ล่าสุด อุณหภูมิมหาสมุทรออสเตรเลียสูงขึ้นจนอยู่ในภาวะฉุกเฉิน โดยปีที่ผ่านมา (2567) อุณหภูมิผิวน้ำของทะเลสูงจนทำลายสถิติที่เคยบันทึกได้ ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดสำหรับมหาสมุทรออสเตรเลีย ซึ่งสถิติดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขชี้วัด แต่บ่งบอกถึงวิกฤตที่เป็นคลื่นใต้น้ำ คุกคามชีวิตของสัตว์ทะเล แนวปะการัง และวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งซึ่งพึ่งพาทะเลอันอุดมสมบูรณ์

ทำไมมหาสมุทรโลกกำลังเดือด ?
ปัจจัยหลักมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ นั่นคือการใช้พลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซฟอสซิล ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นตัวกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมหาสมุทรจะทำหน้าที่กักเก็บความร้อนเหล่านี้ไว้ ทำให้ต่อมาอุณหภูมิที่ผิวน้ำสูงขึ้นในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน
อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์บางอย่างเช่น คลื่นความร้อนใต้สมุทรและปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ความปั่นป่วนเช่นนี้จะเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ผลักดันให้ระบบนิเวศทางทะเลต้องรับมือจนเกินขีดจำกัด

วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังสร้างความปั่นป่วนให้กับมหาสมุทรอีกด้วย มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิโลก ซึ่งความปั่นป่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและชายฝั่งออสเตรเลีย ยกตัวอย่างเช่น กระแสน้ำแอตแลนติก (the Atlantic Meridional Overturning Circulation : AMOC) ซึ่งเป็นระบบสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิโลก ไหลช้าลงเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หากระบบเหล่านี้ล่มสลายลง ก็จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ลานีญาในออสเตรเลียตะวันออกส่งผลให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น
ปัจจุบัน กระแสน้ำออสเตรเลียตะวันออกแผ่กระจายลงไปทางใต้มากขึ้น ทำให้พื้นที่ทะเลทัสมานอุ่นขึ้นกระทันหัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นสองเท่าจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลก
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมหาสมุทรร้อนเกินไป?
1.ปะการังฟอกขาวและแนวปะการังเสื่อมโทรมลง
ก่อนหน้านี้ เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ของออสเตรเลีย ต้องเจอกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปะการังเกิดความเครียดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ขับสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในตัวออก สาหร่ายเหล่านี้ทำหน้าที่สร้างสีสันและสร้างพลังงานให้ปะการัง เมื่อปะการังไม่มีสาหร่ายแล้วพวกมันก็จะตาย นำไปสู่การล่มสลายของแนวปะการังและระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล

2.คลื่นความร้อนในทะเลและปรากฏการณ์สัตว์ทะเลตายจำนวนมาก
คลื่นความร้อนในทะเลจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างผิดปกติ และปัจจุบันเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดคือการเกิดคลื่นความร้อนในทะเลที่อ่าวทางตะวันตกของออสเตรเลียเป็นสาเหตุทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ราว 30,000 ตัว เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงโดยตรงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิสุดขั้วทำให้ระดับออกซิเจนลดลงและทำให้ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลเสียสมดุล ยิ่งทำให้ปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ อยู่รอดได้ยากขึ้น มีวิจัยที่ระบุว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นถึง 100 ครั้งเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
3.ระบบนิเวศทางทะเลปั่นป่วน
มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้การกระจายตัวและความหลากหลายของสายพันธ์สัตว์ทะเลเปลี่ยนแปลงไป เพราะปลาหลายชนิดและสัตว์ทะเลอีกมากย้ายถิ่นจากเดิมไปยังน่านน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่า ซึ่งความปั่นป่วนเช่นนี้กระทบต่อระบบนิเวศและการประมง ส่วนสัตว์อื่น ๆ ที่ปรับตัวไม่ทันกับวิกฤตที่เกิดขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะตาย การเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงนี้ส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ต่อห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่สัตว์ตัวเล็กที่สุดอย่างแพลงก์ตอนไปจนถึงสัตว์นักล่าขนาดใหญ่

4.ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง
เมื่ออุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น น้ำทะเลจะขยายตัว รวมถึงธารน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่ละลายยิ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มความเสี่ยงที่ชุมชนชายฝั่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย คุกคามชุมชนชายฝั่งและระบบนิเวศ ขณะนี้ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศร้ายแรง เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น พายุรุนแรง น้ำท่วมจากคลื่นทะเล มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ และอาจทำให้เกิดการอพยพบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงคุกคามการดำรงชีวิตแต่ยังคุกคามไปถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในภูมิภาคแปซิฟิกอีกด้วย
การปกป้องมหาสมุทรคือทางออก
เพื่อต่อกรกับความท้าทายนี้ กรีนพีซร่วมเป็นอีกหนึ่งเสียงในการสนับสนุนการปกป้องทะเลและมหาสมุทร ดังนี้

- สนับสนุน สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) โดยประเทศทั่วโลกต้องร่วมกันปกป้องพื้นที่มหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย 30% จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดภายในปี 2573 ผ่านการสร้างเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและมหาสมุทรที่จะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตัวเอง
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลกจะต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและลดผลกระทบที่เกิดกับมหาสมุทรได้
- ปกป้องมหาสมุทรจากโครงการที่ก่อมลพิษและประมงเกินขนาด ด้วยการนำแนวทางประมงแบบยั่งยืนมาใช้เพื่อลดมลพิษ รวมทั้งแนวทางการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลยังคงอุดมสมบูรณ์
ออสเตรเลียคือบ้านของของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่มีเอกลักษณ์และสำคัญต่อระบบนิเวศ เราจำเป็นจะต้องปกป้องระบบนิเวศเช่นนี้เอาไว้ สนธิสัญญาทะเลหลวงที่ได้รับการยอมรับในปี 2566 จะเปิดโอกาสให้โลกมีเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในน่านน้ำสากล เราเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย รวมทั้งรัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้เพื่อลงมือปกป้องมหาสมุทรของเราอย่างเป็นรูปธรรม

มหาสมุทรคือสิ่งล้ำค่าที่จะช่วยโลกกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรได้รับฉายาว่าเป็นปอดของโลก เพราะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้กับโลกถึง 50% อีกทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิโลก รวมทั้งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล แต่อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ความเป็นกรดที่เกิดขึ้นในน้ำทะเลและมลพิษต่าง ๆ ทำให้ระบบที่จะโอบอุ้มระบบนิเวศทางทะเลกำลังตกอยู่ในการคุกคาม ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะต้องปกป้องมหาสมุทรให้ได้
ไวโอเลต สโนว์ นักรณรงค์อาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิก เธอทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและมีประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ในการรณรงค์ สื่อสารประเด็น และการสร้างการมีส่วนร่วมของมวลชน
บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่จะช่วยให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องน่ารู้ เข้าถึงง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้