดพันธุ์คือชีวิต คือความหมายที่ครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรและการทำอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงดูชีวิต การเปลี่ยนแปลงและครอบครองเมล็ดพันธุ์ของอุตสาหกรรมเกษตรข้ามชาติจึงไม่ใช่แค่การครอบครองระบบอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง แต่เป็นการครอบครองชีวิตของคนในห่วงโซ่การผลิต รวมถึงพื้นที่ทางธรรมชาติของในแต่ละประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจด้อยกว่า หรือมีรัฐบาลที่แข็งกร้าวต่อประชาชนแต่อ่อนข้อให้กับประเทศมหาอำนาจ การจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ภายในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศจึงถูกมองโดยนักคิดนักเคลื่อนไหวว่าเป็นเสมือนล่าอาณานิคมในยุคศตวรรษที่ 21 

วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดีย กล่าวว่า การเจรจาการค้าในเรื่องการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั้นมุ่งหวังผลกำไรตามความต้องการของอุตสาหกรรม ดังนั้นการควบคุมเมล็ดพันธุ์โดยการจดสิทธิบัตรจึงถือเป็นโจรสลัดชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการช่วงชิงทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศที่การพัฒนาด้อยกว่าของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากประเทศตะวันตก ด้วยการใช้เครื่องมือทางกฎหมายและข้อตกลงการเจรจาระดับชาติ เป็นการสร้างผลกำไรจากความอุดมสมบูรณ์ของประเทศที่ร่วมสัญญาแต่ทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมไว้

คุณค่าของเมล็ดพันธุ์คือการหมุนเวียนของชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่สิทธิบัตรทางเมล็ดพันธุ์เป็นการตัดขั้นตอนการเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไปของเกษตรกร และต้องพึ่งพาบริษัททุกครั้งในการปลูกเพื่อจำหน่ายในครั้งถัดไป พร้อมกับจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับสารเคมีอื่นในการเสริมให้เมล็ดพันธุ์นั้นเติบโตได้ ซึ่งวัทนา ศิวะ เห็นว่าการอ้างถึงสิทธิในการนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เป็นแนวคิดภายใต้ระบบทุนนิยมในกรอบของปิตาธิปไตย ที่มองเห็นว่า “ธรรมชาติ” คือพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีใครครอบครอง แยกส่วนระหว่างชีวิตและทรัพยากร และความว่างเปล่าของธรรมชาตินี้ จำเป็นจะต้องจดสิทธิบัตรครอบครองให้เป็นสมบัติส่วนบุคคลไม่เช่นนั้นจะเป็นการเสียเปล่า  

© Roy Lagarde / Greenpeace

แนวคิดการถือครองเพื่อพัฒนานี้ เป็นกรอบความคิดเดียวกันกับการอ้างสิทธิในการยึดครองผืนดินขยายอาณานิคมของประเทศตะวันตกในอดีต และนัยสำคัญของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโดยยึดตามกรอบของวัฒนธรรมผู้ครอบครองอาณานิคมนี้ ตามมุมมองของวันทนา ศิวะ ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีทางได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน เนื่องจากประเทศที่ถูกยึดครองทรัพยากรนั้นจำเป็นจะต้องเติบโตอยู่เสมออย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจำเป็นจะต้องรับผลพวงทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากปฏิวัติทางอุตสาหกรรม

กล่าวคือ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ภายใต้การครอบครองของอุตสาหกรรมเกษตรข้ามชาตินั้น ถูกมองว่าเป็นการครอบครองอาณานิคมของประเทศโลกที่สามผ่านทางการอ้างเพื่อความก้าวหน้าและเศรษฐกิจเม็ดเงิน ผ่านการอ้างกฎหมายสิทธิบัตรทางเมล็ดพันธุ์ที่มอบสิทธิให้กับประเทศในความตกลงมีสิทธิเป็นเจ้าของ เมล็ดพันธุ์นั้นคือความอุดมสมบูรณ์และอธิปไตยทางอาหารที่แต่ละประเทศพึงมี และเดิมทีเป็นทรัพยาการที่หมุนเวียนไม่ผูกขาด เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นทรัพย์สินของใคร หากสูญเสียอธิปไตยทางอาหารไป ความมั่นคงทางอาหารของประเทศนั้นก็จะถูกยึดครองภายใต้กำมือของไม่กี่บริษัทที่กุมสิทธิในเมล็ดพันธุ์และระบบอาหาร

เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นกับการใช้ข้อผูกมัดทางกฎหมายในความตกลงระหว่างประเทศมายึดครองทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนา เช่น กรณีของแอฟริกา และอนุสัญญา UPOV ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ กับข้อกังวลในการขยายตัวของพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GE) ที่ปนเปื้อนในพืชพื้นเมือง รวมถึงการตกค้างของสารเคมีอันตรายในสิ่งแวดล้อม และการครอบครองเมล็ดพันธุ์ของอุตสาหกรรมนั้นนำไปสู่ข้อกังวลต่อภาระหนี้สินที่จะตามมาของเกษตรกรในแอฟริกา และการหายไปของพืชท้องถิ่น ข้อกังวลต่ออนุสัญญา UPOV นั้นไปไกลกว่าประเด็นเรื่องพันธุ์พืช แต่คือการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิงของแอฟริกา

Steven Shrybman ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ วิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2543 ว่า โลกาภิวัฒน์สำหรับระบบเกษตรกรรมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากข้อตกลงทางการค้าที่เอื้อให้กับบรรษัทในประเทศอื่น สามารถขยายธุรกิจในประเทศที่ห่างไกลออกไป และส่งออกอาหารดังกล่าวไปยังประเทศอื่นที่ห่างไกลอีกต่อ ในประเด็นนี้ Steven Shrybman  ตั้งข้อสังเกตว่าระบบการค้าที่เอื้อต่อบรรษัทข้ามชาติเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบอาหารสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล และในความตกลงระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับเกษตรกรรม ไม่ได้รวมข้อตกลงความร่วมมือเรื่องมาตรกันที่เกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนไว้


© Wason Wanichakorn / Greenpeace

Naomi Klien วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ This Changes Everything ว่า ข้อตกลงทางการค้าอย่าง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership (TPP) ระบุไว้เพียงภาษาขอบเขตกว้าง ๆ ว่าประเทศผู้ร่วมสัญญาตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการร่วมมือ แต่ไม่ได้มีการผูกมัดทางกฎหมายหรือนโยบายแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ในสเกลระดับโลก ข้อตกลงทางการค้าไม่ได้เอื้อเพียงแค่การยึดครองทรัพยากรในประเทศที่ด้อยกว่าทางอำนาจ แต่ยังทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลอยตัวจากภาระรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศอื่น ถึงแม้จะเป็นบรรษัทจากประเทศตน เช่นว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและไนเตรทจากการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมในการปลูกพืชชนิดหนึ่งในประเทศอื่นในข้อตกลงการค้า ก๊าซเรือนกระจกและมลพิษอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ถูกนับว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกจากประเทศเจ้าของบรรษัท เพราะมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นภาระรับผิดชอบของแต่ละประเทศ อาจะทำให้ประเทศที่ร่ำรวยสามารถอ้างได้ว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกมาในเขตแดนประเทศของตนนั้นลดลงหรือสมดุลแล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วอาศัยสัญญาทางการค้าเปลี่ยนเขตแดนประเทศในการทำอุตสาหกรรม ทิ้งมลพิษไว้ที่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายที่อ่อนกว่าและขาดมาตรการในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด หรือแม้แต่อาศัยข้อกฎหมายในความตกลงทางการค้าอย่างเช่น CTPP ที่กำหนดว่านักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้หากได้รับความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐ โดยอาศัยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน

การยึดครองเมล็ดพันธุ์ได้คือการยึดครองระบบอาหารทั้งหมด กรอบการคิดที่ว่าเมล็ดพันธุ์คือสมบัติที่ต้องซื้อขายนี้ คือการอาศัยคำกว้าง ๆ อย่างเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ลดทอนคุณค่าของธรรมชาติและเอื้อเพียงประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ใช่เกษตรกร หรือคนในประเทศ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการครอบครองเมล็ดพันธุ์คือความหลากหลายทางชีวภาพจะหายไป แทนที่ด้วยมั่นคงทางอาหารที่จะอยู่ในมือของบริษัทมหาอำนาจเพียงไม่กี่บริษัท ดังที่วันทนา ศิวะ กล่าวว่า “เราอยู่ท่ามกลางการช่วงชิงครั้งใหญ่ ระหว่างสิทธิของธรรมชาติ กับสิทธิของบรรษัทอุตสาหกรรมและรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ยังยึดติดกับแนวคิดที่ล้าหลัง นี่คือความท้าทายของยุคสมัยนี้”

ที่มาข้อมูล:

Bassey, N. (2013). Opinion: African policymakers must reject seed colonialism. The Africa Report. https://www.theafricareport.com/5533/opinion-african-policymakers-must-reject-seed-colonialism/

Klein, N. (2015). This Changes Everything. Penguin Books.

Mies, M., and Vandana, S. (2014). Ecofeminism. Zed Books Ltd.

Shrybman, S. (2000). Trade, Agriculture, and Climate Change: How Agricultural Trade Policies Fuel Climate Change. Institute for Agriculture and Trade Policy. https://www.files.ethz.ch/isn/115080/2003-04-18_TradeAgClimateChange.pdf

ปณิศา เอมโอชา. (2020). ‘ISDS’ เครื่องมือทางกฎหมายที่อาจทำให้รัฐต้องจ่าย ‘ค่าโง่’ มหาศาล. Voice Online. https://voicetv.co.th/read/KrBwzzZA6

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม