ในทศวรรษนี้ไปจนถึงปี ค.ศ.2030 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับทุกชีวิตบนโลก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเลือกว่าเราจะปกป้องโลกเพื่อให้สายใยโครงสร้างทางระบบนิเวศใบนโลกได้ฟื้นฟูตัวเองและเป็นบ้านของเราต่อไป หรือเราจะเลือกให้กลุ่มทุนผู้ก่อมลพิษยังคงแสวงหาผลกำไรเข้าตัวและทำลายโลกต่อไป ?
ปลายปีที่จะถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทั่วโลกจะมาพบกันในการประชุมที่เมือง คาลี ประเทศโคลอมเบีย ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน เพื่อร่วมประชุมเจรจาในการประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ UN Convention on Biological Diversity (CBD COP16) ซึ่งเป็นการประชุมที่เริ่มจัดมาเป็นประจำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 โดยมีประเทศกว่า 196 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งจุดประสงค์ของการประชุมนี้คือการปกป้องให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกยังคงอยู่

กรอบการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโลกที่มีมนุษย์อยู่ในนั้นด้วย
กำหนดการแรกที่จะเกิดขึ้นในเมืองคาลีจะเป็นการเริ่มต้นนำข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออลในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 มาปรับเป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการกำหนดเป้าหมายการปกป้องระบบนิเวศและปล่อยให้ระบบได้ฟื้นฟูตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม
ระบบนิเวศคือระบบแห่งชีวิต และเราจำเป็นต้องพึ่งพาระบบนิเวศเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น น้ำ อากาศและอาหาร นอกจากนี้ยังมี ยา ที่เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ที่มีวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาทางเทคโนโลยี งานวิจัยระบุว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ย 69% ตั้งแต่ปี 1970 ดังที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการสูญพันธ์ุครั้งที่ 6 ที่นักวิทยาศาสตร์บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

เราไม่อาจให้การทำลายระบบนิเวศเกิดขึ้นต่อไปได้อีก
เราช่วยปกป้องระบบนิเวศได้อย่างไรบ้าง
การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 16 นี้จะเป็นครั้งแรกของการพูดคุยเกี่ยวกับระบบนิเวศโลกตั้งแต่ปี 2565 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นแล้วจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมประมง การขุดเจาะแหล่งฟอสซิล โครงการเหมืองทะเลลึก และการแสวงหาผลกำไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มธุรกิจที่ร่ำรวย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามของโลกเรา

ผู้นำแต่ละประเทศยังคงเพิกเฉยต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่
รัฐบาลแต่ละประเทศทั่วโลกยังคงปล่อยให้อุตสาหกรรมใหญ่แสวงหาผลกำไร ทำลายสภาพภูมิอากาศไปเรื่อย ๆ และปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กลุ่มรัฐบาลที่ร่ำรวยในยุโรป โอเชียเนีย เอเชียตะวันออก และอเมริกาเหนือ ที่มีประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองผ่านการทำลายสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ จะต้องให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนด้านการเงินในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้เรายังขาดการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กลุ่มประเทศซีกโลกใต้ เช่นพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน พื้นที่ชายฝั่งที่อุดมไปด้วยแนวปะการังและพื้นที่ภูเขาใต้ทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพและกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

กรอบการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกที่เกิดขึ้นในเมืองคาลีในปี 2565 โดยนำเสนอโอกาสให้โลกต้องลงมือปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจริง ๆ นอกจากรัฐบาลที่จะต้องคว้าโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นจะต้องทำให้เกิดการแก้ปัญหาจริง ๆ อย่างเช่นการสนับสนุนด้านการเงิน ส่งเสริมสิทธิ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายอย่างแท้จริง และต้องปฏิเสธแนวทางที่เป็นการฟอกเขียว ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงในอนาคต
ออกัส ริค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร กรีนพีซ เอเชียตะวันออก