ปลาฉลามอีกชนิดในประเทศไทยที่นับเป็นฉลามใจดี ขวัญใจนักดำน้ำ คือ ฉลามเสือดาว ฉลามชนิดนี้เคยพบได้ค่อนข้างบ่อยและอยู่ค่อนข้างประจำที่จึงกลายเป็นไฮไลท์การท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญ แต่ช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมารายงานการพบฉลามเสือดาวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดอะไรขึ้นกับฉลามเสือดาว และฉลามเสือดาวหายไปไหน

ฉลามเสือดาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stegostoma fasciatum จัดอยู่ในฉลามวงศ์ Stegostomatidae หรือ Zebra Shark เป็นปลาฉลามขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนล่ำ มีสันนูนเป็นแถวบริเวณด้านบนและข้างลำตัว จะงอยปากสั้น ตาเล็ก จมูกมีหนวดสั้นๆ ลักษณะเด่นคือครีบหางยาวขนาดใหญ่คล้ายใบมีด หางยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีจุดดำหรือน้ำตาลกระจายทั่วลำตัว ทั้งโลกมีเพียงสกุลเดียวและชนิดเดียวก็คือ เจ้าฉลามเสือดาว

กลุ่มที่เป็นญาติๆกับวงศ์ฉลามเสือดาวคือวงศ์ฉลามกบ ฉลามขี้เซา และฉลามวาฬ ซึ่งทั้งหมดนี้จัดอยู่ในอันดับเดียวกันคือ Orectolobiformes หรือที่เรียกรวมๆกันว่าอันดับฉลามกบ (Carpet shark) ทั่วโลกมีความหลากหลายถึง 43 ชนิด ในประเทศไทยพบได้ 10 ชนิด เช่น ฉลามกบญี่ปุ่น (Japanese Wobbegong) ฉลามปากหนวด (Indonesian Wobbegong) ฉลามกบลาย (Brownbanded bambooshark) และฉลามขี้เซา หรือฉลามพยาบาล (Tawny Nurse Shark)

ฉลามเสือดาว มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ โดยมากตอนเด็กๆ มักถูกเรียกว่า Zebra shark พอโตหน่อยมักเรียกว่า Leopard shark ในไทยเองนอกจากฉลามเสือดาวก็มีชื่อเรียกปลาฉลามลายเสือดาว ปลาเสือทะเล ฉลามเสือก็มี ฉลามเสือดาวออกลูกเป็นไข่ โดยทั่วไปอาศัยตามพื้นทะเลที่เป็นทรายใกล้แนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั่วโลกสามารถพบฉลามเสือดาวได้ตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกตั้งแต่เกาะมาร์เชลล์ ฟิจิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ประเทศไทย ไล่ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดียตะวันตก แถวๆ แอฟริกาใต้ โมซัมบิก

ฉลามเสือดาวเป็นปลาฉลามที่ค่อนข้างหายากและมีประชากรค่อนข้างน้อยตลอดเขตการแพร่กระจาย โดยมากมักจะพบคราวละแค่หนึ่งหรือสองตัวเท่านั้น จุดที่พบได้เป็นจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ออสเตรเลียบริเวณรัฐควีนส์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยพบรวมตัวกันมากที่สุดถึง 40 ตัว การสำรวจประชากรที่ออสเตรเลียโดยใช้วิธีสำรวจด้วยภาพถ่ายและวิธีการ mark-recapture พบว่ามีการรวมตัวของฉลามตัวเต็มวัยราว 460 ตัวทุกๆปี

ในประเทศไทยมีการสำรวจประชากรฉลามเสือดาวโดยโครงการ Spot the Leopard Shark Thailand ด้วยการเก็บรวบรวมภาพถ่ายจากนักดำน้ำเพื่อจำแนกลักษณะเฉพาะของฉลามแต่ละตัวโดยใช้ลายจุดบนลำตัว และพบว่ามีฉลามเสือดาวราว 250 ตัว ทางฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะรอบๆ หมู่เกาะพีพีและภูเก็ต

ฉลามเสือดาวตัวเต็มวัยค่อนข้างหากินและอาศัยอยู่ประจำบริเวณแนวปะการังเดิม แต่ก็มีข้อมูลจากออสเตรเลียที่พบว่าโดยมากฉลามเสือดาวสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ในช่วงระยะทางไม่เกิน 1,000 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่ง แม้จะมีบางตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลถึง 2,300 กิโลเมตรภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือน

ฉลามเสือดาวถูกแบ่งเป็นประชากรย่อยสองกลุ่มทางกลุ่มตะวันตกและกลุ่มตะวันออก ในประเทศไทยจัดว่าเป็นกลุ่มตะวันตก ซึ่งอยู่ในสภาพถูกคุกคามอย่างหนักและจัดให้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามการประเมินของ IUCN Red List of Threatened Species  ในขณะที่ประชากรย่อยฝั่งตะวันออกในออสเตรเลียจัดว่าอยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม (Near threatened)

ภัยคุกคามที่สำคัญของฉลามเสือดาวคือการประมง แม้ประชากรฉลามเสือดาวจะมีไม่มากพอที่จะตกเป็นเป้าหมายในการจับ แต่ก็มักถูกจับโดยบังเอิญ หรือโดยไม่ตั้งใจอยู่เสมอ ฉลามเสือดาวที่ถูกจับได้จะถูกใช้ประโยชน์ทั้งตัว และมีไม่น้อยที่ถูกเก็บไว้ในกระชังเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มารับประทานอาหารทะเล

ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีแหล่งดำน้ำที่สามารถพบเห็นฉลามเสือดาวได้เป็นประจำ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นสำคัญเพราะมีไม่มีกี่แห่งในโลกเท่านั้นที่สามารถพบเห็นฉลามเสือดาวได้ง่าย แต่ข้อมูลจากการท่องเที่ยวดำน้ำทั้งในอ่าวไทยและอันดามันก็พบว่า การพบเห็นฉลามเสือดาวน้อยลงไปมาก และบริเวณที่เคยพบได้เป็นประจำเช่นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ก็พบเห็นฉลามเสือดาวได้ยากมากในปัจจุบัน

การอนุรักษ์ฉลามเสือดาวจึงนับเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนในการอนุรักษ์ฉลามของประเทศไทย โดยต้องเร่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งอาศัยและหากินของฉลามชนิดนี้ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังควรต้องเร่งพิจารณาขึ้นบัญชีฉลามเสือดาวเป็นสัตว์คุ้มครองที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันการนำฉลามเสือดาวที่จับมาได้มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรง (นำมาทำหูฉลาม หรือบริโภค)​ หรือทางอ้อม (นำมาเลี้ยงดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือส่งขายให้กับสถานแสดงสัตว์น้ำ)

ข้อได้เปรียบในการศึกษาฉลามเสือดาวคือนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนในการช่วยสำรวจและติดตามข้อมูลประชากรฉลามเสือดาวได้ด้วยการบันทึกภาพ จึงควรมีการขยายเครือข่ายแนวร่วมเพื่อการอนุรักษ์ในลักษณะโครงการ ‘Spot the Leopard Shark’ ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญในการจัดการและสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ฉลามเสือดาว ก่อนที่ฉลามเสือดาวจะหายไปจากท้องทะเลไทยตลอดกาล

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม