เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือตอนบนของไทยผ่านไปได้เพียงไม่กี่เดือน ประเทศไทยก็ได้เผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง คราวนี้ปักหมุดอยู่ที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ขนาบข้างด้วยทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ภาคใต้นับว่าเป็นพื้นที่ที่คุ้นเคยกับพายุ ฝนตก น้ำท่วมภูมิภาคหนึ่งของประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนในพื้นที่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากฝนตามฤดูกาลของภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ก็เป็นมากกว่าฝนตามฤดูกาล
เมื่อน้ำท่วมเริ่มบ่อยขึ้น จากปีละ 1 ครั้ง กลายเป็นปีละหลายครั้ง ผู้ได้รับผลกระทบเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งถึงแม้จะไม่ได้เกิดจากพายุ แต่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ก็สามารถทำให้น้ำท่วมได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ครั้งนี้
ภัยพิบัติครั้งนี้ จังหวัดชายแดนใต้พบเจอฝนตกต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ตกลากยาวและหยุดเป็นช่วงสั้นๆ จนมาถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน ฝนตกติดต่อกันไม่หยุดติดต่อกันมากกว่า 48 ชั่วโมง พื้นดินอุ้มน้ำจนเต็มพิกัด ส่งผลให้ในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน น้ำจำนวนมหาศาล เริ่มไหลเข้าสู่ชุมชนต่างๆ อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสายฝนที่ไม่ทิ้งช่วง ทำให้การอพยพ ขนย้ายคนและสิ่งของทำได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น อุทกภัยครั้งนี้ก็ได้ขยายแผ่จนเต็มพื้นที่ บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 500 มิลลิเมตรในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่เกิดมาครั้งนี้ถือเป็นอุทกภัยครั้งที่หนักหนาสาหัสที่สุด ขนาดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2531 ก็ยังเทียบไม่ได้ เพราะความเสียหายไม่ได้กระจายไปเกือบทุกพื้นที่แบบครั้งนี้
แม้ว่าจังหวัดชายแดนใต้จะเคยเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ความเสียหายกินพื้นที่มากขนาดนี้ ชุมชนหลายแห่งที่ไม่เคยเกิดเหตุน้ำท่วมเลยสักครั้ง แต่ครั้งนี้ก็ไม่รอด
อุทกภัยในภาคใต้ 2567 มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวม 6 จังหวัด มากกว่า 300,000 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย เมื่อน้ำจำนวนปริมาณมหาศาลและตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนน้ำเข้าท่วมทุกพื้นที่ ทำให้การเข้าช่วยเหลือทำได้อย่างล่าช้าและยากลำบาก
เกิดอะไรขึ้นกันแน่?
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เกิดจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว Extreme Weather ที่ไทยกำลังเผชิญ
“ฝนตกภาคใต้ในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี แต่โลกร้อนทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น อากาศยิ่งร้อนเพิ่มทุก 1 องศา จุไอน้ำเพิ่ม 7% เมฆยุคโลกร้อนจึงเต็มไปด้วยน้ำ
ฝนตกในช่วงเวลาเท่าๆ เดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม เราจะเห็นข่าวว่าปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มม. เยอะมากจนผิดปรกติ”
อีกสาเหตุหนึ่งที่นักวิชาหลายคนมีความเห็นตรงกันก็คือเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ภาวะลานีญารอบใหม่ ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยในภาคเหนือ และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนก็มาเกิดอุทกภัยที่ภาคใต้
ถึงแม้เหตุการณ์อุทกภัยชายแดนใต้นี้ จะค่อยๆ คลี่คลายลง แต่ประชาชนยังไม่สามารถไว้ใจสถานการณ์นี้ได้ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะประสบอุทกภัยลากยาวไปจนถึงต้นปี 2568 (1) คนในพื้นที่จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
Extreme Weather สภาพอากาศสุดขั้วที่ประเทศไทยเผชิญบ่อยครั้งขึ้น และรุนแรงขึ้น
ผลจากการศึกษาเมื่อปี 2564 พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก อันดับที่ 9 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ (2) ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ซึ่งรุนแรงขึ้นอย่างไม่เคยพบมาก่อน จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือและล่าสุดที่ภาคใต้ของไทย พอจะเป็นสิ่งยืนยันผลการศึกษาได้
ฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงคือ 1 ใน 4 สภาพอากาศสุดขั้ว ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่คนไทยกำลังเผชิญ ซึ่งอีก 3 สภาพอากาศนั้น ได้แก่ คลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น และ การเพิ่มขึ้นของไฟป่า
สิ่งหนึ่งที่ช่วยเร่งให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว มาจากการปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของมนุษย์ โดยเฉพาะจากคนที่รวยที่สุด 1% ของโลกนี้ ในขณะที่คนจนที่สุด 50% ของโลกปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด กลับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด
ตราบใดที่มนุษย์เรายังไม่สามารถชะลอการปล่อยคาร์บอนได้ สภาวะโลกร้อนกลายเป็นโลกเดือด ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่เป็นสถิติใหม่ หรือประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ก็จะเกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิง
(1) https://www.thaipbs.or.th/news/content/346778
(2) https://thaipublica.org/2021/04/complex-world-prasart01