ในขณะที่เราต่อสู้กับการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เรายังต้องต่อสู้กับความท้าทายเพื่อลดการกดขี่และเรียกร้องให้ทุกคนได้เข้าถึงโลกที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน

ในปี 2563 ในช่วงที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมในเหตุการณ์การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ขณะนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงความเชื่อมโยงด้านการเคลื่อนไหวด้านความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศขึ้นพร้อม ๆ กัน  ลีอาห์ โธมัส นักกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม ให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบัญญัติเป็นศัพท์คำว่า intersectional environmentalism หรือ การที่มวลชนเห็นจุดร่วมของการเคลื่อนไหวทางสังคมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอธิบายได้ว่าการกดขี่ชุมชนอย่างหนักนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร

ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1980 ขณะนั้นการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้คนเลย และหลายครั้งก็ยังเพิกเฉยต่อเสียงของชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเชื่อว่าประชาชนต่างมีสิทธิ์อยู่อาศัยในที่ที่ปลอดภัย เคารพในสิทธิมนุษยชน มีการคมนาคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี

Protest Against Illegal Mining in Indigenous Lands in Brazil. © Tuane Fernandes / Greenpeace
ผู้นำชนพื้นเมืองในบราซิลเป็นผู้นำในการคัดค้านโครงการเหมืองที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชนพื้นเมือง © Tuane Fernandes / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มที่ ชุมชนชายขอบ (กลุ่มคนหรือบุคคลที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีอำนาจต่อรองเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือการจัดสรรทรัพยากร เพราะพวกเขาแตกต่างจากประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม) และกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยทั่วโลก มีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษปนเปื้อน อยู่ใกล้กับเส้นทางท่อส่งผ่านน้ำมันปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่ที่เข้าถึงอาหารได้ยาก จึงทำให้พวกเขากลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องเจอกับภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องราวพวกเขายังถูกลบเลือนหายไปอีกด้วย

เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ การเหยียดเชื้อชาติ  การเอารัดเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจ หรือการละเมิดสิทธิผู้อพยพ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของโลกที่เราอยากเห็น และการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเราร่วมมือกัน ดังนั้น เมื่อมวลชนมองเห็นจุดร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมขยับซ้อนทับไปกับการขับเคลื่อนทางสังคม  ซึ่งความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศคอยย้ำเตือนเราถึงมิติความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ เพศ ชนชั้น หรือความทุพพลภาพ เมื่อต้องเจอกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

นี่คือประเด็นความไม่เป็นธรรมบางส่วนที่เราสามารถเอาแนวคิดการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปเชื่อมโยง เพื่อต่อสู้ให้ทุกคนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและอาศัยอยู่ในโลกที่ปลอดภัย

*แนวคิดอัตลักษณ์และอำนาจที่ทับซ้อน (Intersectionality)* แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของบุคคลนั้น เช่น เชื้อชาติ เพศ ชนชั้น ความทุพพลภาพ ส่งผลต่อสิ่งที่พวกเขาต้องพบ รวมไปถึงการถูกกดขี่หรือการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราเห็นและจำแนกประสบการณ์แตกต่างกันที่แต่ละบุคคลเคยเจออีกด้วย

International Women's Day March 2019 in Seoul. © Soojung Do / Greenpeace
พนักงานและอาสาสมัครของกรีนพีซ จากสำนักงานในกรุงโซลร่วมรณรงค์ในวันสตรีสากล ที่จัดขึ้นบริเวณกวังฮมุน พร้อมกับป้ายข้อความ ‘Climate Justice, Gender Justice’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมด้านเพศสภาพทรงพลังและเกี่ยวข้องกับประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ © Soojung Do / Greenpeace

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องหยุดการเพิกเฉยต่อกลุ่มคนพิการ

ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพิกเฉยต่อกลุ่มคนพิการ สมาคมคนพิการเพื่อสิ่งแวดล้อม Eco-ableism  อธิบายไว้ว่าการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสหลักเสนอทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้นึกถึงทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อคนพิการด้วย 

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ผ่านมา บริเวณทางเข้าสถานที่ประชุมไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว  ทำให้นักกิจกรรมคนพิการหลายคนและรัฐมนตรีที่พิการไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ 

แน่นอนว่าองค์กรต่าง ๆ เช่น SustainedAbility , Disability and Climate Network ที่ทำงานเพื่อลดช่องว่างการเดินทางของคนพิการในการประชุม COP  หรือเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นสากล และองค์กรคนพิการกับความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ทำงานผลักดันให้เกิดแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีมิติของคนพิการรวมอยู่ด้วยนั้น จะไม่ยอมให้อะไรมาหยุดยั้งพวกเขาเพื่อร่วมเจรจาในการประชุมดังกล่าว 

วินนี่ ผู้สนับสนุนคนพิการในประเทศวานูอาตู ถือป้ายข้อความแปลว่า ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ คือ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร ภาพ : กรีนพีซ

มีกรณีที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเกิดภัยพิบัติเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ที่พัดถล่มสหรัฐอเมริกา ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้รถเข็นเดินทางได้ด้วยตัวเอง  อีกทั้งยังไม่ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่อาศัยรวมถึงที่พัก หนำซ้ำที่พักสำหรับคนพิการบางแห่งถูกก่อสร้างผิดรูปแบบเนื่องจากขาดวัสดุสำหรับก่อสร้าง  ส่วนในสหราชอาณาจักรมีจำนวนคนพิการ 14.1 ล้านคน  รัฐบาลอังกฤษล้มเหลวต่อการดำเนินการตามนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเอื้อต่อความเป็นอยู่ของคนพิการ ตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อผู้ทุพพลภาพแห่งชาติ ปี 2564 ซึ่งจะให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เมื่อไม่มีนโยบายประเภทนี้แล้ว จะทำให้ประชากร 20 % ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัย  ในฐานะนักขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมด้านความทุพพลภาพ (Disability Justice) คือการตระหนักว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

บ่อยครั้งที่การพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการจำกัดอยู่แค่ยานพาหนะ กับ การขนส่งมวลชน  ซึ่งความจริงแล้วเราต้องพิจารณาถึงการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านภาษาและความทุพพลภาพประเภทอื่นๆ ด้วย  ซึ่งนี่จะทำให้เราสร้างการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมกว่าเดิมเมื่อเราตระหนักถึงศักยภาพของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทุกคน

วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ภาพขบวนไพรด์ในอัมสเตอร์ดัม เป็นการแสดงพลังของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ( LGBTQIA+) โดยมีการเรียกร้องในประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย © Marten van Dijl / Greenpeace

คำถามหนึ่งที่มักมีการถกเถียงในกลุ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างไรต่อกลุ่มผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองต่างเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกัน

ทั่วโลก ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลกถึง 80% แต่มีแนวโน้มต้องย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยถึง 80% จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  พวกเธอมักจะเป็นผู้ดูแลหลักเรื่องอาหารการกินให้กับครอบครัว ซึ่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการประสบภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงยังเป็นผู้นำในการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ทั่วโลกอีกด้วย มีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเพื่อผู้หญิง (the Women’s Environmental Network) ในสหราชอาณาจักรคอยทำงานสนับสนุนพวกเธอ โดยองค์กรทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสนับสนุนด้านการจัดกิจกรรมและสื่อสารประสบการณ์ผ่านมุมมองผู้หญิงในงานรณรงค์ต่างๆ 

Global Climate Strike in Vienna, Austria. © Mitja  Kobal / Greenpeace
กิจกรรม Global Climate Strike ในกรุงเวียนนา ปี 2561 มีเยาวชนเข้าร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศกว่า 80,000 คน © Mitja Kobal / Greenpeace

การลดค่าผู้หญิงและกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้พวกเขาพบกับความเหลื่อมล้ำทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงต้องมองปัญหาในแง่ของความเป็นธรรมทางสังคมด้วย นอกจากนี้ การต่อกรกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบนั้นก็สำคัญพอ ๆ กับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

หากจะเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศต้องเรียกร้องความเท่าเทียมหลากหลายด้วย ย้อนกลับไปถึงการเดินขบวนไพรด์ครั้งแรก กลุ่มคนข้ามเพศผิวสีชาวละติน คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เลื่อนไหล  บุคคลที่มีสำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิง บุคคลที่มีเพศไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม ต่างเป็นผู้นำในการเดินขบวนต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจและการเข้าตรวจค้นบาร์ LGBTQA+ 

แต่ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพนั้นยังคงเกิดขึ้นในช่วงที่มีภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์ที่คู่รักเพศเดียวกันอาจไม่ได้รับการสนับสนุนบรรเทาทุกข์ในขณะที่ประสบกับภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับเหมือนกันกับคู่รักที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือในกรณีของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ non-binary (คนที่มองว่าเพศของตัวเองไม่ถูกจำกัดอยู่กับเฉพาะเพศชายและเพศหญิง) ล้วนเสี่ยงที่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการที่เจาะจงเพศ และเหมือนกับกลุ่มคนพิการอาจถูกปฏิเสธให้ที่พักพิงในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังมีประเด็นที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะขอลี้ภัยเข้าสู่สหราชอาณาจักรยากขึ้น เพราะร่างพระราชบัญญัติสัญชาติและพรมแดนอาจจะจะเพิ่มมาตรฐานในการพิสูจน์การขอลี้ภัยของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จากประเทศต่างๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความเท่าเทียมหลากหลายกับความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ จะช่วยให้เราตระหนักได้ว่าเชื้อชาติ ชนชั้น เพศและความทุพพลภาพต่างมีความสำคัญเท่ากัน ต่อให้จะได้รับหรือไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศก็ตาม

ความเท่าเทียมด้านเชื้อชาติ

เช่นเดียวกับการระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 เราจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำลายสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่ได้รับผลกระทบเท่ากัน เช่น เชื้อชาติจะเป็นตัวแปรหนึ่งในหลายตัวแปรสำหรับการกำหนดที่ตั้งโรงงานที่เป็นมลพิษ

นี่คือการเหยียดเชื้อชาติทางสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่ทำให้บางสังคมเสียเปรียบมากกว่าสังคมอื่น ตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มต้องอาศัยอยู่ใกล้กับเขตที่สิ่งแวดล้อมเป็นอันตราย เนื่องจากนโยบายและแนวปฏิบัติบังคับ

เจมมาร์ ซามูเอลส์ เข้าร่วมการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติเมื่ออายุ 17 ปี ผ่านองค์กร Advocacy Academy ซึ่งผลักดันงานรณรงค์ผ่านการเล่าเรื่องและการพูดผ่านสื่อ ทักษะของเจมมาร์นำไปสู่การร่วมก่อตั้งแคมเปญรณรงค์ชื่อว่า Halo Code ที่ได้รับรางวัล การรณรงค์ที่มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อทรงผมของคนแอฟริกันโดยเฉพาะในที่ทำงาน เมื่อพูดถึงสถานที่ทำงาน พวกเขามักจินตนาการถึงสถานที่ที่ผู้ถูกกดขี่ ไม่จำเป็นต้องรณรงค์ให้เกิดความเท่าเทียมในด้านความต้องการพื้นฐาน สิทธิ หรือความเป็นธรรม 

“เราไม่มีความเท่าเทียมหรือเสมอภาค เราจะมีเสรีภาพได้ต่อเมื่อยกเลิกระบบที่กดขี่เท่านั้น” เจมมาร์อธิบาย

อนาคตของการขับเคลื่อนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ การเชื่อมโยงประเด็นที่ทับซ้อนกัน

การกดขี่มีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกของผู้คนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานรณรงค์ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าชุมชนไหนกำลังได้รับการดูแล ใครที่มีส่วนในการตัดสินใจ ใครที่สามารถเข้าถึงทั้งทรัพยากรและการสนับสนุน และกลับมาถามตัวเราเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร ในเมื่อชุมชนชายขอบที่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่รวมเสียงจากชุมชนท้องถิ่นจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่สมบูรณ์ ดังนั้นเราต้องเห็นจุดร่วมของประเด็นความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

Climate March - People Not Profit - in Luxembourg. © Frederic Meys / Greenpeace
กิจกรรมรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ Youth For Climate ในเมืองลักแซมเบิร์ก ประชาชนหลายร้อยคนร่วมกับกรีนพีซเดินรณรงค์บนถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเลือก ‘ประชาชน มาก่อน ผลประโยชน์’ โดยเรียกร้องให้แหล่งทุนในลักแซมเบิร์กยุติการลงทุนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก © Frederic Meys / Greenpeace

เราต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่ โดยเราต้องให้พื้นที่แก่ผู้ที่ถูกถอนสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ** คนพิการ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ คนผิวดำ ชนพื้นเมือง และผู้คนในชุมชนผิวสี อัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อนช่วยให้เราเห็นว่าเราสามารถรวมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายได้อย่างไร และทำให้แน่ใจได้ว่าพวกเขาจะเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนที่พวกเขาต้องการอย่างไร การเริ่มจากช่องว่างที่กว้างที่สุดจะทำให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

** ผู้ที่ไม่สามารถสร้างหรือกระจายรายได้

การรณรงค์และความพยายามของเราเปรียบเหมือนขุมพลังจากกลุ่มคนที่เคียงข้างเรา อนาคตของการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมคือการคำนึงถึงความเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมและความเท่าเทียม

หากคุณสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างงานรณรงค์ที่เท่าเทียมและขับเคลื่อนได้จริง สามารถอ่านหนังสือของ Leah Thomas เรื่อง The Intersectional Environmentalist


บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความภาษาอังกฤษ ที่นี่

แปลโดย วาสนา พลเตมา นักศึกษาฝึกงาน