ทุกวันนี้กระแสความตื่นตัวเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ต่อภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีมากขึ้นในสังคมไทยอย่างมหาศาล เราเริ่มเห็นคนทั่วไปพยายามลดละเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งส่วนหนึ่งความตื่นตัวนี้ก็น่าจะเกิดจากข่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่ามีสัตว์ต่าง ๆ กินพลาสติกเข้าไปจนถึงแก่ความตายที่ทำให้เกิดกระแสเป็นระยะ
อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ปัญหาที่เรียกได้ว่า “ใหญ่” ในระดับโลกมากกว่าเรื่องขยะพลาสติกดูจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Emrgency) ซึ่งชาวไทยก็มักจะรู้จักในชื่อ “ภาวะโลกร้อน” มากกว่า ดังนั้นในที่นี้เราจะใช้คำว่า ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามชาวโลกสุด ๆ ส่งผลต่อสภาพดำรงอยู่นับไม่ถ้วนตั้งแต่สิ่งที่รู้สึกได้ชัด ๆ อย่างการที่อากาศในหน้าร้อนมันร้อนขึ้นทุกปี ไปจนถึงเรื่องไกลตัวที่คุกคามมาเงียบ ๆ แบบเรื่องระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ
ความสนใจที่น้อยนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่สามารถจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้ จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้านอกจากจะไม่มีตังค์แล้ว โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างสถานีชาร์จไฟในเมืองไทยก็ยังไม่พร้อมอีก จะเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างอื่นก็นึกแบบที่พอทำไหวไม่ออก (เพราะคงจะน้อยคนที่จะหยุดเปิดแอร์และเลิกขึ้นเครื่องบิน) สุดท้ายก็เลยไม่ทำอะไร
แต่จริง ๆ แล้ว ทุกคนช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ และสิ่งที่ทุกคนทำได้แน่ ๆ ในชีวิตประจำวันก็คือ การลดการกินเนื้อสัตว์ลง
…ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงว่าการลดการกินเนื้อสัตว์จะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร เราคงต้องย้อนกลับไปอธิบายหน่อย เพราะต้องเข้าใจทั้งระบบ
อย่างแรกสุดเลย ทุกวันนี้ที่โลกร้อน ปัจจัยมีสองส่วน ส่วนแรกคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ) ไปสู่ชั้นบรรยากาศที่มากขึ้นของมนุษย์ อีกส่วนคือการลดลงของต้นไม้ที่เคยช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ
และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ส่งผลทั้งสองทาง จึงทำให้กิจกรรมนี้ของมนุษย์สงผลต่อภาวะโลกร้อนอย่างหนัก
โดยทั่วไปเวลาเราคิดถึงภาวะโลกร้อนเราจะมองว่าเกิดจากการเผาไหม้สารพัดที่มากขึ้นของมนุษย์ ตั้งแต่จากโรงงานอุตสาหกรรม ยันการใช้รถยนต์ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ภาวะโลกร้อนมันแย่ในระดับปัจจุบันก็เพราะ “ป่า” เราน้อยลงเยอะ
ทุกวันนี้มนุษย์เรามีการผลิตเนื้อสัตว์มากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนประมาณ 6 เท่าตัว [1] ซึ่งถามว่าโลกเราก็พื้นที่เท่าเดิม เราผลิตเนื้อสัตว์มากขนาดนี้ได้ยังไง คำตอบง่าย ๆ ก็คือก็เพราะเราถางป่าเพื่อจะสร้างพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์และสร้างพื้นที่ในการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์มากขึ้น ซึ่งการใช้ผืนป่าปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์นี่แหละคือภัยเงียบที่เรามักจะมองไม่เห็น
เวลาเราพูดถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค เรามักจะนึกถึงฟาร์มที่มีสัตว์อัดแน่นกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหมูหรือไก่ แต่สิ่งที่เรามักจะไม่คิดกันก็คือ “อาหาร” ของสัตว์เหล่านั้นมันมาจากไหน คำตอบก็คือ เราต้องถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเกษตรปลูกพืชธัญญาหารเชิงเดี่ยวเอาไว้เป็นอาหารสัตว์ และนั่นกินพื้นที่ที่เรา “มองไม่เห็น” อย่างมากมายมหาศาลในโลก
มากแค่ไหน? เปรียบเทียบง่าย ๆ คือพื้นที่ทางการเกษตรในโลกนี้เกิน 80% คือพื้นที่ที่อุทิศให้ระบบการผลิตเนื้อสัตว์มาให้เรากินทั้งระบบ [2]
คนที่มีความรู้เรื่องโภชนาการอาจเถียงว่า ก็เพราะเนื้อสัตว์มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากมายที่จะให้พลังงานกับมนุษย์ และมนุษย์ต้องการสิ่งเหล่านี้เพื่อจะดำรงชีวิต ดังนั้นการใช้ที่ดินเยอะก็ดูสมเหตุสมผลกับสารอาหารที่ได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง ในขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรเกิน 80% ของมนุษย์นั้นอุทิศให้กับการเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบ แต่การผลิตเนื้อสัตว์ทั้งระบบให้พลังงานกับมนุษย์ไม่ถึง 20% ของการผลิตทางการเกษตรทั้งหมด และโปรตีนกับมนุษย์ไม่ถึง 40% ของการผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของมนุษย์ [3]
พูดง่าย ๆ คืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้น มองในเชิงการผลิตสารอาหาร มันเป็นการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างร้ายแรงมาก ๆ ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากถ้าเทียบกับการปลูกพืชเพื่อบริโภคโดยตรง
เมื่อต้องใช้ที่ดินในการเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบมากขึ้น ก็หมายถึงพื้นที่ของป่าก็จะมีน้อยลง และนั่นก็ทำให้โลกร้อนขึ้นเพราะป่าซึ่งเป็นแหล่งดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้มีเท่าเดิมแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราพูดทั้งหมดตรงนี้มีเพียงแค่เรื่องของการถางป่าเท่านั้น เรายังไม่ได้พูดถึงกิจกรรมอย่างการขนส่งอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ไปจนถึงการปั๊มน้ำในปริมาณมหาศาลเพื่อให้การเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบเป็นไปได้ รวมถึงการใช้น้ำเพื่อขั้นตอนการชำระล้างในโรงฆ่าสัตว์ และสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและทำโลกร้อนทั้งนั้น
มาถึงตรงนี้ก็คงจะชัดเจนมาก ๆ ว่าในบรรดาอาหารการกินของมนุษย์ เนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด เพราะการจะผลิตเพิ่มมันหมายถึงการถางป่า และทุกวันนี้ภาวะแบบนี้ก็ดำรงอยู่ อย่างข่าวเรื่องไฟป่าแอมะซอนที่สะท้านโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ คนที่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เห็นปุ๊บก็จะรู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เพราะทางบราซิลต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงวัวเพิ่ม เพราะบราซิลคือชาติที่ส่งออกเนื้อวัวเป็นอันดับ 1 ของโลก และเนื้อวัวคือเนื้อสัตว์ที่ใช้พื้นที่ในการเกษตรในการผลิตสิ้นเปลืองที่สุด เพราะหากเปรียบเทียบการผลิตโปรตีนจากเนื้อวัวให้เท่ากับการผลิตโปรตีนจากเนื้อหมู ต้องใช้พื้นที่การเกษตรรวมมากกว่าประมาณ 15 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อไก่ การผลิตเนื้อวัวใช้พื้นที่การเกษตรมากกว่าถึง 20 เท่า [4]
ซึ่งพูดแบบนี้อาจดูเหมือนว่าเนื้อไก่นั้นใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามาดูจริง ๆ แม้แต่การผลิตโปรตีนจากเนื้อไก่ ก็ยังใช้พื้นที่มากกว่าการผลิตโปรตีนจากพวกพืชตระกูลถั่วถึง 2-3 เท่าเลย
จากที่กล่าวมา ถ้ามองในเชิงโภชนาการเพื่อลดโลกร้อนแล้ว สิ่งที่โลกควรทำอย่างเร่งด่วนก็คือการปลูกป่าเพิ่ม ลดพื้นที่ทางการเกษตรลง โดยที่เราสามารถลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหาโปรตีนทดแทนจากพืชผักได้ เพราะการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ที่ประหยัดพื้นที่กว่ามาก
และนี่ไม่ใช่แค่การคิดในเชิงตรรกะเท่านั้น เพราะบทความวิชาการในวารสาร Nature บอกมาตั้งแต่ปี 2561 แล้วว่าถ้ามนุษย์จะอยู่ในโลกได้ถึงปี 2593 ยังไงมนุษย์ก็ต้องกินเนื้อสัตว์ต่อหัวลดลง [5] เพราะสิ่งที่เราลดและคุมไม่ได้แน่ ๆ ก็คือการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งตอนนี้แม้ว่าโลกตะวันตกอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำ แต่ภูมิภาคที่มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดคือแอฟริกา หรือกล่าวง่าย ๆ คือ ถ้าทวีปแอฟริกามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แล้วคนในทวีปบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นแบบที่คนตะวันตกและคนเอเชียทำมาในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ยังไงโลกก็รับไม่ไหว
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยล่าสุดจากทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) [6]ก็ได้เพิ่งออกรายงานพิเศษมาในเดือนสิงหาคม 2562 ว่า มนุษย์มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินโดยการรับโปรตีนจากพืชมากขึ้น และบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
พูดอีกแบบคือ ณ ตอนนี้ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าการกินเนื้อสัตว์ของเราทำให้โลกร้อนจริง และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเราสามารถจะสู้กับภาวะโลกร้อนได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง และเราก็ควรจะทำอย่างนั้นด้วย
และนี่คือสิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้เลย และก็ไม่แปลกที่นักกิจกรรมที่จริงจังด้านโลกร้อนก็ลดกินเนื้อสัตว์กัน หรือบางคนก็กินแบบวีแกนไปเลย
ซึ่ง แนวทางแบบนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางด้านโภชนาการและสาธารณสุขในโลกที่พยายามให้มนุษย์ลดการบริโภค “เนื้อแดง” มานานแล้วเพราะถือว่ามีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจในระยะยาว และไม่ว่ารูปแบบการบริโภคของเราจะเป็นแบบไหน สิ่งสำคัญการกินอาหารให้ครบตามโภชนาการและสมดุลตามที่ร่างกายต้องการ
แต่สิ่งที่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันก็คือทุกวันนี้มนุษย์เรากินเนื้อสัตว์กันมากเกินไปจริง ๆ และการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ยังไงก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งนั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่ทั้งนักกิจกรรมลดโลกร้อนและนักโภชนาการเห็นตรงกัน
อ้างอิง
[1] ข้อมูลจาก UN Food and Agriculture Organization ดูในรูปแบบกราฟได้ที่ https://ourworldindata.org/meat-production
[2] ดู Joseph Poore and Thomas Nemecek, “Reducing food’s environmental impacts through producers and consumers”, Scienceม
Vol. 360, Issue 6392, pp. 987-992 อ่านออนไลน์ได้ที่ https://science.sciencemag.org/content/360/6392/987
[3] Joseph Poore and Thomas Nemecek, ibid.
[4] ดูข้อมูลจากทาง World Economic Forum ได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2019/01/eating-less-beef-will-and-more-beans-will-cut-global-deaths
[5] บทความชื่อ “Options for keeping the food system within environmental limits” สามารถดูเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ที่ https://www.nature.com/articles/s41586-018-0594-0
ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์
มีส่วนร่วม