สวิตเซอร์แลนด์, 25 กุมภาพันธ์ 2563 – มลพิษทางอากาศยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ที่มากที่สุดโดยมีประชากรโลกถึง 90% ที่ต้องหายใจเอาอากาศที่ไม่ปลอดภัยเข้าไป ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ทาง IQAir ได้รวบรวมและตีพิมพ์เผยแพร่ในรายงานคุณภาพอากาศโลกปี พ.ศ.2562 (2019 World Air Quality Report) และรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ PM2.5 มากที่สุดในโลก เปิดเผยถึงสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปของมลพิษ PM2.5 ทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2562 ชุดข้อมูลใหม่นี้หยิบยกถึงระดับมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น พายุทรายและไฟป่า  รวมถึงมลพิษทางอากาศที่มาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองในภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่มีความสำเร็จบางประการที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศทั่วโลก แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่มากในการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลกด้วย

แฟรงค์ แฮมเมส ประธานกรรมการบริหาร IQAir กล่าวว่า 

“ในขณะที่ ประเด็นไวรัสโควิด-19 เป็นหัวข้อข่าวใหญ่ ทั่วโลก มัจจุราชไร้เสียงอย่างมลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรทั่วโลกราว 7 ล้านคนต่อปี โดยการรวบรวมและแสดงผลข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลายพันแห่งทั่วโลก รายงานคุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2562 นี้นำเสนอประเด็นใหม่ๆ ของภัยคุกคามด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอันดับต้นของโลก”

ข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงานคือ 

  • จีนแผ่นดินใหญ่ : หลายเมืองทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ประสบความสำเร็จในการลดฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 9% ในปี พ.ศ. 2562 หลังจากลดลงไป 12% ในปี พ.ศ.2561 กระนั้น ยังคงมีเมืองอีก 98% ที่ฝุ่น PM2.5 ดังกล่าวอยู่ในระดับเกินข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และอีก 53% เกินมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายที่เข้มงวดที่สุดของจีน ในทศวรรษที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งสามารถลดความเข้มข้นรายปีของ PM2.5 ลงได้มากกว่าครึ่ง ในปีนี้ กรุงปักกิ่งหลุดจากอันดับ 200 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกได้แล้ว
  • เกาหลีใต้ : ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศ PM2.5 มากที่สุด ในปี พ.ศ.2562 คุณภาพทางอากาศของหลายเมืองหลักทั่วประเทศยังมีค่าเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
  • อินเดีย : แม้ว่าหลายเมืองในอินเดีย โดยเฉลี่ย มีความเข้มข้นรายปีของ PM2.5 เกินข้อกำหนด ของ WHO ถึง 500% แต่มลพิษทางอากาศในภาพรวมทั้งประเทศในปี พ.ศ.2562 ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2561 98% ของเมืองทั่วอินเดียมีคุณภาพทางอากาศดีขึ้น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนี้มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
  • เอเชียใต้ : บรรดาเมืองในอินเดียและปากีสถานยังคงจัดอยู่ในเมืองที่มีมลพิษ PM2.5 มากที่สุดในโลกในปี 2562 โดยเมือง 21 แห่ง ใน 30 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอยู่ในอินเดีย ส่วนอีก 5 แห่ง อยู่ในปากีสถาน
  • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นประวัติการณ์ที่สะท้อนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของภูมิภาค ส่งผลให้เมืองที่เป็นศูนย์กลางอย่างกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย หรือกรุงฮานอยของเวียดนาม แซงหน้ากรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรก ในฐานะเมืองหลวงที่มีมลพิษ PM2.5 มากที่สุดในโลก
  • ไฟป่า และการเผาในที่โล่ง มีผลกระทบสำคัญต่อคุณภาพทางอากาศของหลายเมืองหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และนครลอสแองเจลิสและเมืองอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
  • การกลายเป็นทะเลทรายและพายุทราย มีบทบาทหลักต่อคุณภาพอากาศที่เลวร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลางและภาคตะวันตกของจีนแผ่นดินใหญ่
  • ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกยังคงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษทางอากาศตามเวลาจริง (real-time) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะที่ มีภาคประชาชนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพิ่มมากขึ้นหลายแห่งทั่วโลกพยายามนำเอาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กและมีราคาถูกมาใช้เพื่อเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลคุณภาพอากาศที่ขาดหายไป และผลจากความพยายามดังกล่าว ส่งผลให้ข้อมูลคุณภาพอากาศสาธารณะมีใช้ได้แล้วเป็นครั้งแรกใน แองโกลา, บาฮามาส, กัมพูชา, คองโก, อียิปต์, กานา, ลัตเวีย, ไนจีเรีย และซีเรีย

ทั้งนี้ ข้อมูลคุณภาพอากาศในปี 2562 บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศเพิ่มความเสี่ยงโดยตรงต่อการรับสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ จากความถี่และความเข้มข้นของการเกิดไฟป่าและพายุทราย ขณะเดียวกัน ในอีกหลายภูมิภาค พบว่า สาเหตุของมลพิษ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจากก๊าซเรือนกระจกนั้นเชื่อมโยงกัน นั่นคือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสชิล เช่น ถ่านหิน ดังนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนในการลงมือทำเพื่อจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

“ขณะที่การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศมีเพิ่มมากขึ้น แต่ช่องว่างของข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่บางส่วนของโลกก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า สิ่งที่ตรวจวัดไม่ได้ก็จะไม่สามารถจัดการได้ อีกทั้งพื้นที่ที่ขาดแคลนข้อมูลคุณภาพทางอากาศมักจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประเมินว่ามีมลพิษทางอากาศที่รุนแรงที่สุดในโลก และทำให้ประชากรจำนวนมหาศาลตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น แอฟริกา ทวีปที่มีประชากรอยู่อาศัยถึง 1,300 ล้านคน ขณะนี้มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่รายงานข้อมูล PM2.5 ต่อสาธารณะตามเวลาจริงน้อยกว่า 100 แห่ง รายงานข้อมูลการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศที่สาธารณะชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้นั้นเสนอให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนรวมถึงหน่วยงานของรัฐในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อทำให้อากาศดีกลับคืนมา” นายแฟรงค์กล่าวเพิ่มเติม

โดยสังเขป

IQAir AirVisual เป็นแพล็ตฟอร์มข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลก ภายใต้การดำเนินการของ IQAir Group ด้วยการเก็บรวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคุณภาพทางอากาศจากภาครัฐ ภาคเอกชนส่วนบุคคลและภาคองค์กรอิสระ โดย IQAir AirVisual มีเป้าหมายเพื่อให้และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลกและท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเปิดทางให้บุคคล องค์กร และรัฐบาลหาทางดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพทางอากาศในชุมชน เมือง และนานาประเทศทั่วโลก

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทยอีเมล [email protected] โทร. 081 929 5747

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม