เชื้อดื้อยา เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วทุกมุมโลก และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมองไม่เห็นถึงภัยคุกคามของเชื้อดื้อยาที่ส่งผลต่อสุขภาพประชากรโลก และการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ทั้งจากการรักษาโรค เพียงแค่เด็กมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย พ่อแม่ก็รีบหายาฆ่าเชื้อมาให้กินแล้ว และการใช้ยาในเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรมปศุสัตว์กับการใช้ยาเพื่อป้องกัน ไม่ใช่การรักษา ส่งผลให้วิกฤตเชื้อดื้อยารุนแรง
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับรศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ – โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี เกี่ยวกับภัยร้ายของเชื้อดื้อยาและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายของเรา
แบคทีเรียในร่างกายเรามีกี่ชนิด
ร่างกายของคนเรานั้นมีแบคทีเรียเยอะมากเป็นร้อยเป็นพัน แต่เราสามารถแบ่งได้ง่ายๆตามรูปร่างของมัน เช่น วงกลม หรือเป็นแท่ง เชื้อแต่ละชนิดจะมีความชอบไม่เหมือนกัน บางเชื้อจะชอบผิวหนัง บางเชื้อชอบลำไส้ เป็นต้น
เชื้อแบคทีเรียดี และ เชื้อแบคทีเรียร้าย แตกต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างระหว่างแบคทีเรียที่ดีกับแบคทีเรียที่เป็นผู้ร้ายบางครั้งไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยธรรมชาติแล้วเราจะมีการรักษาสมดุลกัน มนุษย์จะมีแบคทีเรียปกคลุมโดยธรรมชาติอยู่แล้วตามอวัยวะที่ต่อกับโลกภายนอกได้ เช่น ผิวหนัง ช่องปาก ช่องจมูก ช่องคลอด โดยปกติก็จะมีแบคทีเรียประจำถิ่น แต่ตัวนี้อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายก็ได้ ถ้ามันลุกลามเข้าไปในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัส ทำให้ภูมิต้านทานเฉพาะที่ของเราเปลี่ยนแปลงไป ที่พบได้บ่อยคือเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease) จะอยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนต้น มันจะไม่ทำอะไรเรา แต่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มันจะไปทำลายภูมิคุ้มกันเฉพาะที่
อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียดีอาจจะกลายเป็นผู้ร้ายก็ได้ ถ้าหากเราไปให้ยาปฏิชีวนะ ทำให้ลูกหลานแบคทีเรียตายไปหมด มันก็เลยต้องดิ้นรนที่จะอยู่รอดโดยการปรับตัวเป็นเชื้อดื้อยา ถ้าหากเราบังเอิญท้องเสีย หรือเป็นแผลในลำไส้ ก็จะทำให้เราป่วยได้ เชื้อบางตัวจะมีความรุนแรงมากกว่าปกติ คือ มีปัจจัยที่ทำให้ลุกลามได้ง่ายกว่าเชื้อตัวอื่น
เมื่อแบคทีเรียดีกลายเป็นแบคทีเรียร้าย หรือเชื้อดื้อยา ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
ส่วนใหญ่แบคทีเรียดีจะกลายเป็นแบคทีเรียร้ายเพราะว่าภูมิคุ้มกันเราเสียสมดุล ถ้าร่างกายเราอยู่ในภาวะสมดุล เราจะอยู่ด้วยกันเหมือนเป็นเพื่อน มันก็จะช่วยสร้างวิตามินเคในร่างกาย หรือเป็นตัวซ้อมรบให้ภูมิคุ้มกันเราได้ฝึกรบ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเกิดเสียสมดุล เช่น กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นของทอด ของมัน อาหารประเภท Junk Food ต่าง ๆ หรืออาหารที่ไม่หลากหลายครบห้าหมู่ ก็จะส่งผลให้ป่วยได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ได้รับเชื้อดื้อยา หรือแบคทีเรียร้าย มีอะไรบ้าง
มีทั้งในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรืออยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงเยอะ อย่างโรงพยาบาล ปัยจัยที่สองคือ ฤดูกาล ถ้าเป็นช่วงหน้าฝน อากาศเย็น ก็จะทำให้เชื้อทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าเป็นหน้าร้อน เชื้อทางเดินอาหารก็จะเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านสถานที่ ตัวอย่างเช่น ในภาคอีสานก็จะมีเชื้อบางกลุ่ม ถ้าอยู่ต่างประเทศก็จะเจอเชื้อบางกลุ่มที่ไม่เจอในประเทศไทย เช่น West Nile Virus หรือโรค JE Japanese encephalitis โรคไข้สมองอักเสบที่พบได้เฉพาะในเอเชีย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านพฤติกรรม เช่น คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แต่ดูแลตัวเองดี ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ปนเปื้อน ก็จะมีความเสี่ยงน้อย
แล้วอาหารปนเปื้อนคืออะไรล่ะ ? จริงๆแล้วมนุษย์เราต่างก็กินอาหารที่อาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะมาบ้างอยู่แล้ว แต่มันจะมีข้อจำกัดว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ กี่โคโลนี่ต่อกี่กรัมของเชื้อ กรดในกระเพาะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยฆ่าเชื้อเบื้องต้น เด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่ กรดยังไม่ค่อยแรง ทำให้ความเป็นกรดด่างในกระเพาะค่อนข้างสูง ก็จะฆ่าเชื้อไม่ได้ หรือผู้สูงอายุที่มีการผลิตกรดน้อยลง หากกินเชื้อเข้าไปนิดเดียวก็สามารถป่วยได้
การกินเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างหรือมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้รับเชื้อเข้าไปไม่มากก็ทำให้ป่วยได้ แต่ถ้าเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ได้รับเชื้อเข้าไปก็อาจจะยังไม่เป็นอะไร ถ้ามียีนส์ดื้อยาอยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะได้ฝึกฝนปรับตัว เหมือนเราฝึกซ้อมทำข้อสอบ เมื่อเห็นข้อสอบเป็นประจำเราก็จะทำได้ เชื้อกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในร่างกายเราไประยะหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรมาเพิ่มความเสี่ยงและเป็นแบคทีเรียปริมาณน้อย ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราอ่อนแอ เชื้อกลุ่มน้อยนี้ก็จะขยายตัว เหมือนเพชฌฆาตเงียบ รอวันที่จะซ้ำเติมเรา บางคนอาจจะคิดว่าแค่กินอาหารที่ปรุงสุขก็ปลอดภัยแล้ว เพราะเชื้อแบคทีเรียโดนความร้อนก็ตาย แต่เมื่อเชื้อนั้นตายจะมีซากหลงเหลือไว้ ก็คือสารพันธุกรรม ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า DNA ซึ่งมีความสามารถที่จะส่งต่อกันได้เหมือน Airdrop และสามารถส่งหากันแบบข้ามสายพันธุ์ได้เลย
ถ้ามียาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารที่เรากินเข้าไป ก็อาจจะทำให้เราแพ้ได้ เหมือนอาการแพ้ยา ทำให้เกิดโรคตามมาหรือยาที่หมดอายุบางตัวอาจทำให้เกิดอาการไตวายได้ หากได้รับยาปฏิชีวนะซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายของเรากดดัน เขาก็ต้องปรับตัวเพื่อจะอยู่รอด เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต คือการมีชีวิตรอด
เชื้อดื้อยารุนแรงขนาดไหน ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตเลยหรือไม่?
เชื้อดื้อยามีความรุนแรงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้เกิดเร็วในคนที่ร่างกายแข็งแรงปกติ เพราะว่าเราจะมีมาเฟียเจ้าถิ่นคอยดูแลอยู่ เป็นการรักษาสมดุลระหว่างภูมิคุ้มกันกับเชื้อโรค อยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรามีโรคแทรกเข้ามา อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคมะเร็ง เชื้อก็จะแทรกเข้ามา ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเชื้อดื้อยาไม่เป็นอะไร แต่จริงๆแล้วมันสามารถแทรกได้ทุกกรณี คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากปอดอักเสบ ปอดบวม หรือติดเชื้อในกระแสเลือด
Superbug คืออะไร?
Superbug จริง ๆ แล้วก็คือเชื้อแบคทีเรียธรรมดาที่ผ่านการสะสมของยีนดื้อยามาจนกระทั่งตัวยีนของมันดื้อครบทุกตัว จนไม่เหลือยาจะรักษา ตัวอย่างเช่น ในปีที่ผ่านมา Super Gonorrhea ที่ติดในผู้ชายอังกฤษ ซึ่งต้องใช้ยาที่แรงที่สุดในการรักษา เนื่องจากไม่ยามีตัวอื่นที่สามารถรักษาได้
ถ้าไม่เร่งหาทางแก้ไข เราจะกลับไปสู่ยุคมืด
การแพทย์ยุคใหม่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เยอะ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในร่างกายที่ไม่ควรมีเชื้อแบคทีเรีย เหตุที่ทำได้เพราะเรามียาปฏิชีวนะคอยรักษา ถ้าไม่มียาก็จะเกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนที่จะมีการคิดค้นยาปฏิชีวนะขึ้นมา “แคลวิน คูลิดจ์” ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 30 มีลูกชายอายุ 17 ปี โดยลูกชายของเขาได้ไปเล่นเทนนิส และใส่รองเท้าเทนนิสแน่นเกินไปจนทำให้เกิดแผลถลอกที่หลังเท้า หลังจากนั้นไม่นานก็มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ตัวแดง และไม่กี่วันก็เสียชีวิตลง เนื่องจากโลหิตเป็นพิษหรือติดเชื้อในกระแสเลือด
ชีวิตในยุคก่อนจึงเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเมื่อใดที่เราขี่จักรยานล้ม มีแผลถลอก หรือโดนสะกิดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เพราะในอดีตนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพต่อกรกับเชื้อแบคทีเรียเหมือนในปัจจุบัน
การที่เราใช้ยาปฏิชีวนะแรง ๆ บ่อยครั้ง ไปเรื่อย ๆ จะเป็นการทำใช้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดนั้น และทำให้ต่อไปต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น จนกระทั่งอาจไม่มียาตัวใดรักษาได้ นั่นหมายถึง เราอาจกำลังจะต้องกลับไปยังยุคก่อนเพนิซิลิน และนั่นคงไม่ใช่โลกที่สวยงามนัก
วิธีป้องกันเชื้อดื้อยา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มี Prebiotic และ Probiotic (Prebiotic คือ อาหารสำหรับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น มันเทศ แครอท หอมหัวใหญ่ หรือผักที่เป็นหัว Probiotic คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โยเกิร์ต ถั่วเน่า หรือผักเสี้ยนดองของไทย)
- ที่สำคัญคือเน้นรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ มีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อลูกป่วย
ถ้าเด็กยังใช้ชีวิตประจำวันได้ กินได้ เล่นได้ อาจจะมีอาการไอหรือจามบ้าง แต่ไม่กระทบกับการใช้ชีวิต ถือว่าปกติ อาการทางกายต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กหายเร็ว เช่น ถ้าไม่ไอปอดก็จะแฟ่บ เพราะเสมหะไปอุดกั้น ถ้าน้ำมูกไม่ไหลเชื้อก็ลงปอด อย่ารีบตื่นตูมว่าน้ำมูกไหลต้องรีบไปหาหมอ ต้องรีบกินยาลดน้ำมูก เราควรจะให้ยาเฉพาะเวลาที่เด็กป่วยจนกระทบการใช้วิตประจำวันเท่านั้น เช่น น้ำมูกไหลจนหายใจไม่ออก นอนไม่ได้ อาการที่ทำให้รู้ว่าเด็กต้องไปพบหมอแล้วก็คือ ไข้ขึ้นสูงมากติดต่อกัน 2-3 วัน มีอาการเซื่องซึม
“ตัวยาปฏิชีวนะเป็นสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ที่ถูกคิดค้นโดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ซึ่งตั้งใจจะมอบเป็นมรดกให้กับพวกเรา แต่ัมันไม่ใช่มรดกที่เราได้รับจากบรรพบุรุษของเรา แต่เป็นสมบัติที่เรายืมมาจากลูกหลานของเราต่างหาก เราจะใช้ให้มันหมดไปในยุคของเราหรือ เรากำลังจะพรากสมบัติที่ยิ่งใหญ่ไปจากคนรุ่นต่อ ๆ ไป แล้วพวกเขาจะอยู่กันอย่างไร เราต้องช่วยกันไม่ให้ยาปฏิชีวนะถูกใช้จนหมดไปในยุคของเรา เราต้องเป็น Generation ที่มีความรับผิดชอบและต้องนึกถึงคนรุ่นต่อไปเยอะ ๆ” – รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
บทความโดย ฉันท์ชนก หิรัญ นักศึกษาฝึกงาน กรีนพีซ
ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์
มีส่วนร่วม