ประเทศไทยมีรายงานการพบปลาฉลามมากถึง 76 ชนิดจาก 7 อันดับ 21 วงศ์ 39 สกุล แต่ถ้าถามว่าปลาฉลามชนิดใดที่เป็นมิตร และเป็นสัตว์ทะเลที่มีคนอยากพบเห็นมากที่สุดคงจะเป็นชนิดอื่นใดไม่ได้นอกจากฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งมหาสมุทร

ฉลามวาฬ (Rhincodon typus) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในวงศ์ Rhincodontidae ในอันดับ Orectolobiformes หรือกลุ่ม Carpet Shark ที่มีสมาชิกเด่นๆในกลุ่มเช่น ฉลามเสือดาว ฉลามขี้เซา ฉลามกบ

ฉลามวาฬเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก โตเต็มที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ฉลามวาฬตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกมีความยาวถึง 20 เมตร หนักถึง 42 ตันจากไต้หวัน  แม้จะเป็นสมาชิกปลาฉลามและมีฟันซี่เล็กๆเท่าหัวไม้ขีดกว่า 3,000 ซี่ แต่ฉลามวาฬหากินด้วยการกรองแพลงตอน และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ด้วยการอ้าปากกรองน้ำทะเลราวๆ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมงผ่านซี่กรอง (gill raker)

ฉลามวาฬแต่ละตัวมีลวดลายเฉพาะเหมือนลายนิ้วมือของคน เราจึงสามารถจำแนกฉลามวาฬแต่ละตัวได้ด้วยภาพถ่ายลายจุดด้านข้างลำตัว หากใครมีโอกาสบันทึกภาพฉลามวาฬด้านข้างได้ชัดเจน สามารถส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยัง www.whaleshark.org ได้ เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลฉลามวาฬทั่วโลก โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากนักวิจัยและนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีฉลามวาฬที่สามารถจำแนกได้แล้วในระบบกว่า 9,100 ตัว

ฉลามวาฬเป็นปลาที่อายุยืนมาก นักวิจัยประเมินว่าฉลามวาฬมีอายุเฉลี่ยราว 80 ปี โดยตัวผู้ต้องใช้เวลาราว 17 ปีจึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในขณะที่ตัวเมียอยู่ที่ 19 – 22ปี
เราสามารถพบฉลามวาฬได้ในทะเลเขตร้อนทั่วโลก โดยพบในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประมาณ 75% อีก 25% พบในมหาสมุทรแอตแลนติก การประเมินข้อมูลในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา (สามชั่วอายุ) พบว่าฉลามวาฬมีแนวโน้มลดจำนวนลง 40-92% แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในเอเชีย-แปซิฟิกฉลามวาฬมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยถึง 63% ทำให้ฉลามวาฬถูกยกระดับจากสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) เป็นใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามการประเมินล่าสุด (2016) ของบัญชีแดงสัตว์ที่ถูกคุกคามในระดับโลก (IUCN Red List of Threatened Species​)

ฉลามวาฬจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และได้รับการคุ้มครองทั้งโดยกฎหมายภายในประเทศ ได้แก่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชกำหนดการประมง ที่กำหนดให้ฉลามวาฬเป็น “สัตว์ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือ” มีโทษปรับสามแสนถึงสามล้านบาท และกฎหมายระหว่างประเทศ คือ CITES หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

แต่กระนั้นฉลามวาฬยังถูกคุกคามรอบด้าน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการพบครีบฉลามวาฬวางขายอย่างเปิดเผยในร้านอาหารหูฉลามในกรุงเทพฯ ถึงสองครั้ง ครั้งหนี่งที่เยาวราช กับอีกครั้งที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ ย่านศรีนครินทร์ กรณีที่สองเจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถเข้าจับกุมและยึดของกลางไว้ได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่ายังคงมีการค้าขายชิ้นส่วนอวัยวะของฉลามวาฬอย่างผิดกฎหมาย และอาจมีเครือข่ายโยงใยในระดับนานาชาติ การค้าหูฉลามที่ยังเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่มเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความต้องการใช้ประโยชน์ฉลามวาฬ

ในภาพรวมภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของฉลามวาฬคือการประมง เพราะยังคงมีการจับฉลามวาฬในบางภูมิภาคโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ถึงแม้ฉลามวาฬอาจไม่ใช่ชนิดเป้าหมายแต่เมื่อถูกจับได้ก็มักจะไม่ปล่อยและนำมาแปรรูปจำหน่ายต่อไป ก่อนหน้านี้ประมงพาณิชย์ในอินเดีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันมีการจับฉลามวาฬปีละหลายร้อยตัว แต่ลดลงไปมากหลังมีกฎหมายภายในประเทศคุ้มครอง ในประเทศไทยเองมีงานศึกษาคาดว่าความชุกชุมของฉลามวาฬที่ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นผลมาจากกิจการประมงพาณิชย์ทั้งที่โดยตั้งใจและการติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปฏิรูปกิจการประมงภายในประเทศขนานใหญ่ทำให้ปริมาณเรือประมงพาณิชย์ในทะเลไทยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ  ซึ่งสอดรับกับการพบเห็นฉลามวาฬ​ได้บ่อยครั้งมากขึ้นทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ข้อควรระวังที่ต้องติดตามคือการเพิ่มจำนวนของเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่อยากเข้าไปสัมผัสกับฉลามวาฬในระยะใกล้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเกิดเหตุฉลามวาฬถูกเรือชนเป็นประจำ ซึ่งฉลามวาฬที่ถูกเรือชนมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง

ภัยที่มองไม่เห็นอีกอย่างของฉลามวาฬคือปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารพิษที่สะสมอยู่ในไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ และส่งผลเสียต่อชีววิทยาการสืบพันธุ์​ของกลุ่มสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้าและมีอัตราการออกลูกต่ำอยู่แล้วอย่างฉลามวาฬ

หากอยากให้ฉลามวาฬอยู่คู่ทะเลไทย สิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นคือมาตรการอนุรักษ์ในระยะยาวที่ตอบโจทย์สำคัญทั้งเรื่องของข้อมูล การจัดการเครื่องมือประมงที่มีความเสี่ยงสูงต่อสัตว์ทะเลหายากอย่างอวนลากคู่ การท่องเที่ยวทางทะเลที่ขาดความรับผิดชอบ และช่วยกันแก้ปัญหาขยะทะเลด้วยการลดการสร้างขยะพลาสติกจากพวกเราทุกคน
Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม
ดร.เพชร มโนปวิตร

About the author

ดร.เพชร มโนปวิตร
เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

Comments

Leave your reply

Discussion

าลย ย