จากบทความตอนที่แล้วเราน่าจะได้รู้จักนักกิจกรรมวัยเยาว์คนนี้มาพอสมควร เรามาติดตามเรื่องราวของเธอต่อกับตอนที่ 2 กันครับ

การต่อสู้ที่การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ 

เกรียตาตัดสินใจเดินทางมาอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN Climate Summit) ที่นิวยอร์ก และการประชุมสามัญภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 ที่ซานดิเอโก ประเทศชิลี (COP25) รวมทั้งร่วมประท้วงกับขบวนการหยุดเรียนเพื่อโลกหลายแห่ง

เธอเดินทางมายังทวีปอเมริกา ด้วยการสนับสนุนของเรือใบที่ใช้ในการแข่งขัน Malizia II ของราชวงค์โมนาโก ที่นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยพลังลมแล้ว ยังมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนด้วยใบพัดใต้น้ำและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องการเดินทางที่ปลอดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะ แม้จะต้องใช้เวลาถึงสองสัปดาห์อยู่กลางมหาสมุทร

Greta Thunberg Arrives in New York. © Stephanie Keith / Greenpeace

เกรียตา ทุนแบร์ย เดินทางมาถีงนิวยอร์กด้วยเรือที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการเดินทาง

การมาเยือนสหรัฐอเมริกาของเกรียตานับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เพราะแม้จะมีคนตื่นเต้นต้อนรับมากมาย แต่เธอก็ต้องพบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน เพราะในสหรัฐอเมริกาเรื่องโลกร้อนยังคงเป็นเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับการเมืองที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีประธานาธิบดีที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ไม่ฟังวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหิน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการสำรวจแหล่งขุดเจาะน้ำมันแห่งใหม่ 

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มต้นโจมตีเธอทันทีตั้งแต่มาถึง โดยล้อเลียนท่าทางตอนที่เธอขึ้นจากท่าเรือและกล่าวกับฝูงชนที่มาต้อนรับว่า ท่าทางของเธอดูเหมือนคนไม่ปกติ เหมือนคนป่วย ซึ่งเกรียตาเขียนตอบทางโซเชียลมีเดียของเธอว่า

เมื่อคนที่เกลียดคุณล้อเลียนรูปร่างหน้าตาบุคลิกและความแตกต่างอื่น ๆ ของคุณ แสดงว่าเขาไม่มีอะไรจะพูดอีกแล้ว และคุณรู้ว่าคุณกำลังชนะ! หนูมีอาการแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งนั่นทำให้บางครั้งหนูอาจจะดูแตกต่างจากปกติ แต่ในบางสถานการณ์ ความแตกต่างคือพลังพิเศษ

วันศุกร์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาเป็นการประท้วงระดับโลก #GlobalClimateStrike ครั้งที่สาม ปรากฏว่าเป็นการแสดงพลังที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดกว่า 4 ล้านคนใน 163 ประเทศทั่วโลก เมล็ดพันธุ์แห่งความเปลี่ยนแปลงได้งอกงามไปทั่ว และสำหรับเกรียตา ทุนแบร์ย คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเพิ่งจะเริ่มก่อตัวขึ้นเท่านั้น

เกรียตากล่าวกับฝูงชนกว่า 250,000 คนที่มารวมตัวกันกลางนครนิวยอร์กที่สวนสาธารณะแบตเตอรี่ปาร์คว่า

วันจันทร์ที่จะถึงนี้ ผู้นำโลกจะพากันมารวมตัวกันที่นี่ในนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดโดยสหประชาชาติ 

Global Climate Strike in New York. © Stephanie Keith / Greenpeace

เกรียตา ขณะเดินขึ้นเวทีเพื่อกล่าวกับฝูงชนกว่า 250,000 คนที่มารวมตัวกันกลางนครนิวยอร์ก

สายตาทั้งโลกจะจับจ้องไปที่พวกเขา และพวกเขามีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองเห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์หรือไม่ พวกเขามีโอกาสที่จะแสดงออกถึงภาวะผู้นำ และแสดงให้เห็นว่าได้ยินพวกเรา

เด็ก ๆ ไม่ได้ออกมาเดินบนท้องถนน เอาเวลาที่ควรจะได้เรียนเพื่อให้บรรดาผู้ใหญ่และนักการเมืองได้มาถ่ายเซลฟี่อวด หรือกล่าวว่าชื่นชมกับสิ่งที่เราทำจริง ๆ

เราทำแบบนี้เพื่อปลุกให้บรรดาผู้นำตื่นขึ้น เราทำแบบนี้เพื่อให้พวกเขาลงมือแก้ปัญหาสักที เราสมควรจะมีอนาคตที่ปลอดภัย เราต้องการอนาคตที่ปลอดภัย นั่นเป็นสิ่งที่ขอมากเกินไปเช่นนั้นหรือ

พวกเราไม่ใช่แค่เด็ก ๆ ที่พากันโดดเรียน หรือผู้ใหญ่ที่โดดงาน พวกเราคือคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง และจะไม่มีอะไรหยุดพวกเราได้ พวกเราจะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ และทำให้ผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ครั้งนี้ต้องรับผิดชอบ 

เราจะทำให้ผู้นำโลกลงมือแก้ปัญหา เราทำได้ และเราจะทำ และถ้าคุณเป็นคนไม่กี่คนที่รู้สึกถูกคุกคามจากเคลื่อนไหวของเรา เรามีข่าวร้ายมาบอก นี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น” 

ใครจะเชื่อว่าภายในระยะเวลาเพียง 13 เดือน การกระทำของสาวน้อยอายุ 15 คนหนึ่งที่ตัดสินใจหยุดเรียนแล้วออกไปนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดนคนเดียวจะนำไปสู่ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาโลกร้อนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ความหนักแน่น เข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยว ของเกรียตา ได้ปลุกให้หลาย ๆ คนตื่นขึ้นมาพบกับความจริงอันน่าสะพรึงกลัวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์ได้ส่งเสียงเตือนมาตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่ผิดอีกแล้วที่จะบอกว่าสภาวะโลกร้อนคือภัยคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์ทั้งมวล

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

กิจกรรม Climate Strike ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเกรียตา ทุนแบร์ย

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ เกรียตาขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ ด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ต่อหน้าผู้นำโลกกว่า 60 ชาติ ในการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เธอเปิดบทด้วยความในใจว่าความจริงเธอไม่ควรจะต้องมาขึ้นเวทีอยู่ที่นี่ด้วยซ้ำ

นี่มันผิดไปหมด หนูไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ หนูควรจะได้กลับไปโรงเรียน อีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเรา เยาวชน คุณกล้าดียังไง คุณขโมยเอาความฝันของหนู และวัยเด็กของหนูไปด้วยคำสัญญาที่ว่างเปล่า

แต่หนูก็ถือว่าโชคดีแล้วนะ มีผู้คนต้องอยู่อย่างทรมาน บาดเจ็บล้มตาย ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังล่มสลาย เรากำลังอยู่ในยุคเริ่มต้นแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่พวกคุณกลับพูดกันแต่เรื่องเงิน และการเติบโตทางเศรษฐกิจสวยหรูที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณกล้าดียังไง

วิทยาศาสตร์มีคำตอบที่ชัดเจนมากว่า 30 ปีแล้ว คุณกล้าดียังไงที่ไม่สนใจคำเตือนเหล่านั้น แล้วยังมาที่นี่เพื่อบอกว่าพวกคุณทำดีพอแล้ว ทั้ง ๆ ที่ทางออกและความตั้งใจทางการเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ได้ยังไม่ปรากฏเลย

“คุณพูดว่าคุณได้ยินพวกเรา และเข้าใจว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่ว่าหนูจะโกรธและเศร้าเพียงใด หนูก็ไม่อยากจะเชื่อว่าพวกคุณคือปีศาจ เพราะถ้าคุณรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไรแต่ก็ยังไม่ลงมือแก้ปัญหา คุณคือปีศาจ แต่หนูไม่อยากจะเชื่ออย่างนั้น

หลายคนบอกว่าการพูดของเกรียตาครั้งนี้เกรี้ยวกราดและสุดโต่ง กล่าวหาว่าเธอถูกล้างสมองโดยนักสิ่งแวดล้อม เกรียตาเคยตอบประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มาหมดแล้ว เธอยืนยันว่าเธอเขียนสุนทรพจน์เองทุกครั้ง และถ้าฟังสาระที่เธอพูดดี ๆ นี่คือสิ่งที่เกรียตาพูดย้ำมาตลอด ในเรื่องของความรับผิดชอบของคนรุ่นปัจจุบันต่ออนาคตโลก การยึดโยงกับข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาก่อนจะสายเกินไป

เกรียตาเป็นเพียงตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่ผู้ใหญ่ส่วนมากเลือกที่จะประนีประนอมกับอำนาจและทุน เกรียตาทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ส่งสารของสาระที่ควรจะเป็นมาตรฐานความดี ความงาม ความจริง ของสังคมมนุษย์ แต่กลับถูกละเลยโดยผู้นำส่วนใหญ่มาโดยตลอด

เราปล่อยให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่เหนือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทิ้งคนจำนวนมากให้อยู่ในโลกที่กำลังผุพัง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แม้แต่อากาศที่จะหายใจก็ยังเป็นพิษ ลองคิดดูว่าคนรุ่นนี้ยังเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายขนาดนี้ แล้วคนรุ่นต่อไปจะต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง หากมองจากมุมนี้เธอมีสิทธิเต็มที่ที่จะโกรธและเสียใจ โดยเฉพาะการพูดต่อหน้าผู้นำที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาติกล่าวในงานว่า “เวลากำลังหมดแล้ว แต่ยังไม่สายเกินไป” เขากล่าวต่อหน้าผู้นำจาก 60 ประเทศว่า “นี่ไม่ใช่เวลาของการต่อรอง แต่เป็นเวลาที่เราต้องลงมือทำ และเร่งเดินหน้าไปสู่โลกที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593″​

ผู้ใหญ่ที่มองว่าเกรียตาป่วย และเลือกที่จะมองข้ามเหตุผล ข้อมูลและความถูกต้องชอบธรรมในสิ่งที่เธอพยายามต่อสู้ ผู้ใหญ่ที่ยังคิดว่ามนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ และสามารถทำลายธรรมชาติในนามของการพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องห่วงอนาคตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ผู้ใหญ่เหล่านั้นต่างหากคือคนป่วยที่แท้จริง คือคนที่ยังหลับใหล และไม่พร้อมจะตื่นขึ้นมาพบกับความจริง  

เกรียตาได้ช่วยปลุกให้คนหลายล้านคนได้ตื่นขึ้นมาและลงมือทำ เธอได้ปลุกให้โลกเปลี่ยน และเป็นอย่างที่เธอว่าไว้ “เมื่อคุณเริ่มลงมือทำ ความหวังก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง”   

“Never believe that a few caring people can’t change the world. For, indeed, that’s all who ever have”

– Margaret Mead

อย่าได้เชื่อว่าแค่คนที่ห่วงใยใส่ใจไม่กี่คนคงไม่มีวันเปลี่ยนแปลงโลกได้ ความจริงแล้วมีแต่คนแบบนี้เท่านั้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ

มาร์กาเรต มีด

มีอะไรต้องรู้ในรายงานสรุปสถานการณ์โลกร้อน United in Science

คุณจะมีความเชื่อและศรัทธาแบบไหนก็ได้แต่คุณควรต้องยอมรับการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมันคือการรวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงผ่านการสังเกต ตรวจวัดและวิเคราะห์ซ้ำแล้วซ้ำอีก

องค์การวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกหลายแห่งเช่น IPCC, WMO, UNEP ร่วมกันเขียนรายงาน United in Science เพื่อสรุปข้อมูลล่าสุดสำหรับการประชุมสุดยอดในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สหประชาชาติ

ข้อมูลสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้จากรายงานมีดังนี้ 

  1. 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดที่เคยมีการบันทึก: ช่วงเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2562 เป็นช่วงเวลาที่โลกมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกกันมา โดยพบว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสะสม 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1850-1900) แต่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 เพิ่มขึ้นอีกถึง 0.2 องศาเซลเซียส ซี่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ไฟป่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมายทั้งวาตภัย อุทกภัย และภัยแล้ง ซึ่งล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
  1. โลกสูญเสียแผ่นน้ำแข็งอย่างรวดเร็วเกินคาด: แผ่นน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตรา 12% ทุกๆสิบปี จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2522-2561 แต่สถิติน้ำแข็งละลายจนเหลืออยู่น้อยที่สุด 4 ปีเกิดขึ้นระหว่างปี 2558-2562 ในขณะที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์คติกลดลงเร็วขึ้นถึง 6 เท่าในช่วงปี 2522-2560 การสูญเสียธารน้ำแข็งทั่วโลกในช่วง 5 ปีหลังนับว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บข้อมูล
  1. ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า: ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2549 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.04 มิลลิเมตรต่อปี และตั้งแต่ปี 2550-2559 เพิ่มขึ้นเป็น 4 มิลลิเมตรต่อปี แต่ในช่วงเดือน พ.ศ. 2557-2562 พบว่าเพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตรต่อปี
  1. ระดับก๊าซเรือนกระจกใกล้แตะ 410 ppmภายในสิ้นปี 2562: ครั้งสุดท้ายที่โลกมีระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูงขนาดนี้คือเมื่อ 3-5 ล้านปีก่อนซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าในปัจจุบันอย่างน้อย 2-3 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงกว่าตอนนี้ 10-20 เมตร การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศระหว่างปี 2558-2562 เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น อัตราเพิ่มขึ้นของ CO2 3 ทศวรรษที่ผ่านมาคือ 1.42 ppm/ปี (พ.ศ. 2528-2538) 1.86 ppm/ปี (2538-2548) และ 2.06 ppm/ปี (2548-2558)
  1. งบประมาณคาร์บอนเหลือน้อยลงทุกที: เราเหลือคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่สามารถปล่อยได้ หรืองบประมาณคาร์บอน (Carbon budget) รวมกันทั้งโลกอยู่ 420 กิกะตัน (1GT = 1 พันล้านตัน) ณ วันที่ 1 มกราคม 2561 ถ้าเราจะมีโอกาส 67% ในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปี 2561 มีการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 3 หมื่น 7 พันล้านตัน หรือ 37 กิกะตัน ยังไม่มีทีท่าว่าขึ้นสู่จุดสูงสุด (peak) แล้วลดลง ซึ่งเท่ากับว่าเราจะใช้ Carbon budget หมดภายในเวลา 11 ปี

เพตเตรี ทาอาเลส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization-WMO) WMO ระบุว่า ในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็น 3 เท่า และหากต้องการจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องเพิ่มความพยายามเป็น 5 เท่าจากปัจจุบัน

คุณจะมีความเชื่อแบบไหนก็ได้แต่นี่คือความจริง ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง ว่าการพัฒนาในรูปแบบเดิม ๆ ไปต่อไม่ได้อีกแล้ว

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม