19 พฤศจิกายน 2567, โซล, เกาหลีใต้ – งานวิจัยชิ้นใหม่โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ระบุว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดวิกฤตมลพิษพลาสติกและการปล่อยคาร์บอน โดยกำลังการผลิตพอลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิ (primary plastic polymer) จากทั้งสามประเทศรวมกันมีปริมาณมากถึง 41.99 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 99.93 เมกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) [1]
แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 (Intergovernmental Negotiating Committee – INC-5) ที่กำลังจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ ณ เมืองปูซาน ซึ่งจะหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) แต่เกาหลีใต้กลับเป็นผู้นำในเรื่องอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกด้วยกำลังการผลิตสูงถึง 19.92 ล้านตัน ตามมาด้วยญี่ปุ่นและไต้หวันที่มีกำลังการผลิต 13.04 ล้านตัน และ 9.02 ล้านตันตามลำดับ โดยกำลังการผลิตทั้งหมดรวมกันคิดเป็นประมาณ 11% ของกำลังการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโลกต่อปี จากการวิเคราะห์พอลิเมอร์พลาสติกที่ศึกษา พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกของเกาหลีใต้ประเทศเดียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเป็นปริมาณเท่ากับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและไต้หวันรวมกัน ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (environmental footprint) ที่มีปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญของเกาหลีใต้
“ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมอันมหาศาลของอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยหากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อควบคุมดูแลการผลิตที่ล้นเกินเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเร่งให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และทำให้ปัญหามลพิษพลาสติกในระดับโลกยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม” แดเนียล รีด นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานจากกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าว
รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่ากำลังการผลิตของญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีส่วนทำให้เกิดปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินในตลาดปิโตรเคมีโลก โดยในบรรดาบริษัทผู้ผลิตพลาสติกปริมาณมากที่สุดจากสามประเทศนี้ ใน 10 แห่ง มี 7 แห่งมีฐานอยู่ในเกาหลีใต้ ทั้งนี้กลุ่มบริษัท Lotte Group และกลุ่มบริษัทจากไต้หวันชื่อ Formosa Plastics Group เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับต้น ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มบริษัทดังกล่าวมีสัดส่วนผลิตราว 10 % จากปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดของโลก
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ระบุว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากถึง 99% เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ความพยายามบรรลุเป้าหมาย Net Zero เป็นไปได้ยากลำบาก และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในความตกลงปารีส (Paris Agreement) จึงจำเป็นต้องมีการลดกำลังการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อย่างไรก็ตามจากสภาวะปัจจุบันของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ยาก หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มแข็ง ดังนั้น โอกาสที่ตัวแทนจากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกมารวมตัวกันที่เมืองปูซานเพื่อหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกนั้น กรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีข้อตกลงที่เข้มแข็งและท้าทายว่าจะลดการผลิตพลาสติกให้ได้ร 75 % ภายในปี 2583 และยุติการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
“การเจรจาว่าด้วยพลาสติกที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ปูซานจะพาโลกของเราไปสู่ทางแยกที่ต้องตัดสินใจ หากต้องการบรรลุเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศและแก้ไขวิกฤตพลาสติก เราต้องลดการผลิตพลาสติกลง ผู้นำโลกต้องแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและมอบสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะปกป้องสุขภาพ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้กับพวกเรา” คิม นารา นักรณรงค์ด้านพลาสติก กรีนพีซ โซล กล่าว
หมายเหตุ
[1] คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) เป็นหน่วยกลางที่ใช้กล่าวถึงก๊าซเรือนกระจกประเภทต่าง ๆ โดยก๊าซเรือนกระจกชนิดใด ๆ ปริมาณใด ๆ ก็ตาม จะมีผลต่อภาวะโลกร้อนคิดเป็นหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) เท่ากับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในปริมาณเทียบเท่ากันนั้น
สามารถดาวน์โหลดผลสรุปงานวิจัยจากฐานข้อมูลการผลิตพลาสติกและปิโตรเคมีเอเชียตะวันออก ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
Emma Kim, Communications Officer, Greenpeace South Korea
[email protected] | +82-10-8967-1909
Angelica Carballo Pago, Global Plastics Media Lead, Greenpeace USA [email protected], +63 917 112 4492