แบคทีเรียร้ายที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนั้นส่งผลกระทบไปไกลเกินกว่าขอบรั้วของฟาร์ม

เนื้อหาโดยสรุป

  • โรคติดเชื้อดื้อยาส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะแบบผิดวิธี และอีกส่วนมาจากเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างเนื่่องจากถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อป้องกันโรค
  • ในปัจจุบีนมีการตรวจพบเชื้อดื้อยาในดิน น้ำ อาหาร หรือแม้แต่กระทั่งอากาศที่เราหายใจเข้าไป
  • เนื้อสัตว์ที่ระบุว่า “ปลอดยาปฏิชีวนะ” อาจไม่ได้หมายความว่าไม่ผ่านการได้รับยาปฏิชีวนะตลอดช่วงอายุ แต่อาจหมายถึงการหยุดให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย

ภัยจากเชื้อดื้อยากำลังกลายเป็นวิกฤตที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก และหนึ่งในสาเหตุที่ทวีความรุนแรงของปัญหา คือการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ยาปฏิชีวนะเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วนตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนายาปฏิชีวนะในช่วงศตวรรษที่ 20 สามารถกำจัดโรคติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ตั้งแต่แผลมีดบาดติดเชื้อ ไปจนถึงวัณโรคและมาลาเรีย แต่การที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นำยาปฏิชีวนะมาใช้อย่างผิดวิธี หรือการไม่ได้ใช้เพื่อจุดประสงค์การรักษาเพียงอย่างเดียวนั้น มีส่วนทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อสุขภาวะของประชาชน

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะซึ่งจำเป็นต่อการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียในมนุษย์นั้นกลับถูกนำไปใช้ในฟาร์มในสัดส่วนที่มากกว่าการรักษาโรคในคน  (Van Boeckel et al., 2015) อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้นำยาปฏิชีวนะมาใช้ในระบบการเลี้ยงตั้งแต่ยุค 1950s โดยเชื้อดื้อยาที่พบในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้น เกิดจากการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ในอาหารสัตว์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต มีขนาดใหญ่ขึ้น และเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสภาวะความเป็นอยู่ที่แออัด พื้นที่น้อย และไม่ถูกหลักอนามัย ไม่ใช่เพื่อการรักษา มีโอกาสส่งผ่านเชื้อดื้อยาสายพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านห่วงโซ่อาหาร 

Sows and Piglets in Gestation Cages in Thuringia. © Greenpeace
สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของฟาร์มปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการส่งต่อโรค © Greenpeace

ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มากที่สุด โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่ามีสัดส่วนของยาปฏิชีวนะมากถึงร้อยละ 80 หรือมวลรวมน้ำหนัก 20 ล้านปอนด์ที่ใช้ในภาคเกษตรกรรมปศุสัตว์ โดยที่ใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์หมูและไก่มากกว่าในวัวและแกะถึง 10 เท่าตัว 

สำหรับประเทศไทย จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี 2559 ระบุว่า มียาปฏิชีวนะที่มีผู้ขึ้นทะเบียนไว้ 5,371 ตำรับ โดยมีสองในสามของจำนวนนี้ใช้กับมนุษย์ ที่เหลือเป็นยาที่ใช้กับสัตว์ โดยบางส่วนใช้ในอาหารสัตว์ และมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่ามีเพียง 42 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่มีระบบจัดเก็บข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ ซึ่งการขาดการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสัดส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะที่แท้จริงในประเทศของเรามีมากน้อยแค่ไหน และเสี่ยงแค่ไหนต่อการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา

เชื้อดื้อยาที่ไม่ได้อยู่แค่ขอบรั้วฟาร์ม

แบคทีเรียก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องการมีชีวิตอยู่รอด ดังนั้นทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ (มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) จะมีแบคทีเรียบางกลุ่มที่รอดชีวิต ซึ่งอาจส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายเป็นเชื้อดื้อยาหรือซูเปอร์บั๊ก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะแทบทุกชนิดที่ใช้ในการรักษา ยิ่งเราใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นมากเท่าไหร่ เชื้อดื้อยาก็จะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเชื้อดื้อยาสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสิ่งต่อยีนดื้อยาให้แบคทีเรียรอบข้างได้

เชื้อดื้อยามักถูกพบในโรงเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดอุตสาหกรรมมากกว่าฟาร์มขนาดเล็ก หรือการเลี้ยงในครัวเรือน การส่งผ่านของเชื้อดื้อยานั้นอาจเป็นไปได้ทางการสัมผัสระหว่างสัตว์กับคน หรือการสัมผัสกับอาหารของสัตว์ หรือแม้แต่การสัมผัสการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาในน้ำ ดิน และแม้แต่อากาศ

Water Testing in Austria. © Mitja  Kobal / Greenpeace
กรีนพีซออสเตรียตรวจน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับฟาร์มปศุสัตว์เพื่อหาการปนเปื้อนของสารเคมีและยาปฏิชีวนะ © Mitja Kobal / Greenpeace

ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระดังนั้นมูลสัตว์เป็นแหล่งปนเปื้อนหลักของทั้งยาปฏิชีวนะและแบคทีเรียดื้อยา และเป็นช่องทางหลักในการปนเปื้อนลงสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ซึ่งอาจจะซึมลงสู่ดินหรือแหล่งน้ำผ่านทางน้ำทิ้งหรือระบบบำบัดน้ำเสีย หรือแม้แต่การนำมูลไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการปลูกพืช ก็สามารถส่งต่อเชื้อดื้อยาไปยังผักที่เรากินได้ แม้จะเป็นผักอินทรีย์

แบคทีเรียสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในดินและน้ำที่มีการปนเปื้อนจากปฏิกูลของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้นาน 2-12 เดือน ซึ่งนอกเหนือจากแบคทีเรียดื้อยาแล้วยังมีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังแบคทีเรียดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้กลายเป็นแบคทีเรียดื้อยาได้

ไม่ใช่แค่ดินและน้ำเท่านั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุไว้ว่าพบยาปฏิชีวนะและยีนเชื้อดื้อยาในอากาศที่ลอยไปตามลมได้หากอากาศแห้งพอ หรืออาจติดไปกับนกหรือแมลงได้ แม้แต่มนุษย์เองก็เป็นผู้ถ่ายทอดแบคทีเรียดื้อยาจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งได้ผ่านการสัมผัส

เชื้อดื้อยาในจานอาหาร? เนื้อสัตว์ที่เรากินในปัจจุบัน มักมาจากสัตว์ที่ได้รับยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง

การใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างไม่ถูกวิธีและในปริมาณมากนั้น จะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยารุนแรงขึ้น และสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ การใช้ยาปฏิชีวนะในการส่งเสริมการเจริญเติบโตนั้น กำลังกลายเป็นสิ่งต้องห้ามมากขึ้นในทุกที่ทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์ที่แข็งแรงดี

การตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์นั้นอาจเกิดได้เมื่อสัตว์ยังได้รับยาปฏิชีวนะภายในช่วง 10-20 วัน สุดท้ายของชีวิต (ก่อนนำสู่โรงฆ่าสัตว์) ทำให้ยังมียาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ในเนื้อสัตว์ หรือกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มีการชำแหละที่ทางเดินอาหารของสัตว์สัมผัสกับเนื้อสัตว์ (แบคทีเรียอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร)

เนื้อสัตว์ที่ระบุว่า “ปลอดยาปฏิชีวนะ” อาจไม่ได้หมายความว่าไม่ผ่านการได้รับยาปฏิชีวนะตลอดช่วงอายุ แต่อาจหมายถึงการหยุดให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย หากผู้บริโภคต้องการแน่ใจว่าปลอดภัยจากเชื้อดื้อยาที่อาจแฝงมาในเนื้อสัตว์อย่างแท้จริง วิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ คือการซื้อจากเกษตรกรปศุสัตว์อินทรีย์ที่เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดช่วงอายุ การเชื่อมโยงกับผู้ผลิตนั้นทำให้เรารู้ที่มาของอาหารและการเลี้ยงได้ดีที่สุด

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ แต่ข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นยังมีน้อยมาก จากการศึกษาล่าสุดของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า กว่าร้อยละ 40 ของเนื้อไก่และตับไก่ที่สำรวจ พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

องค์กร ReAct (Action on Antibiotic Resistacne) เผยว่าโดยทั่วไปนั้น รูปแบบการใช้ยาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะยึดถือตามคำแนะนำของบริษัทที่ส่งพันธุ์ไก่ให้เลี้ยง โดยมียาปฏิชีวนะหลัก ๆ ที่ใช้ ได้แก่ amoxicillin, colistin, doxycycline และ oxytetracycline ซึ่งสี่รายการนี้เป็นยาปฏิชีวนะชนิดเดียวกันกับที่ใช้กับมนุษย์ และองค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่า การลดการใช้ยาเหล่านี้โดยไม่จำเป็นนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อรักษาประสิทธิภาพของยาไว้ให้กับการรักษาสุขภาวะมนุษย์เพื่อรักษาโรคร้ายที่จำเป็นจริง ๆ เช่น วัณโรค 

ปัญหาการดื้อยานั้น นอกจากมีผลต่อสุขภาพของคนแล้ว ยังคุกคามสัตว์ในอุตสาหกรรม และผลผลิตที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะการกระจายของเชื้อดื้อยานั้น คาดว่าจะส่งผลให้เพิ่มการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ สร้างความสูญเสียอันมหาศาลได้ 

แบคทีเรียไม่ใช่ภัยร้าย ที่ร้ายคือเชื้อดื้อยา การลดและควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างไม่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องดำเนินการก่อนที่จะเป็นปัญหาด้านสาธารณะสุขและเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้คือการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อการลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และหันมาสนับสนุนการผลิตด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์แทน ลดต้นทุนของการเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่จะช่วยสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างเช่น การติดฉลากแสดงข้อมูลการเลี้ยงและการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดช่วงอายุสัตว์บนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกอาหารที่ปลอดภัย และสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะที่น้อยที่สุดได้ 

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม