เดลี, อินเดีย, 8 ตุลาคม 2563 – การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA โดยกรีนพีซ อินเดีย และ Centre for Research and Clean Air (CREA) แสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)ในประเทศอินเดียที่ลดลงในปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี  เกิดจากการใช้ถ่านหินที่ลดลง รายงานได้เปิดเผยว่าในปี 2562 การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ลดลงจาก 3 ประเทศผู้ก่อมลพิษดังกล่าวฯมากที่สุด คือ อินเดีย รัสเซีย และจีน

“เรากำลังได้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่าเมื่ออินเดียใช้ถ่านหินลดลงแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพ ในปี 2562 อินเดียผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น และกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลง คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจึงเป็นผลตามมา แต่อากาศของเรายังคงห่างไกลจากคำว่าปลอดภัย เราจะต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจของพวกเรา” อาวินาช ชานชาล ผู้ประสานงานรณรงค์จากกรีนพีซ อินเดียกล่าว 

รายงานได้จัดอันดับผู้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร [1] [2]

ประเด็นสำคัญจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซา(NASA):

  • ในปี 2562 อินเดียได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากถึงร้อยละ 21 จากปริมาณทั้งหมดทั่วโลกที่มาจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งเกือบจะมากเป็นสองเท่าของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษอันดับสอง
  • การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์ลดลงทั่วโลกร้อยละ 6 โดยประมาณในปี 2562 และนับเป็นครั้งที่ 2 เท่าที่มีการบันทึกไว้ว่าการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์ลดลงที่ อินเดีย รัสเซีย และจีน ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษใหญ่สุดสามอันดับแรก
  • ในปี 2562 การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์ในจีนลดลงร้อยละ 5 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่น้อยที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา จีนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ลดการปล่อยมลพิษลงถึงร้อยละ 87 ตั้งแต่ปี2554 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุหลักจากข้อบังคับการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น และการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษที่ปลายปล่อง
  • เราพบว่าการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แอฟริกาใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2562 ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา การลดลงนี้เป็นผลมาจากการลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงชั่วคราว
  • การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์ในตุรกีเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2562 ทำให้เป็นปีที่สี่ของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2562 ส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ซึ่งในช่วงเวลานี้ปริมาณการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า
  • ที่เม็กซิโก การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากฝีมือมนุษย์กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในปี 2562 หลังจากการลดลงเป็นอย่างมากติดต่อกันสามปี การปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นในปี 2562 ถึงร้อยละ 90
  • ในปี  2562 ที่ โนรีลส์ค สมีลเตอร์ (Norilsk smelter) ในรัสเซีย เป็นแหล่งกำเนิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  จากฝีมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแถบอาหรับจุดความร้อนจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับที่ 2
  • สุราลายา อาณาจักรอุตสาหกรรมถ่านหินที่บันตัน อินโดนีเซีย เป็นจุดความร้อนจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตามมาติด ๆ ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสิงค์โปร์

“ดาวเทียมได้ติดตามการปล่อยมลพิษเหล่านี้ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนนับล้าน คนจำนวนมากที่ถูกทำให้อายุสั้นลง หรือ สุขภาพถูกคุกคาม แสดงถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะต้องนำมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้และเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐบาลของประเทศผู้ก่อมลพิษระดับต้น ๆของโลก เช่น อินเดีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ กลับยืดเวลาบังคับใช้ หรือ ลดความเข้มงวดของแผนควบคุมมลพิษลง แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ควรจะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพระบบทางเดินหายใจ” ลอรี มิลลิเวียทา หัวหน้านักวิจัยของ Centre for Research on Energy and Clean Air (CREA) กล่าว

รัฐบาลจะต้องระงับการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลทันที และเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากต้นกำเนิดที่ปลอดภัยมากกว่า เช่น ลม และแสงอาทิตย์ ในขณะเดียวกันพวกเขาจะต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น และบังคับใช้เทคโนโลยีควบคุมก๊าซพิษที่ปล่องควันที่โรงไฟฟ้า เตาหลอม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์

หมายเหตุ:

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

ดูแผนที่จุดที่มีปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ที่นี่

1. 12 ประเทศผู้สร้างมลพิษ SO2 รายใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2562

[1] สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ดูที่ Yang et al., 2014 
(https://doi.org/10.1016/j.ijcard.2014.05.044); Shah et al., 2015 (https://doi.org/10.1136/bmj.h1295); Lin et al., 2018 (https://doi.org/10.1038/s41598-018-20404-2); Mandel et al., 2015 (https://doi.org/10.1007/s11684-015-0397-8).

[2] นักวิจัยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซา NASA และข้อมูลที่มาของการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทั่วโลกเพื่อมองหาจุดความร้อน เทคโนโลยีดาวเทียมของนาซา ประเมินการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ครอบคลุมเกือบจะทั่วโลก นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุอุตสาหกรรมต้นตอและแนวโน้มการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  นาซาประเมินว่า MEaSUREs catalogue ซึ่งเป็นข้อมูลหลักของรายงานฉบับนี้สามารถอธิบายได้ครึ่งหนึ่งเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากฝีมือมนุษย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม