วาทะกรรมหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของรัฐบาลนั้น ได้กล่าวไว้ว่า “ให้แก้ปัญหาที่ตัวเราเอง” ซึ่งส่วนหนึ่งมีความถูกต้อง แต่ความจริงอีกส่วนที่ภาครัฐไม่เอ่ยปาก คือ ปริมาณฝุ่นพิษอันมหาศาลทั่วประเทศนั้น ผู้ที่ถูกพูดถึงน้อยแต่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดอาจจะเป็นภาคอุตสาหกรรม

เนื้อหาย่อๆ

  • ไทยไม่มีข้อมูลหรือกฎหมายเพื่อบังคับให้รายงานฝุ่น PM 2.5  ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันหรือลดการปล่อย PM 2.5 ได้ 
  • ภาครัฐต้องไม่ปฏิเสธปัญหาฝุ่นพิษจากจากอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อการก่อมลพิษ และไม่มีมาตรการควบคุมและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างรัดกุม
  • นโยบายประกันราคาสินค้าการเกษตรที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เอื้อให้วิกฤตมลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการเผาในที่โล่ง
  • ผลพวงตามมาจากเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนี้คือ การเผาในที่โล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ข้ามพรมแดนจังหวัด และบ้างอาจข้ามพรมแดนประเทศ
  • ทางออกที่ดูน่าจะสมเหตุสมผลกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้ คือ กฎหมายที่ระบุให้อุตสาหกรรมเปิดเผยถึงที่มาตลอดห่วงโซ่การผลิตของตน ว่าเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่เกิดการเผาก่อมลพิษ หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้หรือไม่ หรือเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ ตั้งเป้า GDP อยู่ที่ 2.7 – 3.7% โดยการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเกษตร โดยต้องขยายอย่างน้อยเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ส่วนภาคบริการและอุตสาหกรรมต้องเพิ่มให้ได้ 4.6% และ 5.4% ตามลำดับ ในปี 2565 

ภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่จากมุมสูงในวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 อยู่ในระดับ 250 ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ. © Vincenzo Floramo / Greenpeace
เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่คนเชียงใหม่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การ เผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน © Vincenzo Floramo / Greenpeace

ภาครัฐต้องไม่ปฏิเสธปัญหาฝุ่นพิษจากจากอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อการก่อมลพิษ และไม่มีมาตรการควบคุมและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างรัดกุม มาตรการแก้ปัญหาขณะนี้ไม่ได้สนใจเรื่องโรงงาน และการเผาจากภาคเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่พูดถึงการจัดการที่ปลายปล่องอุตสาหกรรม ประเทศไทยไม่มีข้อมูลหรือกฎหมายเพื่อบังคับให้รายงานฝุ่น PM 2.5  ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันหรือลดการปล่อย PM 2.5 ได้ 

เมื่อไม่มีการตรวจวัดและรายงาน จะนำไปสู่ขั้นตอนการลดการปล่อยและแก้ไขได้อย่างไร

ความเลวร้ายของคุณภาพอากาศในขณะนี้ยังสอดคล้องกับปริมาณจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรและเคลียร์พื้นที่ด้วยการเผา โดยกระจายไปหลายส่วนในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือ

ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 บริเวณประตูท่าแพในวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 อยู่ในระดับมากกว่า 300 ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ. © Vincenzo Floramo / Greenpeace
เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่คนเชียงใหม่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน © Vincenzo Floramo / Greenpeace

นโยบายประกันราคาสินค้าการเกษตรที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เอื้อให้วิกฤตมลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการเผาในที่โล่ง ตัวอย่างเช่น การประกันราคาอ้อยที่ส่งผลให้พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 3,013,000 ล้านไร่ ระหว่างปี 2557-2562  และกรณีการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อโดย ธ.ก.ส. แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและสถาบันเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ/หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์

นโยบายดังกล่าวมิได้เป็นการเอื้อต่ออาชีพและวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนหรืออย่างแท้จริง แต่เป็นการเอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมที่รับซื้อผลผลิตเหล่านี้เพื่อทำกำไรต่อ ในขณะที่ผลพวงตามมาจากเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนี้คือ การเผาในที่โล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ข้ามพรมแดนจังหวัด และบ้างอาจข้ามพรมแดนประเทศ

แม้ว่าเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทอุตสาหกรรมอาหารใดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกเหล่านั้น และเมื่อขาดข้อมูลนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ว่าใครควรรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเผาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า 

บางทีประเด็นที่สำคัญกว่าคำถามที่ว่า “ต้นตอของหมอกควันพิษมาจากไหน” คือการถามว่า “ใคร” คือผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง และเหตุใดจึงไม่มีกฎหมายใดเอาผิดผู้ได้รับผลประโยชน์จากมลพิษที่ก่อขึ้นได้ 

ส่งคำร้องไปยังกรมควบคุมมลพิษ. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
ตัวแทนประชาชนร่วมกันยื่น 20,660 รายชื่อและข้อเรียกร้องให้แก่นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอกาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นละออง pm2.5 รายชื่อดังกล่าวมาจากเสียงของประชาชนที่ต้องการให้มีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ที่รวบรวมจากเว็บไซต์ change.org และกรีนพีซ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ทางออกที่ดูน่าจะสมเหตุสมผลกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้ คือ กฎหมายที่ระบุให้อุตสาหกรรมเปิดเผยถึงที่มาตลอดห่วงโซ่การผลิตของตน ว่าเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่เกิดการเผาก่อมลพิษ หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้หรือไม่ หรือเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ก็จะสามารถระบุลงฉลากของตนได้อย่างภาคภูมิใจเช่นกันว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอะไรกับวิกฤตสุขภาพของประชาชน

สิทธิในการรับรู้ข้อมูลการก่อมลพิษของบรรษัทอุตสาหกรรม และสิทธิในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจนั้นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี แต่ขณะนี้วิกฤตมลพิษทางอากาศกำลังส่งสัญญาณเตือนที่เด่นชัดว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชน ก่อนผลประโยชน์เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมการลงทุน และหยุดผลักภาระด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนเสียที

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม