อาหารดัดแปลงพันธุกรรมคืออะไร...พืชผลดัดแปลงพันธุกรรมผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคในห้องทดลอง โดยนำุพันธุกรรมจากเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเองจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การใส่ยีนจากปลาอาร์กติกในมะเขือเทศและสตรอเบอร์รี่ เพื่อให้ทนทานต่อความหนาวเย็น แน่นอนว่าปลาและมะเขือเทศไม่มีทางผสมพันธุ์กันได้เองตามธรรมชาติปัจจุบันอาหารดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมด ผลิตและขายโดยบริษัทสารเคมีขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติจะทำงานร่วมกับแผนกเคมีภัณฑ์ของตนเอง พืชผลดัดแปลงพันธุ์กรรมส่วนใหญ่ทั่วโลกปลูกในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ อาร์เจนตินา

Organic Rice Art Ratchaburi. © Greenpeace / John Novis

Organic Rice Art Ratchaburi. © Greenpeace / John Novis

 

สิ่งมีชีวิตที่ประดิษฐขึ้นนี้์อาจออกแบบมาเพื่อให้ “ประโยชน์” บางอย่างแก่ผู้ปลูก (เช่น ทนทานต่อยาฆ่าแมลง) แต่ก็มักจะมีผลรองลงมาอย่างอื่นที่ไม่อาจคาดเดาได้ เนื่องจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมเป็นสิ่งมีชีวิต พืชเหล่านี้จึงอาจเล็ดรอดออกแพร่พันธุ์ในสิ่งแวดล้อมเปิด ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้กลับคืน โดยเฉพาะเมื่อเกิดความผิดพลาดอย่างไม่คาดคิดขึ้นแล้ว ปัญหาบางประการที่เกี่ยวข้องกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม ได้แก่

การทำให้เกิดพิษหรืออาการภูมิแพ้ที่ไม่คาดคิด

เนื่องจากพันธุวิศวกรรมเป็นเทคโนโลยีที่ไม่แน่นอน การใส่ยีนแปลกปลอมจึงอาจกระตุ้นให้เกิดโปรตีนที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจเป็นพิษ หรือทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการภูมิแพ้ หรืออาจมีผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ยีนถั่วบราซิลนัท ซึ่งนำไปใส่ในถั่วเหลือง ถั่วเหลืองนี้ทำให้คนที่แพ้ถั่วนัท เกิดอาการแพ้ขึ้นอย่างไม่คาดคิด จึงต้องป้องกันไม่ให้ถั่วเหลืองนี้ออกสู่ตลาดได้ โชคยังดีที่อาการแพ้ถั่วนัทเป็นอาการที่พบบ่อย จึงสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม พันธุวิศวกรรมส่วนใหญ่ใช้วัสดุจากสิ่งมีชีวิต เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งไม่เคยเป็นอาหารของมนุษย์มาก่อน

การดื้อยาปฏิชีวนะ

นักวิทยาศาสตร์ได้ใส่ยีนดื้อยาปฏิชีวนะทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่ากรรมวิธีทางการพันธุวิศวกรรมได้ผลหรือไม่ แม้จะมีเจตนาใช้ยีนเหล่านี้เป็นเพียง “ยีนบ่งชี้” แต่พวกมันก็มีอยู่ทั่วไปในอาหารดัดแปลงพันธุกรรม แพทย์ทั่วโลกเตือนว่า การใช้ยีนดื้อยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจทำให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดไม่มีผลในการรักษาโรคของมนุษย์และสัตว์ สหภาพยุโรปและสมาคมแพทย์ทั่วโลกได้เรียกร้องให้ห้ามใช้สัญญาณอันตรายเหล่านี้

ผลต่อสิ่งแวดล้อม

พืชผลดัดแปลงพันธุกรรมอาจก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีพฤติกรรมรุกราน เราได้เห็นผลเสียหายร้ายแรงจากการที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อพวกมันกลายเป็นสัตว์รบกวน เช่น การปล่อยหอยทากทองในฟิลิปปินส์ ตัวอย่างผลกระทบอันตรายจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมที่พบหลักฐานแล้ว ได้แก่ การปล่อยสารพิษลงสู่ดิน การมีพิษต่อแมลงที่มีประโยชน์และไม่มีอันตราย เช่น แมลงเลซวิงส์ หรือตัวอ่อนของผีเสื้อโมนาร์ค และการเกิด “สุดยอดวัชพืช” ที่แข็งแรง เช่น ในแคนาดานั้น ทุ่งปลูกคาโนลาดัดแปลงพันธุกรรม ส่งผลให้เกิดเมล็ดคาโนลาที่ทนทานต่อยาปราบวัชพืชสามชนิด

การปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์และพืชผล

แม้ว่าผู้บริโภคและเกษตรกรจำนวนมากทั่วโลกจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหารและพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม แต่ผู้คนก็ยังพบว่าแม้แต่ในวัตถุดิบไม่ดัดแปลงพันธุกรรมก็ยังมีการปนเปื้อน กรณีนี้เกิดจากการผสมเกสรข้ามพันธุ์ เช่น การที่ละอองเกสรที่ปนเปื้อนปลิวไปตามลม หรือเมื่อเมล็ดพืชแพร่กระจายออกไปในสิ่งแวดล้อม หรือมีการผสมพันธุ์ระหว่างการจัดการดูแล ทั้งยังเริ่มปรากฏชัดด้วยว่า ยีนสามารถเคลื่อนย้ายด้วยกระบวนการที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจนักที่เรียกว่า การถ่ายยีนเชิงระนาบ โดยแบคทีเรียจะเก็บวัสดุพันธุกรรมและแลกเปลี่ยนมันกับแบคทีเรียตัวอื่นๆ ในดินหรือในลำไส้ จึงเป็นที่เกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะปนเปื้อนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็จะสายเกินไป

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางจริยธรรมและสังคมหลายประการ เช่น

อาหารดัดแปลงพันธุกรรมตัดทางเลือกของผู้บริโภค

ผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเลือกไม่กินอาหารดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากมีการปนเปื้อนแพร่หลายที่เกิดจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม และพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมหลายชนิดไม่ได้มีการเก็บแยกออกจากระบบอาหาร เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่มีการติดฉลากหรือการควบคุมอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

โจรสลัดชีวภาพ

เพื่อให้ได้ลักษณะเฉพาะที่ต้องการ บริษัทสารเคมีมักใช้ยีนจากพืช สัตว์ และ แบคทีเรีย ที่หาได้จากประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งมักเป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ กำไรและผลประโยชน์จากการใช้ยีนเหล่านี้จะเพิ่มพูนให้บริษัทที่ทำธุรกิจการเกษตรในประเทศซีกโลกเหนือ ผลคือมีการขโมยยีนเหล่านี้จากประเทศยากจนเพื่อป้อนกำไรให้บริษัท จากนั้นบริษัทข้ามชาติก็จะอาศัยกฎหมายสิทธิบัตรนานาชาติ บังคับให้ตนเป็นเจ้าของยีนเหล่านี้

การสูญเสียสิทธิของเกษตรกร

เนื่องจากเมล็ดพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีสิทธิบัตร บริษัทเมล็ดพืชจึงสามารถควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้อย่างเคร่งครัด เกษตรกรสหรัฐที่ปลูกพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมต้องเซ็นสัญญาเจาะจงว่าจะปลูกพืชผลอย่างไร และสัญญาว่าจะไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ หากพบว่าเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ บริษัทสารเคมีเหล่านี้ก็จะฟ้องร้องเกษตรกร ด้วยเหตุนี้เกษตรกรรายย่อยจึงสูญเสียสิทธิในการเก็บเมล็ดพืช ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ขณะนี้บริษัทพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมได้ควบคุมการค้าเมล็ดพืชทั่วโลก และเกษตรกรสหรัฐก็ได้รายงานว่าเมล็ดพืชไม่ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังกลายเป็นของหายาก

การดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

เนื่องจากพันธุวิศวกรรมข้ามพรมแดนสายพันธุ์ และแทรกแซงธรรมชาติเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผู้คนจำนวนมากจึงไม่เห็นด้วยกับการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งในทางจริยธรรมและศาสนา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2543 พระสันตะปะปาทรงมีพระดำรัสคัดค้านพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม โดยแถลงต่อเกษตรกรประมาณ 50,000 คนจากอิตาลี และประเทศอื่นๆ ในพิธีกลางแจ้งพิเศษที่จัดให้เกษตรกร และเมื่อเดือนมีนาคม 2551 พระสันตะปะปาทรงมีพระดำรัสคัดค้านพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมอีกครั้ง โดยจัดให้เป็น “หนึ่งในบาปร้ายแรง 7 อย่าง”