“เราที่เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์คนนี้ ขอพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ อนุญาตให้เราอาศัยทำกิน อยู่บนผิวของท่าน จะอนุญาตได้หรือไม่”
นี่คือถ้อยคำที่ชุมชนปกาเกอะญอจะต้องกล่าวทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มทำไร่หมุนเวียน กระแสทางสังคม ถ้อยแถลงจากตัวแทนรัฐ สื่อ และนักวิชาการในช่วงที่ผ่านมากำลังเพ่งเล็งว่าคนบนดอยผู้ทำไร่เลื่อนลอย หรือล่าสัตว์เก็บเห็ด คือมือเผาตัวการสำคัญของการก่อฝุ่นพิษข้ามแดน เมื่อ 29 พฤษภาคม 2567 ชุมชนปกาเกอะญอจากหลายจังหวัดและมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์สู้ไฟป่า และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมเปิดตัวงานวิจัยในกิจกรรม “ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน” ที่มุ่งทลายมายาคติทางสังคมต่อชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษอย่างตรงจุดที่ต้นตอของปัญหาและไม่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของโครงสร้างทางสังคม
งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการเผยว่าฝุ่นที่เกิดในพื้นที่ไม่ได้มาจากการเผาไร่หมุนเวียนอย่างเดียว แต่มีที่มาจากอุตสาหกรรมด้วย โดยที่ศักยภาพของป่าหมุนเวียนนั้นสามารถรับการดักจับฝุ่นได้ ถึงแม้เราจะเผาบางส่วน แต่พื้นที่สามารถรองรับมลพิษได้ รวมถึงไร่หมุนเวียนและป่าพักฟื้นยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ดี และสามารถพิสูจน์ได้ว่าไร่หมุนเวียนไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เป็นภาระทางสังคมและเศรษฐกิจ
ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย
การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ตัวแทนเสียงส่วนหนึ่งจากชนพื้นเมืองปกาเกอะญอได้อธิบายว่า การทำไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอจะต้องผ่าน 18 ขั้นตอน ซึ่งพวกเขาบอกว่าไม่สามารถจู่ ๆ ไปทำไร่ได้ ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลยกว่าจะได้กินข้าวหม้อนึง
“การทำไร่หมุนเวียน คนอื่นเขาหาว่าเป็นการทำลายป่า” นัฐวุฒิ กาหลง ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน จังหวัดลำปาง กล่าว “ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาเรา หาว่าเราบุกป่า แต่ที่จริงเป็นที่ที่ปู่ย่าตายายเราให้ไว้ ที่ไหนเป็นที่น้ำซับน้ำซึมเราก็ไม่ทำ ป่าที่เป็นป่าใหญ่เราไม่ได้ทำ แต่เป็นพื้นที่ที่เราหมุนเวียนและพื้นที่พัก มีขอบเขตชัดเจน” คุณนัฐวุฒิ อธิบายต่อว่า การทำไร่หมุนเวียนมีระบบการจัดการแนวกันไฟ และชุมชนมีกฎระเบียบก่อนทำไร่หมุนเวียน ต้องมีการขอกับคณะกรรมการหมู่บ้านว่าพื้นที่นี้สมควรได้ทำหรือไหม มีการทำแนวกันไฟรอบหมู่บ้าน 36 กิโล ทำทุกปี ปีละสองรอบ โดยมีรอบกุมภาพันธ์ และมีนาคม มีการลาดตระเวนไฟในเดือนเมษายน ในอดีตทางชุมชนมีการทำไร่หมุนเวียนเฉลี่ยคนละหนึ่งไร่ต่อปี แต่ทุกวันนี้ถูกนโยบายรัฐจำกัดไม่ให้ทำไร่หมุนเวียน ทำให้ชุมชนมีผลผลิตไม่พอเพียง ไม่พอกินเหมือนกับทุกปี
“ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย อยากให้ลบล้างอคตินี้และทำความเข้าใจ” อำพร ปัญญา ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินดำ สุพรรณบุรี กล่าว “กะเหรี่ยงไม่ใช่คนรวย เป็นคนจนที่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เราได้สัมผัสตั้งแต่เล็กจนโตว่า ไร่หมุนเวียนที่เราทำเป็นทรัพยากรของทุกคน แต่ทุกวันนี้เราต้องอยู่ในกรอบของพื้นที่ที่ทับซ้อนของรัฐทั้งที่เป็นพื้นที่ของเรามาก่อน แต่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตยภายหลัง ถ้าวันใดวันหนึ่งเราต้องโดนออกจากพื้นที่ตรงนี้เราจะทำอย่างไร ความมั่นคงจึงไม่มี ไร่หมุนเวียนเปรียบเสมือนคลังอาหารของเรา ทุกวันนี้เราโตมาได้จากข้าวในไร่หมุนเวียน เราภูมิใจนะคะที่เป็นคนกะเหรี่ยง”
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชุมชน บ้านบางกลอย เพชรบุรี เป็นผู้หนึ่งที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับป่า แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ลงมา เขากล่าวโต้อคติของไร่หมุนเวียนว่า “การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนคิด แต่มีเรื่องความเชื่อ ถ้าเจ้าที่ไม่อนุญาตก็ทำไม่ได้ โดยกระบวนการกำจัดวัชพืชนั้นใช้แค่แรงไม่ใช้ยาฆ่าแมลง มีการจัดการไฟด้วยแนวกันไฟ ใช้เวลาแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที ดังนั้นไม่ได้ก่อฝุ่นควันเยอะขนาดนั้น เราไม่ได้ตัดต้นไม้แบบถอนรากถอนโคน แต่เป็นการตัดที่สามารถแตกตอออกต้นใหม่ เมื่อปี 2524 มีออกประกาศอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่เรา และในปี 2539 ขับไล่ให้เราลงมา บอกจะให้พื้นที่ทำกินคนละ 7 ไร่ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ให้ เราอยากจะกลับไปใช้วิถึชีวิตไร่หมุนเวียนเหมือนเดิม ไม่ใช่การทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปัจจุบันชาวบ้านถูกดำเนินคดี แม้แต่ทางเข้าบ้านเราก็ยังถูกปิดกั้น ต้องเข้าออกเป็นเวลา”
ไร่หมุนเวียนทำให้เกิด PM2.5 กระทบคนในเมืองจริงหรือไม่?
ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเป็นวิถึเกษตรกรรมเชิงนิเวศ แต่ขณะนี้กลับตกเป็นจำเลยหลักและเป็นอคติของสังคม โดยที่รัฐได้ออกกฎหมายมากดทับชาวพื้นเมืองชาติพันธุ์และไร่หมุนเวียนเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่ออกจากพื้นที่บรรพบุรุษ การกำหนดพื้นที่อุทยานมาทับซ้อน หรือแม้แต่การห้ามเผา
งานวิจัยโดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์สู้ไฟป่า และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในครั้งนี้ได้ศึกษาศักยภาพในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กในระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่บ้านแม่ส้าน จังหวัดลำปาง (พื้นที่ 18,000 ไร่) เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ผลของงานวิจัยระบุว่า ค่าความเข้มข้นในชุมชนมีค่าต่ำกว่าพื้นที่อื่นภายนอกหมู่บ้าน แต่มีแนวโน้มลักษณะเดียวกันกับพื้นที่รอบๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าการแพร่กระจายฝุ่นในระดับภูมิภาคทำให้เกิดแนวโน้มในรูปแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากในพื้นที่
ผศ. อภิพงษ์ พุฒคำ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อสังเกตว่า
“เมื่อ 28 มีนาคม 2567 ในชุมชนเริ่มเผาไร่เวลา 15.00 และเสร็จสิ้นภายในหนึ่งชั่วโมง ปรากฎว่าความเข้มข้นฝุ่นกลับลดลง แล้วเพิ่มขึ้นในวันที่สอง สิ่งที่สันนิษฐานคือ การแพร่กระจายฝุ่นในระดับภูมิภาคเป็นปัจจัย ดังนั้นการเผาในพื้นที่จึงไม่ส่งผลหรือส่งผลน้อยมาก หรือข้อสันนิษฐานที่สองคือ ฝุ่น PM2.5 กว่าจะตกลงมานั้นใช้เวลา แต่นักวิจัยคิดว่าข้อสันนิษฐานแรกเป็นไปได้มากกว่า”
อีกประเด็นศึกษาในงานวิจัยนี้คือ ความสามารถในการเก็บฝุ่นของใบไม้ก่อนและหลังเผาไร่หมุนเวียน โดยเก็บข้อมูลในวันที่ฝนตกมากกว่า 15 มม. เก็บใบไม้จำนวน 10 พันธุ์ และกรองหาน้ำหนักฝุ่นที่เก็บบนใบไม้เพื่อคำนวนน้ำหนักต่อพื้นที่ผิวบนใบไม้ ผลการประเมินการระบายมลพิษของการเผาไร่หมุนเวียนสามแปลง เมื่อเทียบกับความสามารถในการเก็บฝุ่น มีผลการวิจัยว่าศักยภาพในการกักเก็บสูงกว่าการระบายจากการเผา โดยเฉพาะแปลงที่หมุนเวียน 7 ปี แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อความเร็วลมสูงขึ้น เนื่องจากโอกาสฝุ่นเกาะติดใบไม้ลดลง
“ศักยภาพในการกักเก็บฝุ่นของป่านิเวศมีมากกว่าการระบาย จึงไม่ควรตกเป็นจำเลยของปัญหาฝุ่น
และเมื่อวัดค่าฝุ่นในป่านิเวศพบว่าลด PM2.5 ลงได้ 37-68% ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อมูลก่อนหน้านี้ว่าทำไม PM2.5 ในแม่ส้านจึงต่ำกว่าพื้นที่ภายนอก เนื่องจากป่าช่วยดักฝุ่นไว้ได้” ผศ. อภิพงษ์ พุฒคำ กล่าว
อีกหนึ่งข้อค้นพบของงานวิจัยคือ เมื่อนำเอาแผ่นกรอง PM2.5 ไปวิเคราะห์ต้นกำเนิดฝุ่น พบว่าเบื้องต้น ฝุ่นมาจากการเผาวัสดุการเกษตร คมนาคม ถ่านหิน (จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ) และแหล่งธรรมชาติ เช่น ไฟป่า โดยพบสารจากถ่านหิน คลอรีน และโซเดียม ซึ่งคาดว่ามาจากพื้นที่ที่ใช้ปุ๋ย (เกษตรเชิงเดี่ยว)
การเปิดพื้นที่ไร่หมุนเวียน หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใครทำลายหน้าดินมากกว่ากัน?
จตุพร เทียรมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการเก็บข้อมูลที่พื้นที่แม่ส้าน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566-มกราคม 2567 โดยเลือกพื้นที่ลาดชันใกล้เคียงกัยที่ร้อยละ 35-40% เก็บข้อมูลจากน้ำที่ตกลงมาในถังไหลจากแปลงเพื่อหาตะกอนในช่วงฤดูฝน 5-6 เดือน พื้นที่ตัวอย่างวิจัยคือ
1. พื้นที่ไร่ข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชัน ถูกใช้ต่อเนื่องหลายปีและมีการเผาเพื่อเตรียมดินก่อนปลูก มีการใช้ปุ๋ยเคมี
2. พื้นที่ไร่ข้าวปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรที่ปล่อยให้ฟื้นตัว 7 ปี แล้วทำการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกในช่วงการทำวิจัย
3. พื้นที่ไร่เหล่าที่พักฟื้นแล้วเป็นเวลา 3 ปี หลังจากเคยปลูกข้าว และปล่อยให้ไม้ยืนต้นขึ้น
4. พื้นที่ป่าธรรมชาติที่ไม่เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก
นักวิจัยเผยว่า ความสามารถในการอุ้มน้ำจากการตรวจสอบพบว่าอยู่ที่ประมาณ 60% ทั้ง 4 พื้นที่ โดย พื้นที่ไร่ข้าวโพด อยู่ที่ 59% พื้นที่ไร่ข้าวปัจจุบัน 60% ไร่เหล่า 3 ปี 61% ป่าธรรมชาติ 65% ข้อมูลนี้ระบุได้ว่ายิ่งปล่อยให้ระบบนิเวศฟื้นตัวจะเห็นศักยภาพของดินในการอุ้มน้ำมากขึ้น แต่ตะกอนดินในไร่ข้าวโพดมีเยอะกว่าเนื่องจากมีการทำไร่ซ้ำๆในพื้นที่เดิม เมื่อน้ำไหลบ่าไร่ข้าวโพดจะมีประสิทธิภาพในการอุ้มน้ำน้อยกว่าพื้นที่อื่น โดยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พื้นที่ไร่ข้าวโพดมีปริมาณน้ำไหลบ่า 119 ลบม.ต่อไร่ ไร่ข้าวปัจุบัน 55 ลบม.ต่อไร่ ไร่เหล่า 3 ปี 66 ลบม.ต่อไร่ และป่าธรรมชาติ 88 ลบม.ต่อไร่ ตามข้อมูลระบบไร่หมุนเวียนที่เกิดใหม่สามารถเก็บน้ำได้ดีกว่าป่าธรรมชาติ แต่ต้องมีการเว้นช่วงตามระยะเวลา 7-8 ปี
สำหรับการสูญเสียดินโดยตรวจวัดจากปริมาณตะกอนจากการพัดของน้ำ พบว่าพื้นที่ไร่ข้าวโพดมีปริมาณตะกอนใยน้ำไหลบ่ามากที่สุด คือ 2.39 กรัมต่อลิตร รวมถึงมีตะกอนมากที่สุดที่ 286.32 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับตะกอนจากไร่ข้าวปัจจุบันที่มีเพียง 93.31 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น สะท้อนว่าการใช้ที่ดินซ้ำและต่อเนื่องอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดปริมาณน้ำไหลบ่าผิวดินและพัดพาตะกอนออกจากพื้นที่มากที่สุด และการกล่าวหาว่าไร่หมุนเวียนทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินและการไหลบ่าของน้ำผิวดินนั้นเทียบไม่ได้เลยแม้แต่น้อยกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่มีนโยบายรัฐคอยสนับสนุนหนุนหลัง
“คนตัวเล็กตัวน้อยแบบเราเทียบกับบริษัทใหญ่ๆก็ปล่อยไม่เท่ากัน แล้วทำไมเขาถึงไม่ถูกควบคุมเลย” พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้ายสบลาน อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ กล่าวถึงวิธีการเผาอย่างเลี่ยงใหม่ได้ของเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีปริมาณสูงกว่าการเผาเพื่อเตรียมดินของไร่หมุนเวียน ซึ่งยังสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรที่มีต้นทุนสูงอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐสนับสนุน
“กรณีฝุ่นควันข้ามแดน กลุ่มทุนและพืชเชิงเดี่ยวก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย แต่ทางรัฐแทบจะไม่ได้พูดถึงในส่วนนี้เลย มักกล่าวโทษคนอยู่กับป่าว่าเป็นสาเหตุ” ชาติชาย กุศลมณีเลิศ ชุมชนบ้านปางทอง ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง ตาก กล่าว
ชาติพันธุ์ไม่ควรอยู่กับป่า ?
“ผลงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ชัดว่า ไร่ข้าวไม่ได้สร้างฝุ่นพิษขนาดนั้น” จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าว “นโยบายที่ผ่านมาจะมองว่าคนอย่างเราที่อยู่ใกล้ทรัพยากรมากที่สุด คือ คนผิด มาตรการห้ามเผาที่ครอบคลุมสามเดือน แต่เมื่อห้ามเผา เราก็เผาไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงเป็นแพะรับบาป”
จรัสศรี เสริมว่า การใช้ดาวเทียมเพื่อกำหนดพื้นที่ของมติครม.เป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากดาวเทียมไม่สามารถอ่านได้ว่าเป็นไร่หมุนเวียน เพราะเมื่อไร่หมุนเวียนผ่านไปจะกลายเป็นพื้นที่ป่า ดังนั้นนโยบายที่กำหนดลงมาจากบนลงล่างจึงไม่สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง “พรบ.อากาศสะอาดควรควบคุมอุตสาหกรรมหรือเกษตรเชิงเดี่ยว บริษัทการนำเข้ารับซื้อ ไม่ใช่มาจำกัดพวกเราที่ไม่ได้ใช้แม้แต่สารเคมีทางการเกษตร เรากังวลว่าการประกาศพรบ.ออกมาพวกเราจะโดนอีกแล้ว ผู้มีอำนาจควรส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงอำนาจด้วยการกระจายการตัดสินใจในการใช้ไฟ ทั้งการเผา และการทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นการจัดการของชุมชนที่ไม่เคยได้รับงบประมาณจากรัฐ ส่วนไฟในเขตอุทยานหรือป่าสงวนที่ท่านมีอำนาจ ท่านควรจะดูแล”
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอภิสิทธิ?
“ตอนที่ผมขออนุญาตเผาในพื้นที่เฉพาะไร่หมุนเวียน ไม่ได้เป็นพื้นที่ข้าวโพด คำถามจากราชการระดับสูงคือ ภาคเหนือมีวิกฤตฝุ่นอยู่แล้ว คุณยังซ้ำเติมอีกหรือ” สมคิด ทิศตา หนึ่งในทีมวิจัยชุมชนบ้านแม่ส้าน จังหวัดลำปาง กล่าว “มีอยู่ปีหนึ่งเราเผาตามช่วงเวลาที่อนุญาต แต่พบว่าเป็นการเผาที่ไม่สมบูรณ์ ได้ผลผลิตไม่ดี และมีวัชพืชขึ้นเยอะ ปีนี้อำเภออนุญาต แต่ต้องหลบช่วงเวลาดาวเทียมที่ตรวจจับจุดความร้อน”
สมคิดกล่าวถึงนโยบายที่เอื้อกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหนือไร่หมุนเวียนว่า “แม้เราไม่อยากให้มีการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุมชน แต่ทุกวันนี้มีการประกันราคาจากรัฐบาลเป็นการส่งเสริม ทำให้ชุมชนขัดแย้งกันหากมีการห้ามทำกันในชุมชน เราจึงอยากให้มีการคุ้มครองพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่มีการรักษาป่าที่สมบูรณ์ แทนที่การสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”
สมคิดเชื่อว่า งานวิจัยนี้จะเป็นคำตอบและคำอธิบายว่า ชนพื้นเมืองไม่ได้สร้างฝุ่นและทำลายหน้าดิน และยืนยันได้ว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นเกษตรที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ทำไมต้องเป็นคนกลุ่มนี้ที่ต้องถูกบีบให้ปรับตัว แต่คนอื่นที่มีส่วนก่อปัญหากลับไม่ถูกพูดถึง?
“ไร่หมุนเวียน มีการใช้เพียงเสียม การหยอดเมล็ดพันธุ์ และสองเท้า เพื่อสร้างแหล่งอาหารบนพื้นที่ลาดชัน ระบบเกษตรกรรมนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลักร้อยปี ถ้าหากสร้างความสูญเสียให้ป่า ป่านนี้ป่าไม่เหลือรอดจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว ปัจจุบันนี้ไม่มีทางที่ไร่หมุนเวียนจะขยายเพิ่มขึ้นในสังคมไทย แต่มีแนวโน้มที่จะลดลง ด้วยนโยบายรัฐ ทำไมคนตัวเล็กกลุ่มนึงทำมาหากินตามวิถีชีวิตถึงถูกเพ่งเล็งขนาดนี้ ปัญหาฝุ่นพิษของประเทศจึงเป็นปัญหาที่วางอยู่บนความไม่เป็นธรรมทางสังคม” ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร กล่าว
ธนากร เปรียบเทียบความไม่เป็นธรรมของการมองปัญหาฝุ่นพิษกับสถานการณ์ที่กรุงเทพฯว่า ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นทั้งปีอย่างในกทม.ที่ไม่มีไร่หมุนเวียนกลับไม่ถูกกล่าวโทษ และการคิดแก้ปัญหาแบบควบคุมพื้นที่คนชนพื้นเมืองนั้นจะสามารถสร้างผลกระทบต่อวงกว้าง เช่น ป่า ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม
“ถ้าเงื่อนไขเดียวกัน การเกิดสันดาปในรถยนต์ของคนกทม.ก็คือการเผาไหม้ใช้ไฟ จะสร้างนโยบายมาควบคุมคนกทมได้หรือไม่ ถ้าเช่นนั้นทำไมคนชาติพันธุ์ถึงตกอยู่ในการควบคุมของนโยบายอยู่ฝ่ายเดียว ประเทศอื่นเริ่มนำความรู้ของชนพื้นเมืองมาปรับใช้แล้ว เราจะไม่เก็บระบบวิถีวัฒนธรรมและระบบอาหารแบบนี้ไว้ในประเทศเลยหรือ”
ข้อมูลจากงานวิจัยของกรีนพีซพบว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เชื่อมโยงกับการขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนมากถึงร้อยละ 41 ของจุดความร้อนทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือมีสัดส่วนมากกว่าจุดความร้อนจากพื้นที่ป่าและแปลงเกษตรอื่นทั้งหมด แต่การแก้วิกฤตฝุ่นพิษข้ามแดนที่ภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญนั้นยังคงเป็นการกำหนดนโยบายแบบ “บนลงล่าง” (Top-down) ปกครองรวมศูนย์ที่ยิ่งซ้ำเติมสิทธิพื้นฐานที่ขาดหายไปของประชาชน แต่กลับเอื้อผลประโยชน์กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม ภาระการพิสูจน์ผู้ก่อมลพิษจึงไม่ควรตกอยู่กับคนตัวเล็กอย่างชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ แต่ควรจะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ที่จำเป็นจะต้องนำระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดช่วงโซ่การผลิตมาใช้เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงได้