เกาะจิกเป็นเกาะเล็กๆที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ประกอบไปด้วยชุมชน 1 ชุมชน ในเนื้อที่ 700 ไร่ มีครัวเรือนทั้งหมด 150 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 392 คน ชุมชนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจพอๆกับวิวทิวทัศน์ ความสวยงามบนเกาะนั่นก็คือ ระบบพลังงานไฟฟ้าบนเกาะ เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ห่างจากฝั่งไกลอยู่พอสมควร ไฟฟ้าจากระบบสายส่งหลักจึงไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้ ชุมชนที่นี่จึงใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ทั้งเกาะ และถูกพัฒนาขึ้นด้วยคนในชุมชนเอง

เนื้อหาโดยสรุป

  • เกาะจิกตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547
  • เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ห่างจากฝั่งไกลอยู่พอสมควร ไฟฟ้าจากระบบสายส่งหลักจึงไม่สามารถเข้าถึงได้ ชุมชนจึงได้พัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าบนเกาะเองจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์
  • ไม่ใช่เพียงแค่การใช้พลังงานหมุนเวียนบนเกาะเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเน้นนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยการคำนวนว่าชุมชนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นจำนวนเท่าไร
  • ชุมชนมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในชุมชน ศึกษาปัญหาอุปสรรค หรือความท้าทายที่เกิดขึ้นภายใน 15 ปี ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น
  • การใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะจิก ผู้ใหญ่บ้านมองว่าได้ทำให้ชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย และมีสุขภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากสามารถลดมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากเครื่องปั่นไฟดีเซล และมลพิษทางเสียง
Electrical distribution center in Kohjik
ภาพมุมสูงของโรงเรือนผลิตไฟฟ้าของเกาะจิก © Roengchai Kongmuang

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณณรงค์ชัย เหมสุวรรณ หรือผู้ใหญ่แต๊ก ผู้ใหญ่บ้านเกาะจิก ถึงที่มาที่ไปของการทำระบบสายส่งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปทั่วทั้งเกาะจิก สิ่งที่น่าสนใจของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะก็คือระยะเวลาการใช้ที่ยาวนานต่อเนื่องมาถึง 14 ปี และความตั้งใจของผู้ใหญ่ที่จะพัฒนาระบบพลังงานในชุมชนแห่งนี้ให้ดีขึ้น ด้วยความตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานที่เกิดจากแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและพัฒนาให้ชุมชนเป็นชุมชนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มาของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะจิก

ที่นี่เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เกาะจิกได้รับงบประมาณมาจาก สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในตอนนั้นระบบประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ มีแผงโซลาร์เซลล์ 3 ชุด มีกำลังผลิตชุดละ 3,000 วัตต์ ใช้สูบน้ำจากบ่อน้ำตื้น 3 แห่งเพื่อใช้กับระบบประปาหมู่บ้าน และเครื่องยนต์ดีเซลล์ 50 กิโลวัตต์ หลังจากนั้นเราก็ใช้ระบบ 2 แบบนี้ผสมผสานกันในการผลิตพลังงานให้กับชุมชน ซึ่งถ้าถามว่าก่อนหน้านี้ชุมชนใช้อะไรให้ความสว่างบนเกาะ ชาวบ้านใช้ตะเกียง เช่น ตะเกียงเรือ หรือตะเกียงโป๊ะ เป็นต้น ในยุคถัดมาแต่ละบ้านก็ใช้เครื่องยนตร์ดีเซลในการปั่นไฟ ซึ่งมีข้อจำกัดในการผลิตพลังงานอยู่เนื่องจากผลิตพลังงานได้น้อย มีมลพิษเยอะ ไม่ว่าจะเป็นควันจากเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียง

หลังจากที่มีระบบโซลาร์เซลล์เข้ามา ข้อดีแรกที่เห็นผลชัดเจนเลยก็คือ ชาวบ้านประหยัดเงินได้มากขึ้นเพราะโซลาร์เซลล์ทำให้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการปั่นไฟน้อยลง ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปซื้อน้ำมันเติมเครื่องยนต์ลง ซึ่งประหยัดเงินไปได้อย่างน้อยเดือนละ 2,000 – 3,000 บาทเลยทีเดียว และข้อสองก็คือสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น เพราะไม่มีมลภาวะทางเสียงและควันจากเครื่องยนต์ ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนบนเกาะจิกเรื่อยมา แต่เราไม่ได้ผลิตแล้วใช้อย่างเดียว เรามีนโยบายร่วมกันของเกาะด้วย นั่นก็คือการทำให้เกาะจิกเป็นชุมชนแห่งการลดภาวะโลกร้อนและชุมชนอนุรักษ์พลังงาน บนเกาะนี้เราไม่อนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเลย เช่นมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ เราจะให้ใช้จักรยานหรือรถเข็นบรรทุกสัมภาระแทน แต่เราก็มีข้อยกเว้นบ้างในกรณีของการขนสัมภาระบนพื้นที่ที่เป็นเนินหรือภูเขา แบบนั้นเราอนุญาตให้ใช้รถซาเล้งได้ซึ่งทั้งเกาะนี้มีรถซาเล้งอยู่ 1-2 คัน

Head man of Kohjik Chanta Buri
ผู้ใหญ่บ้านณรงค์ชัย เหมสุวรรณ หรือผู้ใหญ่แต๊ก ผู้ใหญ่บ้านของเกาะจิกกับแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 40.5 กิโลวัตต์ ในโรงเรือนผลิตไฟฟ้า ของเกาะจิก © Roengchai Kongmuang

นโยบายเกาะจิก Low Carbon ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแบบของชุมชน

ไม่ใช่เพียงแค่การใช้พลังงานหมุนเวียนบนเกาะเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเน้นนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย เราจะคำนวนจากปริมาณลิตรของน้ำมันที่ใช้ ซึ่งน้ำมัน 1 ลิตรก็จะมีตัวเลขก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา เราก็คำนวนว่าใน 1 ปีเราลดการใช้น้ำมันดีเซลไปได้เท่าไร ก็จะทำให้เราทราบว่าเราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าไรนั่นเอง  

ยกตัวอย่างเรือประมงพื้นบ้านที่นี่ที่มีจำนวนกว่า 40 ลำ เราก็ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อชาร์จพลังงานและกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ สำหรับให้แสงสว่างและปั๊มน้ำออกในกรณีเรือรั่ว เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลแล้ว ในหนึ่งวันเรือจะต้องใช้น้ำมันในการปั่นไฟ 5 ลิตร และ 1 ลิตรจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.46 หน่วย นั่นหมายความว่าใน 1 วัน เรือ 1 ลำจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.3 หน่วย และในเมื่อเรือทั้ง 40 ลำนี้เปลี่ยนจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมัน มาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ ก็ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ถึง 492 หน่วยในเพียงวันเดียวเท่านั้น

ระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบนเกาะจิก

สิ่งที่น่าใจเกี่ยวกับระบบการจ่ายไฟฟ้าบนเกาะแห่งนี้ก็คือ ทั้งระบบเกิดจากการพัฒนาของชุมชนซึ่งนำโดยผู้ใหญ่แต๊ก ที่นี่มีระบบสายส่งขนาดเล็กของพลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ หลังจากที่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ไปแล้ว ผู้ใหญ่และตัวแทนของชุมชนก็เริ่มพัฒนาและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ผลิตพลังงานให้กับชุมชนบนใจกลางของเกาะจิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเรียกว่า “โรงเรือนผลิตไฟฟ้า” ปัจจุบันในโรงเรือนแห่งนี้ประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 40.5 กิโลวัตต์ และแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงานเพื่อใช้ในตอนกลางคืน ที่นี่เปรียบเสมือนหัวใจแหล่งพลังงานของหมู่บ้าน

Electrical distribution center and kohjik's team
ภาพมุมสูงของโรงเรือนผลิตไฟฟ้าของเกาะจิก © Roengchai Kongmuang

ในส่วนของการบริหารจัดการ เนื่องจากเราไม่สามารถปล่อยให้โรงเรือนผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่มีการดูแลโรงเรือนแห่งนี้ เราจำเป็นจะต้องมีการจ้างคนในชุมชนมาเป็นพนักงานเพื่อมาดูแล ดังนั้นจึงทำให้เราได้ก่อตั้งองค์กรเล็ก ๆ แบบไม่แสวงหากำไรขึ้นมาเพื่อดูแลโรงเรือนแห่งนี้ให้ผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกาะจิก Recharge (Kohjik Recharge)

จริงๆแล้วที่มาที่ไปของ เกาะจิก Recharge นั้นมาจากโครงการวิจัยของนักศึกษาชั้นปริญญาโทในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหัวหน้าโครงการเป็นนักศึกษาชาวไทยและได้เข้ามาคุยกับทางทีมของชุมชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบนเกาะจิกแห่งนี้ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เราจะพัฒนาระบบนี้ต่อไปอย่างไรเพื่อลดต้นทุน นำไปสู่การลดราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลง และพัฒนาระบบนี้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะต้องมีองค์ความรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือแม้กระทั่งการจัดการแผงโซลาร์เซลล์เมื่อเกิดความเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน

ทีมเริ่มจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานของครัวเรือนในชุมชน ศึกษาปัญหาอุปสรรค หรือความท้าทายที่เกิดขึ้นภายใน 15 ปีที่เราใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในชุมชน หรือการติดต่อกับบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทีม ทีมงานและทีมนักศึกษาเก็บปัญหาเหล่านี้มาศึกษาและค่อย ๆ หาวิธีแก้ปัญหาไปทีละข้อ โดยปัญหาที่เราเพิ่งลองแก้ไขไปก็คือการเปลี่ยนมิเตอร์ให้เป็นมิเตอร์แบบเติมเงิน

ปัจจุบันเราก็ยังคงทำงานกับทีมนักศึกษาอยู่ถึงแม้ว่าโครงการจะเสร็จแล้ว เพราะสิ่งที่เราศึกษาไปทั้งหมดเป็นการศึกษาร่วมกันในระยะยาว ทีมชุมชนและทีมนักศึกษาจึงมีการปรึกษาหารือถึงปัญหาหรือความท้ายทายที่เกิดขึ้นในชุมชนต่อเรื่องพลังงานเรื่อยมา

ความท้าทายของการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกาะจิก

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการใช้ระบบการจัดการไฟฟ้าแบบรวมศูนย์แบบนี้ก็คือ แน่นนอนว่าชุมชนก็จะฝากความหวังไว้กับเรา หากเกิดปัญหาเช่นไฟฟ้าดับเวลาที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง เราก็ต้องรีบแก้ไขเพราะชุมชนจะตำหนิเราได้ 

Solar Energy Battery Storage in Kohjik
ทีมงาน Kohjik Recharge คอยดูแลโรงเรือนผลิตไฟฟ้า รวมทั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานของชุมชน © Roengchai Kongmuang

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องของค่าไฟฟ้า ซึ่งทีมของเรารับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมดเอง รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการ การจ้างพนักงานดูแลโรงเรือน จึงยังไม่สามารถลดราคาค่าไฟฟ้าให้เท่ากับราคาค่าไฟฟ้าบนฝั่งได้ ซึ่งปัญหานี้เราก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ ยกตัวอย่างเช่น มีแพคเกจเหมาจ่ายหากบ้านของคุณใช้ไฟฟ้าเยอะ เหมือนแพคเกจอินเทอร์เน็ตเลย จ่ายเหมาเป็นเดือน ๆ ไป ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบนี้จะเหมาะกับคนที่อยู่อาศัยในชุมชนประจำ ต้องใช้ไฟฟ้าทุกวัน หรืออย่างไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจากสถานทูตออสเตรเลียมาสนับสนุนการติดตั้งมิเตอร์ค่าไฟฟ้าแบบใหม่ซึ่งเป็นแบบเติมเงิน อธิบายง่าย ๆ ก็คือมิเตอร์แบบนี้เหมาะสำหรับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เป็นชาวบ้านกลุ่มที่เดินทางไปมาระหว่างเกาะกับฝั่ง ไม่ได้อยู่อาศัยบนเกาะประจำ เวลาที่เขากลับมาที่บ้านแล้วจะใช้ไฟฟ้าก็เติมเงินได้เท่าที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้ นอกจากตอบโจทย์การบริโภคของครัวเรือนแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการติดค้างค่าไฟฟ้าได้ ส่วนสถานที่สาธารณะของชุมชนเช่น โรงเรียน วัดหรือศาลเจ้า เราให้ใช้ไฟฟ้าฟรี

ยิ่งไปกว่าการใช้มิเตอร์แบบเติมเงิน นั่นคือนโยบายชุมชนที่ผู้ใหญ่แต๊กจะให้ชาวบ้านออมเงินวันละ 1 บาท เพราะจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ในการทำงานกับกลุ่มออมทรัพย์พบว่าการมีทุนสำรองสำหรับมิเตอร์ในกรณีที่มิเตอร์เสียหายและต้องซ่อมแซม เป็นแนวทางในการเตรียมตัวที่ดีและสามารถช่วยลดการกู้เงินจากกลุ่มออมทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติมภายหลัง

ในส่วนของอุปกรณ์ที่เสียหายหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว เราจะมีทีมงานซ่อมแซมเตรียมพร้อมไว้หากอุปกรณ์เสียหายหรือชำรุดไม่มาก เราก็สามารถซ่อมแซมกันเองได้ แต่หากอุปกรณ์ชำรุดหนักเราก็จะติดต่อบริษัทผู้ติดตั้งหรือภาครัฐ เพื่อของบประมาณในการซ่อมแซม ซึ่งการดูแลอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีสามารถผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลานานได้

ชุมชนพัฒนาได้เพราะมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง แรงบันดาลใจของผู้ใหญ่แต๊กคืออยากเห็นเพื่อนบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Head man of Kohjik Chanta Buri
ผู้ใหญ่บ้านณรงค์ชัย เหมสุวรรณ หรือผู้ใหญ่แต๊ก ผู้ใหญ่บ้านของเกาะจิกกับแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 40.5 กิโลวัตต์ ในโรงเรือนผลิตไฟฟ้า ของเกาะจิก © Roengchai Kongmuang

แรงบันดาลใจหลัก ๆ ที่อยากขับเคลื่อนให้ชุมชนพัฒนาต่อไปของตัวผู้ใหญ่นั้นเกิดจากตัวผู้ใหญ่เองเกิดและเติบโตในชุมชนที่ห่างไกล เราอยากเห็นเพื่อนบ้านของเรา ชุมชนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่เราสามารถพัฒนาไปตามกลไกที่มีอยู่ ในวันนี้ที่ชุมชนของเรามีระบบสายส่งไฟฟ้าเป็นของตัวเอง เรามีไฟฟ้าใช้และลดมลพิษ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ก็รู้สึกภาคภูมิใจในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ใหญ่แต๊กเสริมว่า การรักษามาตรฐานในการทำงานนั้นสำคัญกว่ารางวัลหรือความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม