มหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญสารพัดภัยคุกคาม ขณะที่พื้นที่เพียง 1% ของทะเลหลวงเท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง 

การประชุม Intergovernmental Conference on BBNJ หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหาข้อสรุป “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ครั้งที่ 5  (IGC5) ที่จะเกิดขึ้นในมหานครนิวยอร์ค ตั้งแต่วันที่ 15-26 สิงหาคม สิ่งนี้จึงอาจเป็น “ความหวังสุดท้าย”

ทะเลหลวงคืออะไร สำคัญอย่างไร 

ทะเลหลวง คือทะเลที่อยู่นอกเหนืออธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง และอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มีเสรีภาพในการเดินเรือ บินผ่าน ทำประมง หรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 

ทะเลหลวงกินพื้นที่กว่า 43% ของพื้นผิวโลก เป็นผืนน้ำอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพอันซับซ้อน ขณะที่ลึกลงไป ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากที่เรายังไม่รู้จัก จนมีประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “มนุษย์เข้าใจดาวอังคารและดวงจันทร์มากกว่าส่วนลึกของมหาสมุทรในโลกเราเสียอีก”  พืนที่ทะเลหลวงที่เราอาจเคยได้ยินกันก็ เช่น มหาสมุทรแอนตาร์กติก มหาสมุทรอาร์กติก หรือทะเลจีนใต้

นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพ ทะเลหลวงยังมีความสำคัญต่อโลกและมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มันเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งกำเนิดชีวิต เป็นแหล่งภูมิทัศน์วัฒนธรรม และยังช่วยรักษาสมดุลสภาพอากาศของโลก

ทะเลหลวงช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าในชั้นบรรยากาศของโลกถึง 50 เท่า ขณะที่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลล้วนมีส่วนในการเคลื่อนย้ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผิวน้ำลงสู่ใต้ทะเล ทะเลหลวงจึงเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

แต่มันกลับไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร

สารพัดภัยคุกคาม

ปัจจุบันยังไม่มีความร่วมมือระดับโลกที่ดีพอในการปกป้องทะเลหลวง เขตคุ้มครองที่มีอยู่เป็นความร่วมมือเฉพาะในระดับภูมิภาค ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้แตกต่างกันไปตามพื้นที่ และครอบคลุมแค่พื้นที่เล็ก ๆ ในทะเลหลวงเท่านั้น

รายงาน The World Database on Protected Areas (WDPA) ในปี 2561 ระบุว่า มีพื้นที่อนุรักษ์ในมหาสมุทรทั้งหมด 15,334 แห่งทั่วโลก แต่กว่า 7.74% เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของน่านน้ำในประเทศ ขณะที่พื้นที่ในทะเลหลวงเพียง 1.18% เท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง

สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเลหลวงไม่ว่าจะบนผิวน้ำหรือใต้ทะเลลึกกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ โครงการทำเหมืองใต้ทะเลในอนาคต และมลพิษพลาสติก 

เมื่อไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ช่องโหว่ทางกฎหมายระหว่างประเทศยังเปิด ผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถตรวจสอบที่มาของอาหารได้อย่างโปร่งใสในทุกๆผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมประมงจึงเดินหน้ากวาดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากทะเลหลวงด้วยเครื่องมือประมงและเทคโนโลยีสมัยใหม่

บ้างใช้เบ็ดราวที่อาจยาวถึง 100 กิโลเมตร บ้างใช้อวนลาก ใช้อวนล้อม จับสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยไม่เลือก ทำให้มีการจับสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) เช่น ฉลาม เต่า สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลดลง สัตว์นักล่าที่คอยรักษาสมดุลห่วงโซ่อาหารก็ลดลง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรฉลามลดลงกว่า 70% 

ขณะเดียวกัน บริษัทอุตสาหกรรมหลายแห่งกำลังผลักดันให้เกิดการทำเหมืองทะเลลึก ซึ่งจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในทะเลให้สูญหายไปและไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาให้ดีเหมือนเดิมได้ 

การเปิดหน้าดินใต้ทะเลจะทำให้เกิดตะกอนลอยฟุ้งและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเลเป็นบริเวณกว้างหลายกิโลเมตร เสียงจากเครื่องจักรขนาดใหญ่คุกคามสัตว์ใต้ทะเลเช่น วาฬ โลมาและเต่า ซึ่งใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และจับคู่ผสมพันธุ์ แสงที่ใช้ทำงานยังรบกวนส่วนลึกของใต้ทะเลที่มืด ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ใต้ทะเลจะถูกรบกวนไปทั่วทั้งมหาสมุทร

นอกจากนี้ การขุดเหมืองจะทำลายระบบกักเก็บคาร์บอนใต้ท้องทะเล และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

หาทางออก

ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทำให้มีการพูดคุยในระดับนานาชาติเพื่อจะหาข้อตกลงในการปกป้องทะเลหลวง ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2545 

เมื่อเดือนเมษายน 2562 ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติเพื่อปฏิรูปการจัดการมหาสมุทรโลก ครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยยอร์ก มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และกรีนพีซ จึงเสนอแผน 30×30 หรือ แผนการปกป้องมหาสมุทรโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573

ข้อเสนอดังกล่าวเรียกร้องให้มีการกำหนด “เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” หลังพบว่าระบบนิเวศมหาสมุทรกำลังอยู่ในอันตรายจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์  

หลังการประชุมครั้งนั้น เดิมมีกำหนดประชุมครั้งต่อไปในเดือนเมษายน 2563 แต่การประชุมครั้งที่ 2 และ 3 ถูกเลื่อนออกไปกว่าสองปีจากการระบาดโควิด-19 ก่อนกลับมาประชุมกันอีกครั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งที่ 4 ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ 

การประชุมครั้งที่ 5 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-26 สิงหาคม จึงถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพราะหากหาข้อสรุปไม่ได้ เราจะไม่สามารถปกป้อง 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกได้ตามเป้าที่วางไว้ 

แต่ความท้าทายคือ การคัดค้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมประมง และเหมืองใต้ทะเล ที่พยายามรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งรัฐบาลบางประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มดังกล่าว

เราอยากชวนทุกคนมาร่วมจับตาดูการประชุมครั้งสำคัญครั้งนี้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับคนห้าล้านคนทั่วโลก ที่ลงชื่อเรียกร้องร่วมกับกรีนพีซให้เกิดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลดังกล่าว