“ได้ยินข่าวมาเหมือนกันนะ แต่คงไม่เป็นอะไรหรอก”
“เคยเห็นมาบ้าง แต่ว่ามันยังไกลตัวไม่ใช่เหรอ”
“มันเกิดขึ้นแถวๆ ขั้วโลก แต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นั่น แบบนั้นคงไม่ได้กระทบอะไรกับเรามากหรอก”
“เคยได้ยินว่ามันเกิดขึ้นบนเกาะที่ห่างไกลจากที่นี่มาก”
แต่ตอนนี้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศอยู่ตรงหน้าเรา
หลายปีก่อนหน้านี้ หลายคนบอกว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งตอนนี้เราเห็นผลกระทบจากปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตรงหน้าเราแล้ว
ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีพรมแดน ในปี 2564 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather events) เกิดขึ้นทั่วโลกแทบจะทุกเดือนของปี เรารวบรวมภาพถ่ายผลกระทบหลังจากเกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วมาบางส่วนเพื่อเป็นหลักฐานถึงผลกระทบต่อผู้คนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ในปี 2564 ตั้งแต่พายุหิมะไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่มั่นคงยั่งยืน
นี่คือการเตือนภัยของมนุษยชาติ เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ควรเพิกเฉยหรือถูกปฏิเสธอีกต่อไป เราเดินทางมาถึงจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราตัดสินใจทำในวันนี้ การลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในตอนนี้จึงสำคัญมาก แต่โดยรวมแล้ว เราจะปกป้องสภาพภูมิอากาศได้หากเหล่าผู้นำประเทศดำเนินนโยบายอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด
ไม่มีครั้งไหนอีกแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกัน แสดงพลังในการเรียกร้องต่อรัฐบาลและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มีภาระรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex)
หิมะที่ตกหนักและคลื่นความหนาวทุบสถิติในกรุงมาดริด สเปน เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 2460 เพียงเดือนเดียวหลังจากนั้น โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ก็พัดเข้าถล่มรัฐเท็กซัสในสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงด้วยอุณหภูมิที่ต่ำจนกลายเป็นสถิติใหม่ ซึ่งทำให้ทั้งรัฐเกิดปัญหาน้ำประปาไม่ไหลทั้งระบบ รวมทั้งความหนาวยังส่งผลกระทบต่อประชากรอีกหลายล้านคน
พายุไซโคลนในแอฟริกา
ไซโคลนเอลอยส์ เป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่สามที่พัดเข้าถล่มชายฝั่งโมซัมบิกตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 250,000 คน โดยสูญเสียที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 18,000 คน พายุลูกดังกล่าวทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงเรียน ถนน และระบบสาธารณูปโภค อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียอีก 27 ชีวิต และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในมาดากัสการ์ โมซัมบิก ซิมบับเว บอตสวานาและแอฟริกาใต้

พายุทรายในจีน
ในปี 2564 กรุงปักกิ่งได้รับผลกระทบจากพายุทรายที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เมืองทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีเหลืองมหาศาลเนื่องจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชากรจากมลพิษทางอากาศ รัฐบาลจะต้องลงมือแก้ไขปัญหานี้ทันทีโดยการปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ เพื่อคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน
น้ำท่วมในออสเตรเลีย
เกิดฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักและน้ำท่วมฉับพลันในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ ออสเตรเลีย ซึ่งทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนจนรัฐต้องปิดโรงเรียนและผู้คนมากมายถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและความช่วยเหลือที่จำเป็น อย่างเช่น การเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นต้น โดยสถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีกหากออสเตรเลียยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ
ไฟป่าในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน
ตุรกีต้องเผชิญกับไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ส่งผลให้ผู้คนหลายพันต้องต่อสู้กับจุดเกิดเพลิงไฟนับร้อยภายในเมืองและชุมชนเมดิเตอร์เรเนียนกับชายฝั่งทะเลอีเจียน เปลวไฟยังรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและผลพวงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อ้างอิงจากข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ ยังมีรายงานการเกิดไฟป่าแบบเดียวกันในกรีซ เลบานอน โมร็อกโคและอิสราเอล
น้ำท่วมฉับพลันในยุโรป
จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของยุโรป คร่าชีวิตประชากรไปมากกว่า 100 คน สถานที่สำคัญในหลายประเทศได้แก่ เยอรมนี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก เบลเยียม และฝรั่งเศสได้รับความเสียหายร้ายแรง
น้ำท่วมฉับพลันในเอเชีย
ภัยน้ำท่วมฉับพลันยังคงสร้างผลกระทบไปทั่วเอเชีย เราได้เห็นภาพที่น่าตกใจจากจีนที่ผู้โดยสารติดอยู่ในรถไฟใต้ดินที่เต็มไปด้วยน้ำ นอกจากนี้ยังได้รับรายงานเหตุการณ์นำ้ท่วมฉับพลันในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ทำให้ผู้คนหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
การติดตามไฟป่าในแอมะซอน
ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในเมืองปอร์โต เวลโฮ รัฐรอนโดเนีย ทุกๆ ปี กรีนพีซบราซิลใช้เครื่องบินตรวจตราพื้นที่แอมะซอนเพื่อติดตามการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า
ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2564 มีการบินตรวจตราผ่านพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับการใช้ระบบ Deter (ระบบตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าแบบเรียลไทม์) และระบบเตือนไฟป่า Prodes (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งโครงการตรวจสอบผืนป่าแอมะซอนด้วยดาวเทียมของบราซิล) นอกจากนี้ ยังใช้ระบบการแจ้งเตือนจุดความร้อนโดย Inpe (สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ) ในพื้นที่รัฐ Amazonas, Rondônia, Mato Grosso และ Para อีกด้วย
ไฟป่าในอาร์เจนตินา
ไฟป่าครั้งนี้ทำลายผืนป่าไปถึง 30,000 เฮกตาร์ ในเขตพาตาโกเนีย อาร์เจนตินา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้แรงลมยังทำให้ไฟลามไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วโลก
ไฟป่าและภัยแล้งอันรุนแรงในแคลิฟอร์เนีย
นี่เป็นอีกครั้งที่ไฟป่าคุกคามรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่ต้องเจอกับภัยแล้งและและคลื่นความร้อนที่รุนแรงถึงชีวิต ไฟป่าส่งผลให้ควันไฟปกคลุมไปทั่วพื้นที่ตะวันตกและทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงทั่วเมือง ควันจากไฟป่ายังลอยไปถึงพื้นที่ตะวันออกในนิวยอร์กอีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียกว่า 11.2 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟป่า ซึ่งคาดการณ์ว่าแคลิฟอร์เนียมีแนวโน้มจะเกิดไฟป่ามากกว่า 140 วันใน 1 ปี ภายในปี 2593
ไฟป่าในรัสเซีย
ก่อนหน้านี้เกิดไฟป่าไปทั่วทางตะวันออกของรัสเซีย โดยภูมิภาคยาคูเตียในไซบีเรียได้รับผลกระทบหนักที่สุด ไฟป่าครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อไซบีเรียอย่างหนักและทำให้เกิดฝุ่นควันไปถึงขั้วโลกเหนือ
รัสเซียต้องเผชิญกับความแห้งแล้งที่ผิดปกติและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นซึ่งกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่า ที่ผ่านมา
พายุทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกา
ไม่ว่าจะเป็นเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากน้ำท่วมหรืออุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น นำไปสู่กระแสลมรุนแรงและฝนตกหนัก แม้กระทั่งเกิดทอร์นาโดก็ตาม แต่การเชื่อมโยงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระหว่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนั้นเป็นที่แน่ชัด
มีประชาชนอย่างน้อย 88 คนเสียชีวิตจากพายุทอร์นาโดซึ่งทำลายบ้านพักคนชราในมลรัฐอาคันซอส์ รวมทั้งยังสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่อื่นๆของเทนเนสซี อิลินอยส์และมิสซูรี
