“ป้าจะพูดความจริงเพื่อสู้กับกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว และทำลายสิ่งแวดล้อม และอ้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อเอาเปรียบประชาชนด้วยกัน” 

รอยยิ้มของพยุง มีสบาย หรือเรารู้จักกันในนามว่า “ป้าพยุง” ผู้เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่ได้เริ่มเดินทางต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมมายาวนานกว่า 30 ปี เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ตำบลบ้านเเลง อ.เมือง จ.ระยอง ที่ล้อมรอบไปด้วยอุตสาหกรรมหนักและโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่ดูเหมือนจะเป็นชะตากรรมที่คนระยองจะต้องอยู่ท่ามกลางมลพิษที่หนักขึ้นทุกวัน การเดินทางเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีของป้าพยุงจึงนำพาเรามาพบเธอในครั้งนี้ 

.

ใบหน้าที่มีรอยยิ้มส่งพลังให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า การต่อสู้ให้ได้มาเพื่อสิทธิทางพลังงานที่เป็นธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งอดีตของเธอเคยเผชิญหน้าอย่างแข่งขันเพื่อทวงคืนคลอง พื้นที่สาธารณะ และเรียกร้องให้ผู้ปล่อยมลพิษหลักต้องรับผิดรับชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดระยอง เช่น กลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิต การประกอบกิจการ  การปล่อยมลพิษทางอากาศ ดินและแหล่งน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น 

จังหวัดระยองเป็นอีกจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมมากที่สุดจึงไม่อาจปฏิเสธต่อปัญหามลพิษที่รุมเร้าและเรื้อรังมายาวนานไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กลิ่นเหม็น มลพิษ ที่ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติต่อชุมชน สุขภาพและสังคมที่ถูกล้อมรอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม การเริ่มต้นพูดคุยครั้งนี้จึงชวนย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้และนำมาสู่เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ที่เริ่มจากความเชื่อมั่นในความถูกต้องและความจริงเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอได้สู้เพื่อความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมจนมาถึงปัจจุบัน ตลอดการต่อสู้จึงเป็นการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพลังงานจากศักยภาพที่ตัวเองรู้ว่ามันมีอยู่ นั่นก็คือพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ที่มันส่องมาที่หลังคาบ้านทุกวันในเวลากลางวัน ในช่วงแรกเริ่มของป้าพยุงที่เชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนจากแสงแดดมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ดีนั้นมาจากการร่วมต่อสู้ในขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาๆ ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม

“ป้าได้เริ่มไปฟังผู้เชี่ยวชาญที่เขามาให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มจุดประกายอยากจะติดโซลาร์เซลล์บ้าง เพราะบ้านป้าไฟดับบ่อยมากทั้งๆ ที่บ้านของป้านั้น ล้อมรอบไปด้วยโรงงาน และอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมฯฟอสซิลแต่กลับต้องเจอกับปัญหาไฟฟ้าดับอาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง”


เมื่อความมั่นคงทางพลังงานจากภาครัฐเป็นเพียงแค่คำบอกกล่าวเท่านั้นแต่ศักยภาพของการใช้ไฟฟ้าของผู้คนใน ต.บ้านแลง จ.ระยองต้องพบเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้จากบ้านของตนเองจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ป้าต้องทำเพื่อคนที่รักได้ใช้ชีวิตร่วมกันต่อได้อย่างไม่ต้องกังวล 

“คุณลุงเป็นผู้ป่วยติดเตียงแต่ไฟฟ้าบ้านป้าดับบ่อยมาก สามวันสี่วันดับ แต่ที่โรงงานอุตสาหกรรมไม่ดับนะสว่างจ้าทั้งคืนทั้งวันเพราะพวกเขาทำงานกันทั้งวันทั้งคืนรบกวนชาวบ้านชาวช่องไปหมด แต่บ้านป้าคุณลุงต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ เราจึงติดต่อช่างเพื่อมาติดโซลาร์เซลล์ จริงๆ ใจป้าอยากติดตั้งมานานละตั้งแต่ลุงยังไม่ป่วยเราคุยกันว่าอยากติดตั้งมันบนหลังคา ตอนนั้นก็ต้องประเมินคุณภาพหลังคาบ้านด้วยเรารอไม่ไหวเลยติดกลางสนามและทำโครงสร้างขึ้นมาใหม่ ตอนนั้นเงินก็ไม่สมดุล แต่พอลุงมาป่วยละต้องใช้เครื่องออกซิเจน สุดท้ายเราก็อดทนยอมเก็บหอมรอมริบจนได้ติดโซลาร์เพื่อให้ลุงได้อยู่กับเราตราบนานเท่านาน”

หลังจากที่ได้รับฟังป้าเล่าเรื่องราวการติดโซลาร์เซลล์พวกเราก็พลันคิดถึงข่าวผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลาต้องเสียชีวิตลงเพราะถูกตัดไฟเลยถามป้าว่าป้าคิดเห็นอย่างไรบ้าง สีหน้าป้าตกใจและตอบว่า “มันไม่ควรนะมันไม่ควรไปตัดไฟเขากับคนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ และจริงๆ แล้วเรื่องไฟฟ้าเนี่ยมันควรทำให้เราได้มีโอกาสเข้าถึงได้ใช้อย่างเป็นธรรมสักทีไม่ควรให้เราต้องทนจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงเกินค่าแรงของคนหาเช้ากินค่ำ เมื่อไหร่ละรัฐจะทำให้เรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับอย่างเป็นธรรมสักที ? ” 

เป็นคำถามที่เราก็แทบจะหาคำตอบจากภาครัฐไม่ได้เลยเพราะในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับร่างปี 2567 หรือ PDP2024 ก็ไม่ได้มีระบบส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมที่จะก่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปของภาคประชาชนตามมาตราการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net metering ) ที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ ชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเลยมีแต่เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลเพิ่มอย่างน้อย 6 ถึง 8 โรง

การติดโซลาร์เซลล์ครั้งนี้ของป้าพยุงจึงเป็นความมั่นคงทางพลังงานเดียวที่เป็นทางเลือกให้ผู้เป็นคู่ชีวิตสามารถใช้ออกซิเจนได้ยาวนานและมั่นคงที่สุด และยิ่งกว่านั้นการติดในครั้งนี้กลับช่วยให้ครอบครัวของเธอมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคงในการใช้ชีวิตโดยปราศจากความมืดของไฟฟ้าที่ดับอยู่บ่อยครั้งอีกเลยจึงกลายเป็นสิ่งที่ครอบครัวเธอให้ความสำคัญในการเดินหน้าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาที่บ้านลูกสาวของเธอด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าความแตกต่างก่อนและหลังติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์เห็นได้ชัดจากตัวเลขที่ลดลงของบิลค่าไฟ

“เมื่อก่อนจ่ายค่าไฟเดือนละสามพันกว่าพอบ้านเราติดโซลาร์เซลล์ ป้าจ่ายค่าไฟต่อเดือนไม่ถึงสองพันการติดโซลาร์เซลล์มันดีมากเลยทีเดียวถ้าเราทำได้โดยที่รัฐบาลสนับสนุน ประชาชนก็จะลืมตาอ้าปากกันได้”

ในปี 2567 นี้รัฐบาลไทยพยามแก้ไขร่างพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับร่างปี 2567 แต่จาก 13 ข้อสังเกตุของเครือข่าย JustPow และกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่าแผนการผลิตไฟฟ้ายังคงพึ่งพาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่หยุดและหนึ่งในนั้นคือการใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซฟอสซิลที่เราเรียกกันว่า LNG มาผลิตไฟฟ้าซึ่งอาจจะเป็นตัวการที่ก่อวิกฤตโลกเดือดเเละทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต นอกจากนี้เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเเละเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนผ่านการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราวร้อยละ 70 ของทั้งหมด

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมสำหรับทุกคน

“มันถึงเวลาแล้วนะป้าว่าเราก็อยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ต้องมีมลพิษ เหมือนตอนที่ป้ายังเด็กๆ  เมื่อก่อนตอนเด็กๆ วิ่งเล่นน้ำฝนได้อย่างสบายใจสมัยนี้ที่ระยองฝนตกลงมามีแต่สารพิษเต็มไปหมด วันดีคืนดีแหล่งน้ำที่ใช้กินใช้อยู่ก็ปนเปื้อนสารพิษเต็มไปหมด มันแตกต่างจากวัยเด็กของป้ามากๆ ถ้าเรามีสิ่งดีๆ อย่างโซลาร์เซลล์นี้มาช่วยผลิตไฟแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คงช่วยโลกเราได้เยอะ” ป้าพยุงกล่าวทิ้งท้าย

1. ประเทศไทยเป็นประเทศรวยแดดและมีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมเมื่อก่อนประเทศไทยเกือบได้เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนแต่ก็ตกอันดับลงมา จากข้อมูลในรายงานดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Index) ปี 2567 โดย World Economic Forum ที่ทำขึ้นทุกปีได้จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับที่ 60 จาก 120 ประเทศ โดยมีคะแนนดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานรวม 55.8 คะแนนในคะเเนนรวมทั้งหมด 100 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับลดลงตกลงมาจากปีที่แล้วถึง 6 อันดับ เพราะปี 2566 ไทยอยู่ในอันดับที่ 54 

    2.จากข้อมูลของเครือข่าย JustPow และ Jet in Thailand แสดงเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยผ่านรายงาน 2030 Global Renewable Target Tracker ซึ่งจัดทำโดย Ember .องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลและนโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน พบว่าประเทศไทยมีเป้าหมายของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมนุนเวียน ณ ปี 2030 นั้นยังไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และพบว่าในปี 2037 ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้แค่ร้อยละ 37 นับว่าช้ากว่าเป้าหมายของโลกถึง 7 ปี ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยอาจจะบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนของไทยอยู่ในระดับต่ำหรือช้ากว่าศักยภาพที่มีในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพราะนโยบายที่ออกมาของภาครัฐไม่ได้มีการทบทวนหรือปรับปรุงเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580  หรือ AEDP2018  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับร่างปี 2567 ที่จะถูกประกาศใช้เร็วๆ นี้ ยังมีแนวโน้มใช้พลังงานจากฟอสซิลและขยายการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าไปอย่างน้อยร้อยละ 7 และสัดส่วนของการส่งเสริมให้มีพลังงานหมุนเวียนที่ปลายแผนแค่ร้อยละ 51 ซึ่งยังมีสัดส่วนที่สูงไม่พอ และจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและเสียความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก