
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 รัฐสภาไทยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ในวาระ 2 และ 3 โดยมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศมารวมตัวปักหลักที่หน้ารัฐสภา เพื่อติดตามการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ หมวดที่ 5 มาตรา 27 ว่าด้วยเรื่อง “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” อันเป็นหัวใจหลักของการคุ้มครองสิทธิส่งเสริมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดการทรัพยากรและพื้นที่ เพื่อพัฒนาประเทศร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์
มาตรา 27 จะช่วยคุ้มครองสิทธิที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่าจัดการ ‘บ้าน’ ของตนเองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม
ในอดีตพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าลงหลักปักฐานตั้งชุมชนอยู่อาศัยกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามป่า ภูเขา รวมไปถึงชายฝั่งทะเล ส่งทอดผืนดินจากพรรพบุรุษสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบันบนผืนดินเหล่านั้นไม่ได้มีเพียงแค่บ้านเรือนมีทั้งบ้านหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณความเชื่อ แต่ยังมีระบบการทำไร่หมุนเวียนที่สืบทอดภูมิปัญญาการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ให้ป่าได้ฟื้นตัว และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตของพวกเขาจึงผูกพันและเกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน ต้นน้ำ ป่า และทะเล ในฐานะผู้พิทักษ์และผู้อาศัยที่แท้จริง
แต่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซ้อนทับด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทำให้หลายชุมชนถูกพรากสิทธิการมีส่วมร่วมในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรษ ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกลายเป็น “กลุ่มเปราะบาง” โดยรัฐไทยที่อ้างถึงความมั่นคงแห่งรัฐ จนส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในถิ่นที่อยู่และความไม่มั่นใจที่จะสามารถดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้

“เราในฐานะเยาวชนคนหนึ่งจากจังหวัดเชียงราย ต้องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงชีพเพราะคำว่าคุณภาพชีวิต แม้ว่าเราจะมีต้นทุนทางทรัพยากรในพื้นที่เยอะมาก แต่เราไม่สามารถจัดการหรือทำอะไรได้เลย คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน คือ พื้นที่ในป่าบ้านเกิดของเรา รัฐไม่เปิดโอกาสให้เราได้ทำตามความฝัน จนต้องเข้ามาในเมืองและทำให้เราไม่สามารถเปิดเผยรากเหง้าของเราได้”
ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ (เปีย) ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง
หลักการและแนวปฏิบัติของมาตรา 27 การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงมีความสำคัญ คือ การให้สิทธิพี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ประโยชน์ และการจัดการดูแล
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมิให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะบุคคล อันเป็นการเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่เผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงในแหล่งที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางวัฒนธรรม พร้อมกันนั้น การให้สิทธิดังกล่าวมิได้เป็นการเพิกถอนพื้นที่ของรัฐ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น มาตราดังกล่าว จึงเป็นหลักประกันให้เกิดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่ม เป็นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
รัฐบาลไทย ละเลยสิทธิอันพึงมีของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ขัดหลักเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนยัน

สส. พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทยได้กล่าวในการอภิปรายมาตรา 27 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ว่า “เป็นการให้อภิสิทธิ์ชนกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับปัญหาการกดทับจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ไม่มีสิทธิในการพัฒนาถิ่นฐานที่ตนอาศัยอยู่ สูญเสียพื้นที่ทำกินตลอดจนการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันเนื่องมาจากการรวมศูนย์อำนาจการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาที่มาจากศูนย์อำนาจทางการปกครอง ดังนั้น มาตรา 27 มิใช่กระบวนการที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าบุคคลใด แต่เป็นการให้สิทธิอันพึงได้รับในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น
“พรบ.ป่าไม้ อนุรักษ์ป่า ป่าสงวน เป็นสิ่งที่พรากวิถีทางวัฒนธรรมของชุมชนหายไป ในฐานะคนที่อยู่กับป่าจริง ๆ เราต้องการให้พ.ร.บ.ออกมาเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตกับป่าได้อย่างแท้จริง และมีความเท่าเทียมกับคนในเมือง ทำให้สังคมไทยเท่าเทียมกัน มีสิทธิเหมือนกันในฐานะคนไทยด้วยกัน”
คุณเล็ก ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

การอภิปรายของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ จึงถือเป็นการขัดแย้งต่อหลักการเปลี่ยนแปลงโลก: วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ที่ว่าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน โดยมีใจความสำคัญ คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกมีสิทธิที่จะดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของ การดูแลรักษาถิ่นที่อยู่และทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพัฒนาที่กำหนดและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง พร้อมกันนั้นรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเคารพในความหลากหลายและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกแตกต่างกันมากกว่า 4,000 กลุ่ม ซึ่งมีประชากรประมาณ 476 ล้านคน และแต่ละกลุ่มนั้นก็มีองค์ความรู้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ยังเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าทั่วโลก ในฐานะรากฐานที่สำคัญมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน วิธีการจัดการทรัพยากรโดยอาศัยความรู้ในท้องถิ่นมักจะนำไปสู่การใช้งานแบบเสมอภาคและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากจากประสบการณ์และความเข้าใจเชิงลึกที่สะสมและถ่ายมาอย่างยาวนาน
ชุมชนดั้งเดิมกับรัฐ กระบวนการแบบมีส่วนร่วม ทางออกของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ในโลกที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงและความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังเสื่อมโทรม พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังคงเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบอาหารที่หลากหลายและการทำไร่หมุนเวียนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พี่น้องชาติพันธุ์สามารถมีความมั่นคงทางอาหารและรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนพื้นเมืองบางแห่งใช้ความรู้ดั้งเดิมเพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การจัดการไฟป่า การทำแนวกันไฟ เพื่อลดการเผาไหม้ทั่วไป นอกจากนี้ วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการดูแลรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติ ผ่านการกำหนดพื้นที่ทางจิตวิญญาณกับป่า ภูเขา ต้นน้ำ ตลอดจนพื้นที่ทางทะเล มุมมองที่มีต่อธรรมชาติที่เป็นดั่งของขวัญจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานของชุมชนให้เกิดความรักและการเอาใจใส่ในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างคำกล่าวที่ว่า “เอาะ ที เก่อ ตอ ที เอาะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ” หมายถึง กินน้ำให้รักษาน้ำ พึ่งพาป่าให้รักษาป่า อันเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศเจตนารมณ์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนกะเบอดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ต่อสู้กว่า 5 ปีกับกลุ่มนายทุนเพื่อช่วยยับยั้งการปลดปล่อยคาร์บอนที่เป็นอัตราเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ได้จำนวนประมาณ 1,770,000 ตัน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งป่าและต้นน้ำไม่ให้ถูกทำลายกลายเป็นพื้นที่การทำเหมืองถ่านหิน
ณ ปัจจุบัน มีหลายองค์กรระหว่างประเทศที่ยอมรับและสนับสนุนองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น องค์การสหประชาชาติ (United Nations) และอนุสัญญาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ในมาตรา 8J ได้เน้นย้ำถึง องค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเรื่องที่สำคัญมากและจำเป็นต้องรักษา ขณะเดียวกันรัฐต้องส่งเสริมการทำงานร่วมกันจึงจะสามารถสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้ยิ่งขึ้น

พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะผู้ที่มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อสิทธิในการพัฒนาของชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองด้วยการคว่ำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในมาตรา 27 ฉบับ กมธ.เสียงข้างมาก ว่าด้วยเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
รัฐบาลไทยในฐานะผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการรับกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องคืนอำนาจให้พี่น้องชาติพันธุ์สามารถมีสิทธิในการเป็นเจ้าของ พัฒนา และดูแลที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรซึ่งพวกเขาครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณีดั้งเดิมหรือเคยใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหรือเคยได้อยู่อาศัยมาก่อน
กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระและเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมในประเทศไทย พร้อมยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างกับพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เราเชื่อมั่นว่า การเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous rights) และการฟื้นฟูสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง (self-determination) คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติรวมถึงนิเวศบริการโดยรวมต่อสังคมไทย
ข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทยต่อรัฐบาลต้องปฏิบัติตามแนวทางดังนี้

- รัฐบาลต้องพร้อมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองตามแนวทางของ Indigenous peoples and local communities (IPLCs) ในการปกป้องที่ดิน แหล่งน้ำ อาณาเขต และความหลากหลายทางชีวภาพของพวกเขา โดยใช้แนวทางที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน อาทิ การเสริมสร้างมาตราการเพื่อรับรองสิทธิในที่ดินและแหล่งน้ำตามจารีตประเพณีของชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง
- พร้อมทั้งประกันการเข้าถึงสิทธิของพวกเขาให้สอดคล้องกับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ในด้านสิทธิในการพัฒนาและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะทางจิตวิญญาณกับที่ดิน เขตแดน แหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่จะไม่ถูกช่วงชิงโดยกลุ่มผู้มีอำนาจหรือถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีที่ยึดเหนี่ยวกับพื้นที่ดั่งเดิมที่พวกเขาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหรือเคยได้อยู่อาศัยมาก่อน
- รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยในเขตป่าและรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการป่าที่ครอบคลุมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแลและการใช้ประโยชน์ ที่สอดคล้องกับ (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์เพื่อรับรองสิทธิในการดํารงชีวิต และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำมาซึ่งการผลิตที่มั่นคง ยั่งยืน และแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เน้นการวางแผนและมีส่วนร่วมในถิ่นฐานและวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนในเขตป่า โดยที่สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ
- รัฐต้องสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในเวทีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในระหว่างประเทศที่กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองต้องมีสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อการตัดสินใจ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แถลงการณ์กรีนพีซ ประเทศไทย “สิทธิทางสิ่งแวดล้อมของชนเผ่าพื้นเมือง”