“ขณะนี้เรายืนอยู่เบื้องหน้าทางแยกของถนนสองสาย แต่ต่างออกไปจากถนนในบทกวีชื่อดังของโรเบิร์ต ฟรอสต์ ถนนทั้งสองสายนี้ไม่เท่าเทียมกัน ถนนสายที่เราเดินทางมาตลอดนั้นเป็นเส้นที่ถูกทำให้เรารู้สึกว่าง่าย เป็นทางด่วนที่ราบรื่นและทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็ว แต่ปลายทางนั้นมีหายนะรออยู่ ส่วนอีกเส้นทาง หรือทางที่คนสัญจรน้อยกว่า คือเส้นทางที่เป็นโอกาสสุดท้ายและหนึ่งเดียวในการก้าวไปถึงเป้าหมายที่สามารถดูแลโลกได้อย่างแท้จริง” ราเชล คาร์สัน

ข้อความนี้ราเชล คาร์สัน ได้เขียนไว้ใน ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (1962) หนังสือที่บอกเล่าถึงอันตรายร้ายแรงของสารเคมีที่ใช้ในระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภัยเงียบที่ฆ่าสิ่งมีชีวิตอย่างไม่เลือก ทั้งนก แมลง ปลา รวมถึงสุขภาพของคน และได้จุดประกายการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม 

Soya Production in the Cerrado Region, Brazil.
ภาพเครื่องบินกำลังปล่อยสารเคมีปราบศัตรูพืชเหนือไร่ถั่วเหลืองใน Riachão das Neves บราซิล โดยพื้นที่นี้ได้รับการขนานนามว่า “Ring of Soy” เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลูกถั่วเหลืองจำนวนมาก

ปี 2565 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 60 ปีของฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในระบบอาหารปีที่กำลังจะผ่านไปนี้จะยังมีหลายสัญญาณที่น่ากังวลและการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง สิ่งที่เราต้องคิดหลังจากนี้คือเราจะเลือกเรียนรู้สิ่งเหล่านี้และกำหนดทิศทางระบบอาหารของโลกอย่างไรในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป

วิกฤตอาหารจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

เรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากระบบอาหารและเกษตรเชิงอุตสาหกรรมในปี 2565 ที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชนอย่างราคาที่ทะยานสูงขึ้น บ้างก็มาพร้อมกับภัยทางสุขภาพ ก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอาหารเป็นสำคัญที่เร่งให้เกิดสภาพภูมิอากาศ โดยที่ยังมาพร้อมกับการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า สารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ประกอบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวปริมาณมาก ๆ ในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ ที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในดินหมดไป 

ผู้คนหลายพันรวมตัวกันเพื่อประท้วงการบุกยูเครนของรัสเซียซึ่งทำให้เกิดสงคราม โดยงแสดงสัญลักษณ์สันติภาพเพื่อสื่อสาร เรียกร้องให้ยุติสงครามทันที

การก่อสงครามของรัสเซียต่อยูเครนตั้งแต่ต้นปีนี้ได้สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อชาวยูเครน และยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบอาหารของโลกที่พึ่งพาการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นฐานการผลิตสำคัญด้านธัญพืช รวมถึงเป็นผู้ผลิตและส่งออกส่วนผสมสำคัญที่ใช้ในปุ๋ยประเภทไนโตรเจน คือ แอมโมเนีย ยูเรีย และโพแทสเซียม ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นราคาปุ๋ยเคมีจึงเชื่อมโยงกับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล นั่นหมายความว่าด้วยระบบอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และผูกขาดของโลกในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงสั่นสะเทือนถึงตั้งแต่การผลิตอาหารจากธัญพืช เช่น ขนมปัง อาหารปศุสัตว์ ไปจนถึงการขนส่งวัตถุดิบมาจากแดนไกลที่ต้องอาศัยเรือและใช้น้ำมัน 

หลายประเทศในโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาอาหารที่ขึ้นราคา บทเรียนที่สำคัญของความไม่ยั่งยืนของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมคือ ผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อยคือผู้ที่ต้องแบกรับกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของระบบอาหารแบบผูกขาด การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ขาดแต่เพียงเจตจำนงของผู้นำประเทศและผู้นำโลก

การสูญเสียป่าไม้เพื่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายไปราว 10 ล้านเฮกตาร์ต่อปี โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตร 

ในปีนี้กรีนพีซได้เผยข้อมูลวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในรายงาน เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย โดยมีข้อค้นพบสำคัญจากการวิเคราะห์การจำแนกการใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดิน ในปีพ.ศ. 2545 ถึง 2565 พบว่า พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) โดยปี 2550 มีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์อย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้เป็นสาเหตุของการทำลายผืนป่าในภาคเหนือตอนบนของไทยในรอบ 20 ปี มากถึง 1,926,229 ไร่ (ปี 2545 เทียบกับปี 2565) 

นโยบายรัฐที่สนับสนุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2547) เป็นต้นมา โดยมีนโยบายหลักคือเกษตรพันธสัญญา และมาตรการจูงใจ อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% คืออิทธิพลที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนอันเนื่องจากระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม และขาดมาตรการทางกฎหมายที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงผืนป่าและก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต 

จากการวิเคราะข้อมูลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม MODIS ในช่วงปี 2558-2563 ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี พื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ถูกทำลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 10.6 ล้านไร่ คุกคามสุขภาพของประชาชนทั้งภูมิภาคและเชื่อมโยงกับการขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์รายใหญ่จากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ในการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 11 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า สามารถลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงปี 2565 ลงได้ 23% เมื่อเทียบกับปี 2564 และขอความร่วมมือให้ทุกประเทศพยายามลดลงให้ได้ 20% 

อย่างไรก็ตาม การประชุมไม่กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา นั่นคือ นโยบายการลงทุนภาคเกษตรกรรมที่ไม่สนใจใยดีต่อกฏเกณฑ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การทำลายป่าไม้ที่เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity-driven deforestation) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักของก๊าซเรือนกระจก และตัวการหลักในการก่อมลพิษจากข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำในยามวิกฤตอาหารราคาแพงคือส่งเสริมการปลูกพืชอาหารอินทรีย์เพื่อเลี้ยงทั้งคนในประเทศและส่งออก ไม่ใช่การเน้นการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่มีแค่เพียงบริษัทอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์บนหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“Nature Positive” การฟอกเขียว และคำสัญญากลวง ๆ

การประชุม COP27 ที่ผ่านมาจบลงด้วยความน่าผิดหวัง มีเพียงประเด็นเรื่องกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งจะเป็นกองทุนที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่น่าจับตามองว่าจะช่วยเยียวยาประเทศที่เป็นผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกน้อยแต่กลับได้รับผลกระทบมากได้อย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามยังขาดความคืบหน้าในการดำเนินการจากผู้นำประเทศว่านโยบายต่าง ๆ ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ รวมถึงหยุดยั้งการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพนั้นทำได้ถึงเป้าหมายหรือไม่ แต่กลับเน้นการเจรจาของกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

COP27 Flood The COP.
กลุ่มเยาวชน นักกิจกรรม และองค์กรผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

สำหรับการประชุมเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 ปรากฎความหวังขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อการประชุมดังกล่าวยอมรับสิทธิ บทบาท อาณาเขตและภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง ในการปกป้องผืนดิน ผืนน้ำ เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังน่าผิดหวังที่การประชุม CBD COP15 นี้ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายที่มุ่งมั่นมากพอ รวมทั้งยังไม่มีการเจรจาด้านการเงินเพื่อหยุดภัยที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แม้ว่าที่ประชุมจะตกลงใช้เป้าหมาย 30×30 ที่อธิบายไว้ว่าจะต้องปกป้องพื้นที่ระบบนิเวศในป่ากับในมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 แล้ว แต่หากศึกษาในรายละเอียดของมติการประชุมนั้นมีเพียงการระบุตัวเลขพื้นที่ที่จะปกป้อง ยังไม่มีการระบุกิจกรรมที่ส่งผลอันตรายต่อพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องนั้นๆเลย

Great March led by Indigenous leaders for Biodiversity and Human Rights during COP15.
ภาพการเดินรณรงค์ของประชาชนหลายร้อยในเมืองควิเบค เมื่อ 10 ธันวาคม 2022 แคนาดา นำโดยผู้นำจากกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 พวกเขาร่วมแสดงพลังให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนน้ำผืนป่า คือกลุ่มคนสำคัญที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลก และกลุ่มผู้นำแต่ละประเทศจะต้องเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและปกป้องพวกเขาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ในการประชุม CBD COP15 ยังปรากฎคีย์เวิร์ดสำคัญในงาน และอยู่ในร่างข้อตกลงความร่วมมือ คือคำว่า “Nature Positive” ว่าแต่คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่

นั่นเป็นคำถามที่ดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าหมายความว่าอะไร และคำกลวง ๆ เช่นนี้แหละที่เป็นปัญหา เปิดช่องว่างให้กับโมเดลเศรษฐกิจที่ล้มเหลวในการใส่คำสวย ๆ ลงไป มากกว่าการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแท้จริง ที่มาของคำกลวง ๆ เช่นนี้ น่าจะมีฐานความคิดมาจาก “Net Zero Loss” ของธรรมชาติ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนที่โปรโมทมาตั้งแต่ปี 2020 และวางว่าจะขยับสู่ “Net Positive” ในปี 2030 สุดท้ายปี 2050 จะเป็นปีที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการวางเป้าหมายเช่นนี้เป็นเป้าหมายที่ขาดเป้าหมายเชิงรูปธรรม มาตรวัด และความหลากหลายทางชีวภาพนั้นซับซ้อนเกินกว่าจะใช้หลักการแค่ว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อผลประโยชน์แล้วค่อยปลูกป่าทำฝายก็สามารถหักลบกลบหน่วยคาร์บอนได้แล้ว ในความเป็นจริงนั้นการทำลายป่าแห่งหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนด้วยการปลูกป่าที่พื้นที่อื่นได้

คำกลวง ๆ เช่นนี้ จึงเหมือนเป็นทางออกให้กับแผนการจัดการโดยกลุ่มธุรกิจ และเป็นแผนการที่ล้มเหลวที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดที่มีต้นทุนสูง เพราะปัจจุบันเราเห็นแล้วว่ามีประเด็นอื้อฉาวมากมายในแผนการชดเชยคาร์บอนรวมทั้งการฟอกเขียว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต

กฎหมายยุติการทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทานการรับซื้อของสหภาพยุโรปที่ต้องจับตามอง

ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีรับปลายปีหลังจากการรณรงค์อย่างยาวนานของภาคประชาสังคม เมื่อสหภาพยุโรปออกกฎหมายใหม่ที่ระบุว่า บริษัทอุตสาหกรรมจะต้องตรวจสอบย้อนกลับสินค้าโภคภัณฑ์ของตนตลอดช่วงอุปทานการรับซื้อ โดยจะรวมถึงพื้นที่การเพาะปลูก และจะต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่งถูกทำลายลง มิเช่นนั้นจะต้องชดเชยด้วยค่าปรับ ซึ่งกฎหมายนี้จะครอบคลุมบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้า อาทิ เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ไม้ ยาง โกโก้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสัตว์ ชอคโกแลต และเฟอร์นิเจอร์ ร่างข้อเสนอนี้จะได้รับการปรับปรุงอีกครั้งเพื่อรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการผลิตพืชพลังงานเข้ามาด้วย ภายในระยะเวลาสองปี เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายป่าเช่นกัน

Fire Monitoring in the Amazon in Brazil in July, 2022.
ที่รัฐ Porto Velho, Rondônia กรีนพีซ บราซิล บินอยู่เหนือทางใต้ของป่าแอมะซอน ซึ่งเป็นตอนเหนือของรัฐ Rondônia เพื่อติดตามการทำลายป่าและไฟป่าในแอมะซอน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022

ขณะนี้ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสินค้าและอาหารที่เราซื้อนั้นเชื่อมโยงกับการทำลายป่าไม้หรือไม่ กฎหมายนี้จึงดูเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับป่าไม้ และทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องป่าไม้มาโดยตลอด  อย่างไรก็ดี ยังมีช่องโหว่ในกฎหมายนี้อยู่ เช่น ยังไม่ระบุรวมถึงป่าประเภททุ่งหญ้า และป่าพรุ รวมถึงยังขาดการระบุถึงการปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองผู้ต่อสู้ปกป้องผืนป่าด้วยชีวิตมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังปราศจากการกำหนดให้สถาบันการเงินของยุโรปยุติการสนับสนุนการกู้ยืมลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้ ไม่เช่นนั้นแล้วหากสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลสูงระดับโลกในสหภาพยุโรปยังคงเกื้อหนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นรูปแบบขั้นตอนที่ประเทศอื่นน่าจะนำมาใช้เพื่อยุติการทำลายป่าไม้เช่นกัน