สรุปเนื้อหารายงาน
รายงานของกรีนพีซ นอร์ดิก “ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม” เผยให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าเราสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ หากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการลดการผลิตที่ล้นเกินจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืน

นี่คือครั้งแรกที่มีการเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนจากข้อมูลตามรายงานของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เทียบกับบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมปล่อยก๊าซมีเทนเทียบได้กับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ [1]
ในปี 2564 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยว่าเราสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงได้ 0.3 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2583 หากเราสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกิจกรรมของมนุษย์ในทุกภาคส่วนลงร้อยละ 45 ภายในปี 2573 รายงานของกรีนพีซ นอร์ดิกแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมแบบเดิมอาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอีก 0.32 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 ในทางกลับกัน การลดการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมตามหลักการของอาหารเพื่อสุขภาพของโลกจะช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ 0.12 องศาเซลเซียส จากการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในการผลิตรูปแบบเดิม
การลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้าในระยะใกล้ การลดการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณมากผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในภาคอุตสาหกรรมนี้จะเป็นกุญแจสำคัญควบคู่ไปกับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง แต่บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่กลับขัดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยพยายามฟอกเขียวให้แผนดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทตนดูดี และปิดกั้นมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถนำไปสู่การลดก๊าซมีเทนอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลเบื้องต้น
ขนาดและอำนาจของบริษัทในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมได้ทำให้ระบบอาหารกลายเป็น
“โครงสร้างแบบนาฬิกาทราย” โดยมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในช่วงคอขวดของนาฬิกาทรายที่ทำหน้าที่กำหนดและควบคุมวิธีการผลิตอาหารก่อนที่เกษตรกรจะผลิต รวมถึงค่าจ้าง และสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคได้หลังการผลิต รวมถึงราคาที่พวกเขาจ่ายสำหรับอาหารนั้นด้วย[3]
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมยังส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศอีกด้วย การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากมนุษย์รายใหญ่ที่สุด ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วในระยะเวลาสั้น การเพิ่มขึ้นของการผลิตปศุสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญอันดับสองที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหารโลก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา[4]
ข้อค้นพบหลักจากรายงานของกรีนพีซ นอร์ดิก
- ถ้าเราลดปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เราสามารถลดอุณหภูมิที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.12 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมนี้ในชั้นบรรยากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ [5]
- อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสามารถลดลงได้ 0.12 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 หากมีการลดปริมาณการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มากเกินไป การลดการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมลงจะช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงได้ร้อยละ 37
- หากเราไม่ลดปริมาณปศุสัตว์ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเพียงภาคส่วนเดียว จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.32 องศาภายในปี 2593 โดยที่ก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมนี้เพียงอุตสาหกรรมเดียวจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกเดือดมากกว่าร้อยละ 75
- จากข้อมูลวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุด 5 ราย (JBS, Marfrig, Minerva, Cargill และ Dairy Farmers of America) ปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกมากกว่า BP, Shell, ExxonMobil, TotalEnergies และ Chevron รวมกัน จากรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งสองประเภทอุตสาหกรรม
- ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนโดยประมาณจากบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุด 3 รายรวมกัน (ไม่รวมการปล่อยมลพิษ) ได้แก่ Dairy Farmers of America, Lactalis ของฝรั่งเศส และ Fonterra ของนิวซีแลนด์ จะสูงกว่าปริมาณที่ก๊าซมีเทนจากบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่บางแห่ง เช่น ExxonMobil
- JBS เป็นบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยถูกจัดอยู่ในอันดับ 5 จาก 100 บริษัทผู้ปล่อยก๊าซมีเทนสูงสุด ซึ่งรวมบริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลด้วย
- JBS เพียงบริษัทเดียวปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่า บริษัทน้ำมันรายใหญ่ เช่น ExxonMobil และ Shell รวมกัน
การวิเคราะห์ข้อมูลรายงานในบทที่ 1 ยืนยันว่าแนวทางการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโภชนาการตามแนวทางที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ระบุในรายงานเผยแพร่ “ลดเพื่อเพิ่ม” ของกรีนพีซ สากลในปี 2561 ถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การลดการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมตามแนวทางการรับประทานอาหารของ EAT–Lancet Planetary Health ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและส่งเสริมสุขภาพทั้งของมนุษย์และโลก จะช่วยให้การผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปัจจุบัน[6]
บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่เป็นผู้ก่อก๊าซมีเทนปริมาณเทียบเท่ากับบริษัทน้ำมันรายใหญ่
บทที่ 2 ของรายงานของกรีนพีซ นอร์ดิกพบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนโดยประมาณของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 29 ราย ตามการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเทียบได้กับปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 100 อันดับแรกในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ และรัฐบาลก็มองข้ามเรื่องนี้ แม้ว่าการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เกินขนาดจะมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นก็ตาม
กราฟแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนระหว่างอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมน้ำมัน

การฟอกเขียวของธุรกิจเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ และการขาดความโปร่งใสในการ(ไม่)ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
ในบทที่ 2.2 รายงานอธิบายว่าแทนที่บริษัทจะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคปศุสัตว์มากเกินไป บริษัทผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมได้เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการขัดขวางความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารไปสู่การรับประทานอาหารที่เน้นพืชและโปรตีนหลากหลายชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ บทที่ 2.3 กล่าวถึงกลวิธีต่าง ๆ เพื่อฟอกเขียวให้บริษัทดูมีความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในรายงานจัดกลุ่มของกลวิธีการฟอกเขียวออกเป็น 2 กลุ่มกว้าง ๆ คือ ‘การบัญชีคาร์บอนเชิงสร้างสรรค์’ และ ‘การแก้ไขทางเทคโนโลยี’
เนื้อหาส่วนพิเศษในรายงานฉบับนี้ได้เจาะลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่ยังไม่เพียงพอของบริษัททั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ Arla (เดนมาร์ก), Bigard (ฝรั่งเศส), เจริญโภคภัณฑ์ (ไทย), Cremonini (อิตาลี), Danish Crown (เดนมาร์ก), Fonterra (นิวซีแลนด์), JBS (บราซิล), Lactalis (ฝรั่งเศส), Müller (เยอรมนี), Nestlé (สวิตเซอร์แลนด์) บริษัททั้ง 10 รายนี้แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในแนวทางการรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ แผนการด้านสภาพภูมิอากาศขาดเกณฑ์มาตรฐานและเป้าหมายที่สอดคล้องและประสานกันระหว่างบริษัทต่าง ๆ และข้อมูลที่รายงานด้วยตนเองขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบในทุกภูมิภาค ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบบริษัทต่าง ๆ และความคืบหน้าในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่แท้จริงได้
การขาดความโปร่งใสซึ่งมักเห็นได้บ่อยในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้บริษัทอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมหลายแห่งไม่ค่อยเผยแพร่ตัวเลข (หรือแทบจะไม่มีเลย) จำนวนปศุสัตว์ ปริมาณการแปรรูปนม ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไม่ต้องพูดถึงการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ[7] บริษัททั้ง 29 แห่งที่กรีนพีซ นอร์ดิกประมาณการการปล่อยก๊าซมีเทนจึงเป็นเพียงรายชื่อที่บ่งชี้ถึงคู่แข่งในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีอีกหลายบริษัท
ข้อเรียกร้อง
บริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมระดับโลกมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่อื่น ๆ ในเรื่องระดับการปล่อยก๊าซมีเทนที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศและส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น แต่กลับล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จนถึงขณะนี้ รัฐบาลต่างเพิกเฉยต่อบทบาทของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนที่เพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ด้วยการออกนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านและลดการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
กรีนพีซ เรียกร้องถึงผู้กำหนดนโยบายให้
1.กำหนดข้อบังคับที่มีผลผูกพันต่อบริษัทอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมในการรายงานขอบเขตการปล่อยมลพิษทั้งหมด (รายงานก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์แยกกัน) โดยบริษัทต้องมีภาระรับผิดต่อการปล่อยมลพิษทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของตน การรายงานจะต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกันทั่วโลกในทุกโดยมีระบบการตรวจสอบที่เป็นอิสระ
2. ปรับปรุงหรือนำเสนอกฎหมายที่มีผลผูกพันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร (รวมถึงก๊าซมีเทน) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดจำนวนปศุสัตว์ ตัดการชดเชยคาร์บอนและวิธีแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีระยะสั้นที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ออกไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- หยุดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ (ไม่มีการสร้างฟาร์มโรงงานแห่งใหม่ หรือการขยายฟาร์มโรงงานที่มีอยู่เดิม)
- หยุดการขยายตัวของการผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ปลูกระดับอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่เกษตรเพื่ออาหารหลากหลายสำหรับผู้คนมากกว่าอาหารสัตว์.
3.นำเสนอนโยบายที่จำกัดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากเกินไปและเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารไปสู่การกินอาหารจากพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
4.สร้างกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่มีกรอบเวลาเพื่อนำงบประมาณออกจากอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และอาหารสัตว์ ไปสู่การสร้างแรงจูงใจและขยายระบบอาหารเกษตรเชิงนิเวศโดยที่รองรับเกษตรกรและคนงานอย่างเหมาะสมในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น
กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ
- รายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษอย่างครบถ้วน (รายงานแยกในส่วนของก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์) ที่ครอบคลุมการปล่อยมลพิษทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้คำนวนเพื่อให้สาธารณชนตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการลดจำนวนปศุสัตว์และอาหารสัตว์โดยไม่ใช้การชดเชยและดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส
- หยุดขยายพื้นที่เพาะปลูกที่ทำลายระบบนิเวศ และให้แน่ใจว่าการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อระบบนิเวศหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายงานของกรีนพีซ นอร์ดิกแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เราสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้อย่างมีนัยสำคัญด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจากภาคอุตสาหกรรม หากเราหยุดปล่อยก๊าซมีเทนในตอนนี้ เราก็มีโอกาสที่จะป้องกันภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายได้
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากเราป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิโลกภาวะโลกได้ 0.3 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ช่วยให้ประชาชนประมาณ 410 ล้านคนหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นได้
ทุก ๆ 0.1องศาเซลเซียส ของการป้องกันการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก อาจส่งผลให้มวลน้ำแข็งบนธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายน้อยลงประมาณร้อยละ 2 เพื่อรักษาปริมาณน้ำจืด ลดระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสำหรับผู้คนนับล้านในพื้นที่ชายฝั่ง
ตัวเลขที่บ่งชี้ว่าการลดปริมาณก๊าซมีเทนจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมอาจดูเหมือนเป็นตัวเลขที่น้อยมาก แต่เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งขององศาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน”
เชฟาลี ชาร์มา นักรณรงค์อด้านเกษตรกรรมอาวุโส กรีนพีซ นอร์ดิก